xs
xsm
sm
md
lg

บ้าน–วัด–โรงเรียน (2) : ความล้มเหลวของบ้านในการปูฐานการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ตอนแรกของบทความพูดถึงแนวคิดที่ว่า การให้การศึกษาแก่เยาวชนจะบรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ได้ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน (บวร) ทันทีที่พูดถึงการศึกษา ประเด็นใหญ่ปรากฏตัวออกมาทันที นั่นคือ การเข้าใจผิดคิดกันว่า การให้การศึกษาเป็นหน้าที่ของโรงเรียน การคิดเช่นนั้นทำให้บ้านแทบไม่ได้รับความสำคัญ ทั้งที่บ้านเป็นองค์ประกอบสำคัญสูงสุด ทั้งนี้เพราะเยาวชนอาศัยอยู่ในบ้านมากกว่าเวลาที่ใช้อยู่ในโรงเรียนและบ้านเป็นผู้ปูฐานทางด้านศีลธรรมจรรยา การให้การศึกษาในปัจจุบันจึงไม่ต่างกับการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่เริ่มต้น ผลที่ออกมาย่อมน่าขบขัน นอกจากนั้น หากบ้านมีปัญหา การให้ศึกษาแก่เยาวชนยากที่บรรลุผลตามอุดมการณ์

อนึ่ง คำว่า “บ้าน” ในบริบทของการให้การศึกษาที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ นอกจากจะหมายถึงบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเด็กแต่ละคนแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงชุมชนรอบด้านของบ้านที่เด็กอาศัยอยู่อีกด้วย

โดยทั่วไป ตัวบ้านแต่ละหลังในยุคนี้มีสภาพดีกว่าบ้านในสมัยที่เมืองไทยเริ่มเร่งรัดพัฒนาประเทศอย่างมีนัยสำคัญ บ้านที่สร้างอย่างดีและด้วยวัสดุที่แข็งแกร่งเข้ามาแทนบ้านที่สร้างอย่างง่ายๆ และใช้วัสดุจำพวกผุเร็ว ในชนบท บ้านหลังคามุงจาก หรือแฝกและฝาปรือ หรือไม้ไผ่แทบไม่มีให้เห็น ตัวบ้านกว้างขวางกว่าพร้อมทั้งมีไฟฟ้าและห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะแทนการใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดและส้วมหลุมเปิดที่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “เว็จขี้” ในบ้านมีเครื่องใช้มากมาย รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวกตู้เย็น หม้อหุงข้าว พัดลม โทรทัศน์ และในหลายๆ กรณีมีเครื่องปรับอากาศสำหรับผู้ที่มีรายได้ในระดับสูง น้ำสะอาดที่ปราศจากเชื้อโรคร้ายหาได้ง่ายขึ้นเมื่อชุมชนมีระบบน้ำประปาและบ่อน้ำบาดาล การติดต่อสื่อสารสะดวกกว่าทั้งในด้านการมีถนนที่รถยนต์สามารถวิ่งระหว่างชุมชนในชนบทกับตัวเมืองได้และการมีโทรศัพท์ สิ่งเหล่านี้เป็นผลดีของการเร่งรัดพัฒนาในช่วงเวลากว่า 50 ปีซึ่งทำให้ชาวไทยโดยทั่วไปมีรายได้สูงขึ้นมาก
(บ้านสร้างเสร็จใหม่ๆ ในชนบทในช่วงที่เราเริ่มเดินทางเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียน)
สภาพของบ้านที่ดีกว่าและการมีไฟฟ้าใช้ย่อมเอื้อให้การให้การศึกษาแก่เยาวชนสะดวกขึ้นมาก หากพ่อแม่ต้องการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ความสว่างและความปลอดภัยของไฟฟ้าย่อมเหนือชั้นกว่าของตะเกียงกระป๋องที่ใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง การมีพัดลมใช้ย่อมทำให้บรรยากาศรอบด้านเหมาะแก่การนอน/นั่งครั้งละนานๆ เพื่ออ่านหนังสือ ในสภาพที่ดีกว่าเช่นนี้ ถ้าพ่อแม่และผู้ใหญ่ภายในบ้านมีนิสัยชอบอ่านหนังสือ เด็กย่อมเห็นเป็นประจำซึ่งจะทำให้เด็กสนใจในการอ่านหนังสือด้วย อย่างไรก็ดี ข้อมูลชี้บ่งว่าคนไทยโดยทั่วไปอ่านหนังสือเพียงจำกัดโดยเฉลี่ยวันละ 7 บรรทัด หรืออะไรเทือกนั้น นั่นหมายความว่า ผลดีทางด้านกายภาพที่เกิดจากการเร่งรัดพัฒนาประเทศมิได้เปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานของคนไทยในด้านการไม่นิยมอ่านหนังสือ

การลอกเลียนแบบผู้ใหญ่ในด้านการไม่ค่อยอ่านหนังสือเป็นเพียงประเด็นเล็กๆ ประเด็นเดียวของการศึกษาที่เด็กได้จากในบ้าน ประเด็นที่สำคัญเป็นอันดับต้นได้แก่ การปูฐานทางด้านศีลธรรมจรรยา และหน้าที่พลเมือง ทั้งนี้เพราะหากเยาวชนขาดฐานอันสำคัญยิ่งนี้เสียแล้ว ต่อไปพวกเขาอาจใช้ความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการและทักษะในด้านต่างๆ กระทำความชั่ว

สำหรับเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการปูฐานทางด้านศีลธรรมจรรยา ฝรั่งมีคำพูดเชิงชวนขันว่า “ลิงเห็น ลิงทำ” (Monkeys see, monkeys do.) แต่การพูดเช่นนั้นมิใช่เพื่อชวนขบขันเสมอไป ทั้งนี้เพราะพ่อแม่และสังคมรอบด้านเป็นต้นแบบที่เยาวชนลอกเลียน การลอกเลียนนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของการศึกษา ชาวแอฟริกาจึงมีคำพังเพยที่ว่า “ทั้งหมู่บ้านมีหน้าที่ช่วยกันเลี้ยงดูเด็ก” (It takes a village to raise a child.) คำพังเพยนี้เป็นที่มาของหนังสือชื่อ It Takes a Village เขียนโดยฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน (มีบทคัดย่อให้ดาวน์โหลดฟรีได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) หนังสือเล่มนี้ขายดีมากและทำรายได้ให้ผู้เขียนหลายสิบล้านดอลลาร์ แต่เธอมิได้เก็บรายได้นั้นไว้ หากบริจาคทั้งหมดให้องค์กรเพื่อการกุศล

แนวคิดเดียวกันนี้มีอยู่ในเมืองไทยในสมัยที่ผมเติบโตขึ้นมาในกลางทุ่งนาของอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ในสมัยนั้น ชาวบ้านอนุญาตให้ผู้ใหญ่ในชุมชนว่ากล่าวตักเตือน หรือแม้แต่ทำโทษเด็กๆ ได้ ผู้ใหญ่ในที่นี้มักเป็นผู้สูงวัยที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ อย่างไรก็ดี ในยุคนี้แนวคิดเช่นนั้นหายไปหมดแล้ว อย่าว่าแต่ผู้ใหญ่ภายในหมู่บ้านจะทำโทษเด็กเลย ครูก็ทำโทษเด็กไม่ได้เช่นในสมัยก่อน

สำหรับเรื่องการปูฐานทางด้านศีลธรรมจรรยา วงการต่างๆ มักมองกันว่าต้องพาเด็กเข้าวัดและนิมนต์พระมาเทศน์ หรืออบรม กิจกรรมจำพวกนี้มักไม่มีผลดีอะไรเพราะส่วนใหญ่จัดได้ว่าเป็นงานสร้างภาพในแนว “ขึ้นป้ายถ่ายรูปแล้วจบกัน” อันเป็นการกระทำที่สิ้นเปลืองและน่าอดสู นอกจากนั้น วัดและพระยังมีปัญหาหลากหลายจนอาจทำให้ไม่เหมาะแก่การเป็นผู้นำทางศีลธรรมจรรยาอีกด้วย ประเด็นนี้จะพูดถึงต่อไปในตอนที่พูดถึง “วัด”

เกี่ยวกับฝรั่ง ขออ้างต่อไปอีกนิด หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องที่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนหนึ่งซึ่งอ้างถึงการมองของฝรั่งที่สรุปว่า สังคมไทยมี “ขี้ 4 อย่าง” ด้วยกัน นั่นคือ ขี้โกง ขี้เกียจ ขี้โอ่ และขี้อิจฉา อย่าด่วนโกรธเขาก่อนที่เราจะลองมองตัวเองอย่างพินิจพิเคราะห์ เรื่องการมองของฝรั่งดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการสำรวจความเห็นของคนไทยที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน การสำรวจความเห็นของหลายสำนักหลายต่อหลายครั้งยืนยันตรงกันว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่รังเกียจนักการเมืองฉ้อฉลหากตนได้ผลประโยชน์ หรือส่วนแบ่ง ข้อสรุปนี้ชี้ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ถ้าโอกาสเปิดให้คนไทยส่วนใหญ่จะโกง เมื่อผู้ใหญ่ในวงการต่างๆ เป็นเสียเช่นนี้ มีหรือเด็กส่วนใหญ่จะไม่โกงเมื่อโตขึ้น การลอกเลียนแบบความชั่วกันต่อๆ ไปเป็นวงจรอัปรีย์ที่ปิดล้อม หรือคุมขังสังคมไทยอยู่ในปัจจุบันและนับวันจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ การจะเจาะทะลุวงจรอัปรีย์ออกมาได้เพื่อปูฐานไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงต่อไปจะต้องใช้การปฏิวัติ

การปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หรืออย่างมีนัยสำคัญแบบทันทีทันใดซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ 2 ทางด้วยกัน นั่นคือ ทุกคนหยุดทำความฉ้อฉลโดยความสมัครใจซึ่งในที่นี้หมายถึงการหยุดละเมิดกฎเกณฑ์ทุกอย่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือหลักศีลธรรมจรรยาและขนบประเพณีที่สังคมยึดเป็นฐานสำหรับการปฏิบัติตัวของบุคคล อย่างไรก็ดี โอกาสที่คนไทยจะหยุดละเมิดกฎเกณฑ์โดยความสมัครใจแบบทันทีทันใดคงแทบไม่มี ด้วยเหตุนี้ หากจะให้คนไทยหยุดละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างทั่วถึงจึงต้องอาศัยการบังคับ

ในช่วงนี้ นับว่าเมืองไทยโชคดีในแง่ที่มีรัฐบาลกึ่งเผด็จการ หากกลุ่มผู้นำที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของรัฐบาลมีวิสัยทัศน์กว้างไกลและไม่ฉ้อฉลเสียเอง การปฏิวัติย่อมเกิดขึ้นได้ผ่านการใช้มาตรการเข้มข้นต่อคนที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคม จากมุมมองนี้ แทนที่จะมุ่งไปที่การปฏิรูปการศึกษาชนิดที่เคยทำกันมาแล้วเมื่อหลายปีก่อนซึ่งเป็นการเพิ่มตำแหน่งใหญ่ๆ ขึ้นมากมายแต่ไร้เนื้อหา กลุ่มผู้นำในรัฐบาลต้องมุ่งไปที่การเจาะให้ทะลุวงจรอัปรีย์ด้วยการปฏิบัติตัวเองให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมจรรยา พร้อมกับการเปลี่ยนและการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น