xs
xsm
sm
md
lg

กรณ์โพสต์ซัดระบบรัฐเหลว ป.ป.ช.ปล่อย”โต้ง”ลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ "ระบบรัฐล้มเหลว" ว่า นิติบัญญัติออกกฎหมาย - ฝ่ายบริหารไม่ทำตาม - องค์กรอิสระไม่มีทางไป เรื่องนี้ยาวนิดนึง แต่มีผลต่อเราทุกคนครับ
1. ข้อเท็จจริง - “รัฐสภา” สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้ออกกฎหมาย “กองทุนการออมแห่งชาติ” (กอช.) เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการส่งเสริมการออมให้กับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญประมาณ 25 ล้านคน กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยผู้รักษาการกฎหมายคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง-กลางปี 2554 เปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง มาเป็นรัฐมนตรีคลังตามลำดับ คุณธีระชัย อยู่ในตำแหน่งไม่นาน พอคุณกิตติรัตน์ เข้ามาสานต่อ ก็ปฏิเสธที่จะดำเนินการจัดตั้ง กอช. ตามที่กฎหมายกำหนด การละเว้นโดยเจตนานี้พิสูจน์ได้จากบทสัมภาษณ์
จากการรายงานโดยข้าราชการ และจากการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้จัดสรรงบประมาณตามกำหนดเพื่อจัดตั้งกองทุนตามบทบัญญัติของกฎหมาย กองทุนเพื่อส่งเสริมเงินออมของคนไทย 25 ล้านคน จึงเกิดไม่ได้-ทั้งหมดนี้คือความจงใจของฝ่ายบริหาร ที่จะไม่ทำตามกฎหมายของบ้านเมือง กฎหมายที่มาจากการลงคะแนนสนับสนุนโดยนักการเมืองจากทุกพรรค รวมไปถึงวุฒิสภา
2. คำถามสามข้อ - คำถามข้อที่หนึ่ง ผมขอถามว่า ฝ่ายบริหารควรมีสิทธิ์หรือไม่ ในการที่จะเลือกว่าจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับที่ผ่านสภามาแล้ว ผมมั่นใจว่า ทุกๆ คนก็ต้องตอบว่า "ไม่มีสิทธิ์!” รัฐบาลรวมถึงรัฐมนตรีทุกคนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกฉบับ มิเช่นนั้นยุ่งแน่ครับ หากละเลยก็จะกลายเป็นว่าฝ่ายบริหารเปรียบเป็นพระเจ้า นิติบัญญัติร่างกฎหมายไป ก็โดนปฏิเสธง่ายๆ ด้วยการนิ่งเฉย กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองสิทธิให้ใคร - คำถามที่สอง ผมขอถามต่อว่า "เอาผิดเขาได้ไหม" เดิมทีผมก็คิดว่าน่าจะได้
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” - คำถามที่สาม สรุปว่าเอาผิดอดีตรัฐมนตรีกิตติรัตน์ ได้ไหม ไม่ได้ครับ เพราะ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติ “ยกคำร้อง” โดยให้เหตุผลว่า คุณกิตติรัตน์ "ไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา และไม่ส่อไปในทางทุจริต หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" (จากคำแถลงผลการประชุมกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 21 ตุลาคม)
3. ทางออกที่ผมและพวกยื่นฟ้องคุณกิตติรัตน์ ไม่ใช่เพราะเราหวังร้ายต่อท่าน เราเพียงหวังว่าเราจะสามารถกระตุ้นให้ผู้เป็นรัฐมนตรี ทำตามหน้าที่เท่านั้น ผมขอไม่เถียงกับ ป.ป.ช. ที่สำคัญคือ ข้อเท็จจริงที่วันนี้ประชาชน 25 ล้านคน เสียโอกาสที่จะได้รับจากการสมทบเงินออมของเขาจากรัฐบาล คนหาเช้ากินค่ำนับสิบล้านคน มีแต่หนี้ ไม่มีเงินออม ไม่มีหลักประกันชีวิตในวัยชรา ส.ส.จากทุกพรรคได้ช่วยกันออกกฎหมายนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหา ประเด็นสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้กองทุนตามกฎหมายนี้กลับมาเดินหน้าได้ และเราจะทำอย่างไรไม่ให้ฝ่ายบริหารเลือกใช้อำนาจตามใจชอบแบบนี้อีก
"ผมไม่ขอพูดถึงเหตุผลของคุณกิตติรัตน์ ที่ไม่ยอมทำตามหน้าที่ แต่ขอพูดเพียงว่า “กฎหมายคือกฎหมาย” ถ้าฝ่ายบริหารคิดว่ากฎหมายไม่ดี ก็ควรเสนอแก้กฎหมายในสภา ตอนนั้นคุณก็มีเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่เมื่อ ป.ป.ช. บอกว่าเราไม่สามารถเอาผิดฝ่ายบริหารที่มีพฤติกรรมแบบนี้ได้ ผมว่านี่คือความล้มเหลวของระบบการบริหารบ้านเมือง และถ้าเป็นเช่นนี้ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะมานั่งเสียเวลาออกกฎหมายใหม่กันทำไม ถ้ารัฐบาลในอนาคตไม่ต้องทำตาม และ ป.ป.ช. ก็ยืนยันว่าเอาผิดเขาไม่ได้ ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช. ตีความกฎหมายอย่างนี้ เราจึงต้องขอฝากให้ คสช. และสภาปฏิรูปช่วยพิจารณาปัญหานี้ด้วยครับ ถ้ามาตรา 157 ใช้กับกรณีนี้ไม่ได้ ก็ควรแก้ให้ใช้ได้ซะ เพราะหากกฎหมายที่ผ่านสภาไร้ความหมาย หากอำนาจเท่านั้นที่จะเป็นตัวกำหนดว่าประชาชนมีสิทธิอะไรบ้าง เมื่อนั้น... ประเทศไทยคงไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่" นายกรณ์ ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น