xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคผวา! ผัก-ผลไม้ในห้างฯ อุดมไปด้วย “สารตกค้าง” อย่าวางใจ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผัก-ผลไม้เกินครึ่งที่วางขายอยู่ในห้างฯ มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง และมีถึง 46.6 เปอร์เซ็นต์ที่มีการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRLs (Maximum Residue Limits: ปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้) พร้อมแนบรายชื่อผัก-ผลไม้ที่พบมากที่สุดมาด้วย หลายรายการเป็นชนิดที่ผู้คนนิยมกินมากที่สุด
งานนี้ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในอาการตระหนกพร้อมๆ กัน ทั้งยังตั้งคำถามว่า ผัก-ผลไม้ที่ปนเปื้อนเกินมาตรฐานเหล่านี้ ได้รับการรับรองให้มาวางขายบนห้างฯ ได้อย่างไรกัน!!?





แฉรายชื่อ ผัก-ผลไม้อันตราย เสนอมาตรการขั้นเด็ดขาด!
“ผักที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด คือผักผลไม้ที่ได้รับ “ตรารับรองมาตรฐาน Q” โดยภาพรวมของผัก Q 87.5% พบการตกค้างของสารเคมี และมีที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน MRLs (ปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้) มากถึง 62.5%
ส่วนผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก ตกเกณฑ์รองลงมาอยู่ที่ 53.3% และแหล่งจำหน่ายที่ตกมาตรฐาน MRLs น้อยที่สุดคือตลาด อยู่ที่ 40.0%

เมื่อจำแนกตามชนิดผักผลไม้ พบว่าชนิดผลผลิตที่มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินค่า MRLs มากที่สุด คือ “ส้มสายน้ำผึ้ง” ตกเกณฑ์ 100% รองลงมา ได้แก่ ฝรั่ง 69.2%, แอปเปิล 58.3%, คะน้า 53.8%, กะเพรา สตรอเบอรีและส้มจีนชนิดละ 50%, ถั่วฝักยาว 42.9% ผักชี 36.4%, แตงโม 15.4% และพริกแดง 8.3%

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลจากการสุ่มตรวจที่ทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้แถลงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักผลไม้เอาไว้ โดยการสุ่มตรวจเช่นนี้ มีมาตั้งแต่ปี 2555 และล่าสุด ปีนี้มีการสุ่มตรวจเพื่อเฝ้าระวังกันถึง 2 รอบจึงทำให้ผลออกมาอย่างที่เห็น

การเฝ้าระวังในรอบแรกเป็นการสุ่มตรวจผักผลไม้ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 จากแหล่งซื้อ 2 แหล่งหลัก คือ 1.ห้างค้าปลีก (บิ๊กซี, เทสโก้โลตัส, ท็อปส์ และโฮมเฟรชมาร์ท) โดยแบ่งสำรวจเป็นประเภท “ผักทั่วไป” และ “ผักที่ได้รับรองมาตรฐาน Q” และ 2.ตลาด โดยแบ่งเป็นตลาดสด (ตลาดห้วยขวาง) และตลาดค้าส่ง (ตลาดสี่มุมเมือง) รวมทั้งเพิ่ม ตลาดศรีเมืองทอง ในจังหวัดขอนแก่นเพื่อเป็นการขยายงานเฝ้าระวังไปยังภูมิภาคด้วย

นอกจากนี้ ได้มีการสุ่มตรวจรอบสองที่จังหวัดเชียงใหม่ ยโสธร และสงขลา สำหรับชนิดผักและผลไม้ที่สุ่มตรวจ ได้แก่ คะน้า, ถั่วฝักยาว, พริก, ผักชี, กะเพรา, ส้ม, สตรอเบอรี, แอปเปิล, ฝรั่ง และแตงโม นำตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรอง “ISO 17025” เพื่อวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะ

ผลปรากฎว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบตกค้างในผักผลไม้ทุกชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสและไซเปอร์เมทริน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในไทยแพนแบนลิสต์ทั้ง 2 ชนิด รวมทั้งคาร์เบนดาซิมที่สุ่มตรวจเฉพาะในผลไม้ (ส้ม, แอปเปิ้ล และสตรอเบอร์รี่) ก็พบการตกค้างในผลไม้ทั้ง 3 ชนิด ในปริมาณที่สูงกว่าค่า MRLs หลายเท่าตัว ซึ่ง “คาร์เบนดาซิม” เป็นสารเคมีกำจัดโรคพืชที่ไม่สามารถตรวจได้จากการสุ่มตรวจโดยทั่วไป ทำให้ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐเองก็อาจไม่ได้เฝ้าระวังสถานการณ์การตกค้างของสารชนิดนี้เท่าที่ควร ที่น่ากังวลมากคือสารชนิดนี้เป็นชนิดดูดซึม จึงตกค้างเข้าไปในเนื้อเยื่อของผักผลไม้และไม่สามารถขจัดออกด้วยการล้างได้

ด้วยรายละเอียดในเชิงลึกเกี่ยวกับอันตรายทางอาหารการกินครั้งนี้ จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง และนี่คือข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน)

1.ให้ “สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)” ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ยกเครื่อง “เครื่องหมาย Q” ขจัดความสับสนต่างๆ ใน Q ที่แตกต่างกัน และควบคุมมาตรฐานของผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

2.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจัดการปัญหา ณ ต้นทาง โดยการยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาร์โบฟูรานและเมโธมิล และให้กรมวิชาการเกษตรควบคุมการนำเข้าและการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรงและดูดซึมอย่างเข้มงวด โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรและเพิ่มกลไกการตรวจสอบหลังการขึ้นทะเบียน (Tracking System)

3.ให้ “สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)”, “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)”, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับภาคเอกชน และประชาสังคมเร่งรัดการพัฒนาระบบเตือนภัยความปลอดภัยด้านอาหาร (Rapid Alert System for Food) ภายในปี พ.ศ.2558



(ผลทดสอบสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้)



ไม่ใช่ “เลิกกิน” แต่ให้ “เลือกกิน”
เมื่อรายชื่อผัก-ผลไม้ที่พบสารตกค้างสูงสุดโชว์หราออกมาแบบนี้ แน่นอนว่าความคิดแรกของทุกคนคือ “จะไม่กินผัก-ผลไม้ในลิสต์นั้นแล้ว” ถ้ากำลังคิดแบบนี้อยู่ ขอบอกเลยว่าคุณคือหนึ่งในคนที่กำลังมองปัญหาเรื่องนี้แบบตื้นเขินเกินไป อ้อม-ชรินา ง่วนสำอางค์ เจ้าของร้าน “ครัวใส่ใจ” ซึ่งทำเรื่องอาหารไร้สารพิษและส่งเสริมเกษตรกรไร้สารพิษมาเป็นเวลานาน แนะนำให้มองอย่างเข้าใจแบบภาพรวมแล้วช่วยกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะดีกว่า

“เวลาภาพออกมาแบบนี้ ถ้าคนยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการผลิต ที่มาของอาหารพวกนี้มันมาได้ยังไงบ้าง ปนเปื้อนได้ยังไงบ้าง และจะเลือกซื้อ-เลือกหาอย่างไรเพื่อจะได้ไม่ปนเปื้อน ถ้ายังมีคำถามเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ก็จะมีแต่ทำให้เกิดความตระหนก อย่างเสียงสะท้อนที่ได้ยินมาเลยก็คือ “ฉันจะเลิกกินส้มสายน้ำผึ้ง” หรือ “ฉันจะไม่กินแตงโมละ เพราะมีคนบอกว่าแตงโมฉีดนู่นฉีดนี่” ทั้งที่จริงๆ แล้วควรจะมองให้ลึกกว่านั้นค่ะ ไม่ใช่มองแค่ว่าจะเลือกกิน-ไม่กินจากประเภทของผัก-ผลไม้ แต่เราสามารถเลือกจากแหล่งที่มาของมันได้

และอยากให้มองไปไกลกว่านั้นค่ะว่า ในฐานะผู้บริโภค เราจะมีส่วนผลักดันอย่างไรเพื่อให้กระบวนการผลิตมันใช้สารพวกนี้น้อยลง คือตอนนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยได้มองกลับมาที่ตัวเองว่าจะรับมือยังไง อาจจะแค่ตระหนกชั่วคราวและเลือกที่จะเลิกบริโภคผักและผลไม้ชนิดนั้นๆ ที่อยู่ในลิสต์แบบชั่วคราว แต่เมื่อความรู้ความเข้าใจยังมีไม่มากพอ พอถึงจุดหนึ่งเขาก็จะกลับไปกินเหมือนเดิม เพราะสารพวกนี้เราไม่ได้มองเห็นหน้าตา ถ้าเอา “ผักออร์แกนิก” กับ “ผักที่ฉีดยาฆ่าแมลง” มาวางเรียงกัน จะมีกี่คนที่รู้ว่ามันต่างกัน ก็เลยทำให้จะเป็นกระแสแค่ในตอนนี้”

แน่นอนว่าตอนนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคคงหลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิดในการที่จะเลือกซื้อผัก-ผลไม้ที่วางขายในห้างฯ และแน่นอนว่าส่วนใหญ่คงสงสัยว่าเหตุใดผลผลิตเหล่านี้จึงได้รับการรับรองและมาวางขายในห้างฯ ต่างๆ ได้อย่างกับไม่มีพิษมีภัยอะไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ที่ข้องแวะในแวดวงสีเขียวมานานอย่างอ้อมจึงอธิบายให้ฟังจากประสบการณ์ตรง

“ทุกครั้งที่ทำงานตรงนี้ ส่วนตัวจะไม่เคยบอกให้คนไปทาน “ผักปลอดภัย” หรือ “ผักอนามัย” ที่ผ่านการตรวจมาแล้วเลยค่ะ (ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับที่ตรวจเจอสารปนเปื้อนในอัตราสูงเกินมาตรฐานอยู่ในขณะนี้) แต่จะแนะนำให้คนไปทาน “ผักออร์แกนิก” หรือ “ผักปลอดสารพิษ” ไปเลยค่ะ

เพราะผักออร์แกนิกหรือผักปลอดสารพิษ จะควบคุมเรื่องสารพิษกันมาตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิตเลยค่ะ คือตรวจกันตั้งแต่ที่แปลงแล้วว่าไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะมีสารปนเปื้อนเล็ดลอดออกมา ถ้าไม่ได้จะเจตนาสอดไส้ผักปนเปื้อนจริงๆ จะไม่ค่อยพบการปนเปื้อนเลยค่ะ และเท่าที่สัมผัสกับเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษมา รู้สึกว่าเขามีจรรยาบรรณค่อนข้างสูง จะไม่เจอปัญหาสอดไส้ผักปนเปื้อน

แต่ในขณะเดียวกัน พวก “ผักอนามัย”, “ผักปลอดภัย” หรือ “Hygienic” ที่เขาเรียกกัน วิธีการผลิตของมันจะต่างออกไป คืออนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถจะใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลงได้ทุกอย่างตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เพียงแต่เวลาที่จะเก็บมาขาย จะต้องเว้นระยะเวลาเก็บ ฉีดยานี้ต้องเว้นกี่วันๆ แต่ในทางปฏิบัติ ลองคิดดูสิคะว่าคนไทยจะทำยังไง เริ่มตั้งแต่เกษตรกรหน้าแปลง คนที่มารับถึงแปลง กว่าจะมาถึงหน้าห้างฯ ส่งมาเป็นสิบๆ ต่อนะ เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ยังไงว่าต้นทางผักมาจากไหน และใครเป็นคนคุมว่าห้ามฉีดยาฆ่าแมลงอีกก่อนผักจะมาถึง

เขาจะมีการสุ่มตรวจกันมาเป็นล็อตๆ แต่การสุ่มก็คือสุ่มน่ะค่ะ อาจจะสุ่มแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของผักทั้งหมด และเมื่อผักมารวมกันที่หน้าห้างฯ ก่อนจะเอาไปวางขาย มันมาจากไม่รู้จากกี่ไร่ เวลาติดแบรนด์ๆ หนึ่งก็ไม่รู้มาจากกี่ไร่ เปอร์เซ็นต์ที่จะตรวจเจอหรือไม่เจอก็จะวัดได้ยากมากเลย แต่ถ้าเป็นผักออร์แกนิกจะควบคุมได้ง่ายกว่าเพราะคนเกี่ยวข้องน้อยและดูที่มาที่ไปกันละเอียด ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสวนส่งขายมาที่ตลาดสีเขียวแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางเองด้วย ก็เลยทำให้ราคาต่างจากตลาดผักเคมี เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่าเนื่องจากไม่ได้ใช้สารเคมี สามารถดูง่ายๆ จากตราหน่วยงานที่รับรองผักออร์แกนิกคือ Organic Thailand และ Organic Inter”




มองหา ผัก-ผลไม้ที่ปลอดภัย
“เท่าที่เคยสัมผัสมา รู้สึกว่าคนยังเข้าใจน้อยอยู่เลยว่า “ผัก-ผลไม้ที่ปนเปื้อน” มันปนเปื้อนอะไร และเวลาเอามาวางขายในห้างฯ แบ่งออกเป็น ผักปลอดสารพิษ, ผักเกษตรอินทรีย์ หรือชั้นวางผักที่ไม่ได้เขียนอะไรเลย แต่ละแบบมันต่างกันยังไง ตัวผู้บริโภคเวลาเข้าไปเดินซื้อเอง น้อยคนจะเข้าใจตรงนี้ค่ะ นี่ยังไม่รวมแผงในตลาดสดที่ส่วนใหญ่ไม่ได้แบ่งประเภทไว้นะคะว่าเป็นผักแบบไหน

เพราะฉะนั้น ถ้าไปนั่งพูดถึงแต่โทษของผัก-ผลไม้ที่มีสารปนเปื้อน มันก็จะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ก็เลยต้องทำงานควบคู่ไปกับเรื่องการให้ความรู้และทางออกค่ะ บอกเขาว่าเขาจะหา “อาหารปลอดภัย” ได้จากทางไหน เพราะตอนนี้มองซ้ายมองขวาก็เจอแต่อาหารปรุงแต่งทั้งนั้น สองส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นคือ ภาครัฐที่เป็นคนกำหนดนโยบายการเกษตร และภาคประชาชนเอง พอผู้บริโภคไม่ตื่นตัว มันก็ไม่เกิดการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา”

ถ้าเป็นไปได้ เจ้าของร้าน “ครัวใส่ใจ” ผู้ข้องเกี่ยวกับอาหารไร้สารพิษและส่งเสริมเกษตรกรไร้สารพิษมาเป็นเวลานาน แนะว่าเพื่อความปลอดภัยสูงสุด อยากให้ทุกคนหันมาเลือกซื้อเลือกกินผักออร์แกนิกซึ่งปลูกแบบไร้สารพิษกันดีกว่า แต่ถ้าคิดว่ายุ่งยากเกินไป

“มีวิธีเดียวค่ะคือ “ล้างให้สะอาด” เพราะเราไม่สามารถบอกวิธีควบคุมการผลิตจากต้นตอได้เลย มองตรงนี้มาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่ามีตรงไหนที่การันตีได้เวลาเขาบอกว่า “ผักปลอดภัย” แล้วมันปลอดภัยจริงหรือเปล่า หรือจะให้ละเอียดกว่านั้นอาจจะต้องศึกษาให้รู้ก่อนว่า

1.ผักในฤดูกาลนี้มีผักอะไรบ้างและเลือกกินตามฤดูกาล ผักพวกนี้จะใช้สารเคมีน้อยเพราะสภาพอากาศมันเอื้ออำนวยอยู่แล้วค่ะ ไม่มีใครอยากจะเพิ่มต้นทุนตัวเองโดยการให้ปุ๋ยหรือใส่สารเคมีเพิ่มหรอก

2.เลือกกินผักพื้นถิ่น-ผักพื้นบ้าน ไม่ต้องเลือกกินผักนำเข้า หรือไปเอาพันธุ์จีนมาปลูก ซึ่งเป็นพันธุ์นี้กำหนดเลยว่าต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลงแบบเฉพาะของเขา ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะปลอดภัยไปได้อีกสเต็ปหนึ่ง

และสุดท้าย 3.ถ้าผู้บริโภคปลายทางไม่เปลี่ยนแปลงวิถีการเลือกเลย มีทางเดียวคือต้องล้างให้สะอาด

เรื่องการดูแลสุขภาพอาหารการกิน เราไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยแล้วค่อยเปลี่ยนพฤติกรรมก็ได้ค่ะ ลองหันไปมองรอบข้างก็ได้ คนเจ็บป่วยด้วยโรคประหลาดๆ กันมากขึ้นแต่ใช้วิธีเดินเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษา และข้ออ้างคำว่า “ไม่มีเวลา” มาทดแทน แต่ถ้าลองมองในมุมกลับ ถ้าเอาเงินที่จะต้องไปนั่งซื้อยา หรือเอาเวลาที่จะต้องเสียไปกับอาการเจ็บป่วย-เข้าโรงพยาบาล หันกลับมาป้องกัน-ดูแลสุขภาพของตัวเอง มันก็ต้องดีกว่าอยู่แล้วค่ะ และเท่าที่สังเกตมา พ่อแม่จะให้ความสำคัญกับลูกมากกว่าตัวเอง เราก็อาจจะปลูกฝังเขาเรื่องการใส่ใจสุขภาพตั้งแต่ยังเด็กก็ได้

คิดดูว่า พ่อแม่ที่กินผักที่ปลูกด้วยยาฆ่าแมลงมาระยะหนึ่ง ยังป่วยออดๆ แอดๆ อย่างทุกวันนี้ แล้วเด็กที่เริ่มกินกันตั้งแต่ตอนนี้ กินอาหารปนเปื้อนกันตั้งแต่วันนี้ โตไปเขาจะเป็นยังไง
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วน: www.consumerthai.org



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น