xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สาวลึก!สนามฟุตซอลฉาว ทั้งแตก โก่ง โค้ง งอ สารพัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กำลังเป็นเรื่องร้อนทีเดียว สำหรับการก่อสร้างสนามฟุตซอลใน 358 โรงเรียน 17 จังหวัดทั้งเหนือ-อีสาน มูลค่า 689 ล้านบาท ของ สพฐ.ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ยุครัฐบาล ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งหมดเป็นงบที่แปรญัติงบก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นที่ชำรุดทรุดโทรม และที่ประสบอุบัติภัย วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,947,278,000 บาท

ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท., สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงานป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช. )กำลังเดินหน้าตรวจสอบอย่างเข้มข้น และพบพิรุธมากขึ้นเรื่อยๆในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ มุกดาหาร สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีษะเกษ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี เชียงราย พะเยา อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สระบุรี ชลบุรี ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีโรงเรียนในสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุตรดิตถ์ เขต 1 ได้รับงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลกลางแจ้ง 40 โรงเรียน (สนามละ 980,300 บาท) รวม 39,564,000 บาทคือ 1. โรงเรียน (ร.ร.) บ้านเหล่าป่าสา 2.ร.ร.น้ำริดราษฎร์บำรุง 3.ร.ร.ป่าขนุนเจริญวิทยา 4.ร.ร.วัดพระฝาง 5.ร.ร.บ้านงิ้วงาม 6.ร.ร.วัดวังยาง 7.ร.ร.บ้านขุนฝาง8.ร.ร.บ้านวังถ้ำ 9.ร.ร.ชุมชนด่านวิทยา 10.ร.ร.วัดวังกะพี้ 11.หาดเสือเต้น 12.ร.ร.วัดดอยแก้ว13.ร.ร.วัดสิงห์ศรีสว่าง 14.ร.ร.สามัคคีวิทยา 15.ร.ร.วัดช่องลม 16.ร.ร.ประชาชนอุทิศ 17.บ้านบ่อพระ 18.ร.ร.หนองกลาย 19.ร.ร.บ้านป่าเซ่า 20.ร.ร.บ้านซ่านสามัคคี 21.ร.ร.วัดวังหมู       

22.ร.ร.วัดทุ่งเศรษฐี 23.ร.ร.บ้านวังแดง 24.ร.ร.วัดท่าทอง 25.ร.ร.พิชัยดาบหัก 1 26.ร.ร.ราษฎร์อุปถัมภ์ 27.ร.ร.บ้านหัวหาด 28.ร.ร.นาน้อยวิทยา 29.ร.ร.บ้านด่านด่าน 30.ร.ร.สามัคยาราม 31.ร.ร.วัดดอย 32.ร.ร.ราษฎร์ดำริ 33.ร.ร.บ้านดงช้างดี 34.ร.ร.มิตรภาพที่ 39 35.ร.ร.ปางต้นผึ้ง 36.ร.ร.บ้านน้ำไคร้ 37.ร.ร.บ้านคุ้งตะเภา 38.ร.ร.ป่ากล้วยเสริมวิทยา39.ร.ร.บ้านน้ำอ่าง และ 40 ร.ร.บ้านวังแดง (สหจิตรวิทยาคาร) 

นอกจากนี้ยังมีสนามฟุตซอลกลางแจ้งของ อปท.อีก 14 สนาม คือ เทศบาลตำบล (ทต.) คุ้งตะเภา 2 สนาม, ทต.งิ้วงาม 1 สนาม, ทต.หาดกรวด 2 สนาม, ทต.ป่าเซ่า 2 สนาม, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขุนฝาง 1 สนาม, อบต.บ้านด่าน 3 สนาม และ อบต.วังดิน 3 สนาม  

ทั้ง 14 สนาม สร้างขึ้นด้วยงบประมาณสนามละ 2,480,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 34,720,000 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 เงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับพัฒนา อปท.กรณีเร่งด่วน รหัสงบประมาณ 1500883002600006 แหล่งของเงิน 5611420 รหัสกิจกรรมหลัก15008xxxxH1928ซึ่งมีการเร่งเบิกจ่าย โดยไม่ต้องตราเป็นเทศบัญญัติ หรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย 

ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง สังกัด สพป.อุตรดิตถ์ เขต 1 กล่าวว่า ที่จริงโรงเรียนหลายแห่ง ไม่ต้องการสนามฟุตซอล แต่มีอดีต ส.ส.อุตรดิตถ์ คนหนึ่งเข้ามาหาที่โรงเรียน แล้วถามว่า ต้องการสนามฟุตซอลหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการก็จะนำไปให้คนอื่น สุดท้ายก็ต้องเอา 

ขณะที่นายก อปท.แห่งหนึ่งที่มีการก่อสร้างสนามฟุตซอล กล่าวว่า มีนายก อบต.แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นคนสนิทกับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อุตรดิตถ์ คนหนึ่งเข้ามาพบที่ทำงาน บอกว่ามีงบอุดหนุนเฉพาะกิจอยู่ก้อนหนึ่งจะนำมาก่อสร้างสนามฟุตซอลกลางแจ้ง การจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นไปตามระเบียบราชการ โดย อปท.เป็นผู้ดำเนินการ และหลังจากก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเบิกจ่ายเงินให้กับบริษัทก่อสร้างเรียบร้อยแล้วจะมีเงินทอนให้สนามละ 80,000 บาท

นายพิสิฏฐ์ สกาญจนชัย ผู้อำนวยการ (ผอ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 6 ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสนามฟุตซอลกลางแจ้งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ระบุว่าตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นทราบแล้วว่า ทั้ง 40 โรงเรียนนั้น บริษัทที่ได้รับการประมูลงานก่อสร้างสนามมีเพียงบริษัทเดียวคือ บริษัท ออคตากอน มาร์เกตติ้งฯ  

และจากเอกสารจัดซื้อจัดจ้างทุกโรงเรียนระบุว่า เสาประตูและตาข่าย 2 อันราคา 35,000 บาท ไฟฟาวล์ ชุดละ 7,000 บาท และแผ่นสนามฟุตซอลคิดเป็นตารางเมตรละ 1,948 บาท 1 สนามมี 448 ตารางเมตร  

แต่ที่น่าสนใจและแปลกใจคือ งบประมาณตัวนี้ เป็นงบที่อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ภาคอีสาน แปรญัตติมา และนำมาเพื่อการปรับปรุงอาคารเรียน อาคารประกอบ และที่ชำรุดจากอุทกภัยปี 2554 แต่ทำไมถึงมาลงที่อุตรดิตถ์ ที่สำคัญอดีต ส.ส.อุตรดิตถ์ ก็ไม่เป็นผู้แปรญัตติมาด้วย 

“อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ กรณีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณปรับปรุงอาคารที่ชำรุดเสียหายจากอุทกภัย มาสร้างสนามฟุตซอล ผู้ว่าราชการจังหวัดฯมีอำนาจเฉพาะตำแหน่งหรือผู้ที่มีอำนาจเป็นรองผู้ว่าฯรักษาราชการแทน มีอำนาจเซนต์เปลี่ยนแปลงงบได้ 

ด้าน นายธีรพงษ์ ศรีเดช เครือข่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภาคประชาชน ที่ได้ลงพื้นที่ถ่ายภาพ เก็บข้อมูลของสนามฟุตซอลกลางแจ้งทั้ง 40 โรงเรียน พบว่า ทั้ง 40 สนามวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเหมือนกัน ทั้งพื้นพลาสติกแบบตาข่ายเริ่มซีด มีสะเก็ดหลุดลอก กรอบ จุดที่เชื่อมประสานระหว่างแผ่นบวมอืดยกตัวโก่งสูงขึ้น และทุกสนามไม่มีป้ายบอกคะแนน ไม่มีไฟฟาวล์ของผู้เล่น ก่อสร้างทับสนามเด็กเล่น ทับสนามบาสเกตบอล ขนาดของสนามไม่ตรงกับขนาดของ สพฐ.ที่กำหนดไว้ 22 x 42 หรือ 924 ตารางเมตร แต่มีขนาดเพียง 16 x 28 หรือ 448 ตารางเมตร 
นอกจากนี้บางสนามก่อสร้างในโรงเรียนที่มีนักเรียนประถม 30 คน บางแห่งสร้างในที่สาธารณะ บางแห่งสร้างในป่าช้า บางแห่งสร้างไม่มีคนเล่น บางแห่งกลุ่มวัยรุ่นนำรถจักรยานยนต์ขึ้นไปขับขี่บนพื้นสนาม บางแห่งมีรอยเผาเป็นรูโบ๋  

“ที่น่าเสียดายมีบางโรงเรียนให้ประชาชนนำควายเข้าไปเลี้ยงเหยียบย่ำและขี้ ใส่สนาม สรุปว่า วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ไม่มีคุณภาพ แต่มีราคาแพงมาก”  เช่น โรงเรียนปางต้นผึ้ง หมู่ 10 ต.บ้านด่านนาขาม อ.เมืองอุตรดิตถ์ เขตติดต่อกับ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ซึ่งไม่มีการเรียนการสอนมานานกว่า 1 ปีครึ่งแล้ว ก็มีสนามฟุตซอลด้วย 

จากการตรวจสอบพบว่า สนามฟุตซอลกลางแจ้งโรงเรียนนี้ สร้างไว้บนพื้นสนามบาสเกตบอล และมีสีซีด กรอบ ด้านข้างสนามทั้ง 4 ด้านมีหญ้าและวัชพืชขึ้นปกคลุม กลางสนามบางจุดก็มีหญ้าขึ้นแทรกเป็นจุดๆ เสาประตู และตาข่ายทั้ง 2 อันถูกนำมาไว้สนามหญ้ากลางโรงเรียนเพื่อใช้แทนเสาประตูฟุตบอล  อย่างไรก็ตาม จากการเดินตรวจสอบรอบๆ อาคารเรียนถูกปิดตายมานานกว่า 1 ปีครึ่งแล้ว ป้ายหน้าอาคารเรียนร้าง บอกจำนวนนักเรียนปีการศึกษา 2556 ไว้ที่ 17 คน แบ่งเป็นอนุบาล 1 และ 2 มี 7 คน, ประถม (ป.) 1 มี 1 คน ป.2 ไม่มีนักเรียน ป.3 มี 4 คน ป.4 มี 2 คน ป.5 มี 2 คน และ ป.6 มี 1 คน 

อดีตกรรมการโรงเรียนปางต้นผึ้งกล่าวว่า โรงเรียนไม่เคยขอสนามฟุตซอลเพราะโรงเรียนมีนักเรียนเพียง 17 คน แต่ สพป.อุตรดิตถ์ เขต 1 ขอมาให้สร้างเลยไม่รู้จะทำอย่างไร จึงต้องยอมรับไว้ แรกๆ ก็พอมีนักเรียนเล่น แต่ผ่านไปเดือนเดียวก็ไม่เล่นอีกเลย เพราะล้มแล้วเจ็บ มีบาดแผลถลอกตามแขนขา เด็กในหมู่บ้านก็ไม่เล่น เพราะส่วนใหญ่ไม่สวมรองเท้าเล่น จึงยกประตูมาไว้สนามหญ้าแล้วเล่นฟุตบอลช่วงเย็น สนามฟุตซอลจึงไม่มีใครเล่นอีกเลย 

แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสนามฟุตซอลฉาวจากทั้งหมด 358 สนามใน 17 จังหวัด ที่สร้างขึ้นด้วยงบ สพฐ.ที่ได้จากการแปรญัตติ และงบอุดหนุนเฉพาะกิจในรัฐบาลที่ผ่านมาเท่านั้น
 

กำลังโหลดความคิดเห็น