อุตรดิตถ์ - ป.ป.ท.ภาคประชาชนเริ่มลงเก็บข้อมูล 40 สนามฟุตซอลฉาวอุตรดิตถ์ พบนอกจากไม่มีคุณภาพแล้ว บางแห่งสร้างแล้วร้าง ไม่มีคนเล่น วัยรุ่นใช้ จยย.ขึ้นไปขี่เล่นไม่พอ ยังถูกใช้เป็นที่เลี้ยงควายแทนด้วย
นายธีรพงษ์ ศรีเดช เครือข่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภาคประชาชน พร้อมคณะลงพื้นที่เพื่อถ่ายภาพ เก็บข้อมูลของสนามฟุตซอลกลางแจ้งทั้ง 40 โรงเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อุตรดิตถ์ และอดีตรัฐมนตรี 2 คน ร่วมกันผลักดันงบประมาณ จากการแปรญัตติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านมาทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุตรดิตถ์ เขต 1 จำนวน 40 สนาม และส้วมนั่งราบแบบ 4 ที่นั่งอีก 1 แห่ง รวม 39,564,000 บาท ซึ่งส่อว่าแพงเกินจริง
นายธีรพงษ์กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าทั้ง 40 สนามวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเหมือนกันทั้งหมด คือ พื้นพลาสติกแบบตาข่ายเริ่มสีซีด มีสะเก็ดหลุดลอก กรอบ จุดที่เชื่อมประสานระหว่างแผ่นบวมอืดยกตัวโก่งสูงขึ้น และทุกสนามไม่มีป้ายบอกคะแนน ไม่มีไฟฟาวล์ของผู้เล่น ก่อสร้างทับสนามเด็กเล่น ทับสนามบาสเกตบอล ขนาดของสนามไม่ตรงกับขนาดของ สพฐ.ที่กำหนดไว้ 22x42 หรือ 924 ตารางเมตร แต่สนามที่ก่อสร้างมีขนาดเพียง 16x28 หรือ 448 ตารางเมตร
สนามฟุตซอลบางแห่งก่อสร้างในโรงเรียนที่มีนักเรียนประถม 30 คน บางแห่งสร้างในที่สาธารณะ บางแห่งสร้างในป่าช้า บางแห่งสร้างแล้วไม่มีคนเล่น บางแห่งกลุ่มวัยรุ่นนำรถจักรยานยนต์ขึ้นไปขับขี่บนพื้นสนาม บางแห่งเผาเป็นรูโบ๋ ที่น่าเสียดายมีบางโรงเรียนให้ประชาชนนำควายเข้าไปเลี้ยงเหยียบย่ำ และขี้ใส่สนาม สรุปว่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ไม่มีคุณภาพ แต่มีราคาแพงมาก
“หลังจากเข้าตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลกลางแจ้งตั้งแต่เริ่มต้นพบว่ามีผู้บริหารบางโรงเรียนที่เป็นหนึ่งใน 40 แห่งรวมกลุ่มออกมาต่อต้านไม่ให้เข้าตรวจสอบ ข่มขู่จะดำเนินคดีหากเกิดความเสียหายขึ้นกับโรงเรียน บางโรงเรียนปิดประตูไม่ให้เข้า ครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ก็ไม่ยอมให้ความร่วมมือ โดยอ้างว่าไม่รู้เรื่อง โรงเรียนไม่เกี่ยวข้อง แต่ผู้บริหารบางโรงเรียนก็ติดต่อเข้ามาเพื่อให้หาทางออกไม่อยากรับผิดสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะถูกผู้บังคับบัญชา และนักการเมืองบังคับ ทำให้การหาข้อมูลลำบากขึ้นทุกวัน” นายธีรพงษ์กล่าว
นายธีรพงษ์กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบส้วม 4 ที่นั่งที่โรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา ต.คุ้งตะเภา อ.เมืองอุตรดิตถ์ใช้งบประมาณก่อสร้าง 352,000 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณเดียวกับงบก่อสร้างสนามฟุตซอลกลางแจ้ง 40 โรงเรียน ราคาไม่เกิน 150,000 บาท เพราะอาคารด้านนอกกว้างและลึกราว 4 เมตร มี 4 ห้อง หลังคาเหล็กแบบยกสูง โปร่งแสง ประตูห้องเป็นแบบพลาสติก ด้านล่างบางบานแตก โถส้วมเป็นแบบนั่งราบตักน้ำราด ไม่มีถังชักโครกด้านหลัง ด้านหลังมีโถสำหรับชายยืนปัสสาวะ 6 อัน ก๊อกน้ำที่ใช้สำหรับเปิดน้ำไล่ปัสสาวะในโถหักไม่สามารถใช้งานได้
ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามรายละเอียดโครงการดังกล่าว แต่นายทนุศักดิ์ไม่รับสาย จึงติดต่อไปยัง น.ส.วิภาดา แสงวิวัฒน์เจริญ ภรรยาของนายทนุศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า นายทนุศักดิ์ติดงานคงจะติดต่อกลับภายหลัง
สำหรับโรงเรียนสังกัด สพป.อุตรดิตถ์ เขต 1 ที่มีการก่อสร้างสนามฟุตซอลกลางแจ้ง40 โรงเรียน ประกอบด้วย 1. โรงเรียน (ร.ร.) บ้านเหล่าป่าสา 2. ร.ร.น้ำริดราษฎร์บำรุง 3. ร.ร.ป่าขนุนเจริญวิทยา 4. ร.ร.วัดพระฝาง 5. ร.ร.บ้านงิ้วงาม 6. ร.ร.วัดวังยาง 7. ร.ร.บ้านขุนฝาง 8. ร.ร.บ้านวังถ้ำ 9. ร.ร.ชุมชนด่านวิทยา 10. ร.ร.วัดวังกะพี้ 11. ร.ร.หาดเสือเต้น 12. ร.ร.วัดดอยแก้ว 13. ร.ร.วัดสิงห์ศรีสว่าง 14. ร.ร.สามัคคีวิทยา 15. ร.ร.วัดช่องลม 16. ร.ร.ประชาชนอุทิศ 17. ร.ร.บ้านบ่อพระ 18. ร.ร.หนองกลาย 19. ร.ร.บ้านป่าเซ่า 20. ร.ร.บ้านซ่านสามัคคี 21. ร.ร.วัดวังหมู
22. ร.ร.วัดทุ่งเศรษฐี 23. ร.ร.บ้านวังแดง 24. ร.ร.วัดท่าทอง 25. ร.ร.พิชัยดาบหัก 1 26. ร.ร.ราษฎร์อุปถัมภ์ 27. ร.ร.บ้านหัวหาด 28. ร.ร.นาน้อยวิทยา 29. ร.ร.บ้านด่าน 30. ร.ร.สามัคยาราม 31. ร.ร.วัดดอย 32. ร.ร.ราษฎร์ดำริ 33. ร.ร.บ้านดงช้างดี 34. ร.ร.มิตรภาพที่ 39 35. ร.ร.ปางต้นผึ้ง 36. ร.ร.บ้านน้ำไคร้ 37. ร.ร.บ้านคุ้งตะเภา 38. ร.ร.ป่ากล้วยเสริมวิทยา 39. ร.ร.บ้านน้ำอ่าง และ 40. ร.ร.บ้านวังแดง (สหจิตรวิทยาคาร)