xs
xsm
sm
md
lg

ความจนกับการเป็นหนี้ : ปัญหาที่ต้องแก้พร้อมกัน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกามภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า” จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! คนจนไม่มีทรัพย์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

คนจนกู้หนี้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนดก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนถูกทวงไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำแม้การถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจน ก็ดี การกู้หนี้ ก็ดี การเสียดอกเบี้ย ก็ดี การถูกทวง ก็ดี การถูกตามตัว ก็ดี การถูกจองจำ ก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้

นี่คือพุทธพจน์ซึ่งตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 392 ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย จากพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น ความจนกับการเป็นหนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว อย่างน้อยก็ 2,500 กว่าปีตามที่ปรากฏในคำสอนของพระพุทธเจ้าดังกล่าวข้างต้น และปัญหานี้ได้ดำรงอยู่ในทุกสมัยและในทุกสังคมด้วย

ดังนั้น การจะแก้ไขให้ปัญหาความยากจนหมดไปจากสังคมโดยสิ้นเชิง คงจะทำได้ยาก จะทำได้อย่างมากก็แค่บรรเทาความเดือดร้อนให้ลดลงในระดับที่คนจนอยู่ได้ตามอัตภาพเท่านั้น ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในทางสังคมดังต่อไปนี้

1. ความยากจนมิได้มีมูลเหตุมาจากการไม่มีทรัพย์เป็นประการแรก หรือเป็นมูลเหตุดั้งเดิม หรือเป็นปฐมเหตุ แต่ปฐมเหตุแท้จริงของความยากจนคือ ไม่มีปัญญาในการหาทรัพย์ และรักษาทรัพย์ที่หามาได้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากผู้ที่ร่ำรวย มั่งคั่งในปัจจุบันมาจากอดีตที่ยากจน แต่ร่ำรวยขึ้นได้ด้วยมีปัญญาในการหาทรัพย์ และในขณะเดียวกัน คนจนบางคนมาจากอดีตที่ร่ำรวย แต่ยากจนเนื่องจากไม่มีปัญญาในการรักษาทรัพย์ไว้ได้

2. ถ้าศึกษาปัญหาความยากจนโดยรอบคอบ และรอบด้าน ก็จะพบว่าคนจนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร จะเป็นทั้งไม่มีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาด้วย

ดังนั้น เมื่อประสบปัญหาในด้านทำมาหากินก็จะดิ้นอยู่ในวงแคบๆ เช่น ไม่มีเงินก็กู้หนี้และเมื่อกู้หนี้มาแล้ว แทนที่จะใช้ลงทุนในกิจการที่คุ้มค่าเพื่อให้มีรายได้มาใช้คืน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย กลับไปใช้ในกิจการที่ไม่คุ้มทุน และในบางรายยิ่งกว่านี้คือ นำเงินกู้มาซื้อของฟุ่มเฟือย มากินมาใช้โดยไร้สาระ

ดังนั้น คนจนเมื่อเป็นหนี้ย่อมยากที่จะใช้คืน และอยู่อย่างปลอดหนี้

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการดังกล่าวข้างต้น ถ้าจะแก้ปัญหาความยากจนประการแรกจะต้องแก้ที่ต้นเหตุแห่งความยากจนคือ ตัวตนของคนที่ยากจนนั่นเอง โดยการให้ความรู้ การอบรมในการทำมาหากิน และการเก็บออม

เกี่ยวกับเรื่องการหาทรัพย์และบริโภคทรัพย์ได้มีแนวทางปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนไว้ในเชิงอุปมาอุปไมยว่า

ผู้ที่ครองเรือนจงเห็นการหาน้ำผึ้งจากเกสรดอกไม้ แม้ทีละน้อยก็รวบรวมเป็นรวงผึ้งได้ และในขณะเดียวกัน จงเห็นการหมดไปของยาหยอดตาแม้ทีละหยดก็หมดได้ ฉันใด การหาทรัพย์และเก็บออมได้ และการใช้ไปแม้ทีละน้อยก็หมดได้ ฉันนั้น

พูดง่ายๆ เพื่อความเข้าใจก็คือผู้ที่เป็นฆราวาสควรจะขยันหาทรัพย์ และเก็บออมไว้แม้ทีละน้อยก็มากได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้ทรัพย์แม้ทีละน้อยแต่ใช้บ่อยกว่าที่หาได้ก็หมดได้

นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังสอนเกี่ยวกับวิธีการใช้ทรัพย์ที่หามาได้ โดยให้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กันหรือที่เรียกว่า โภควิภาค 4 ดังนี้

1. เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย (1 ส่วนใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์)

2-3 ทฺวิหิ กมฺมํ ปโยชเย (2 ส่วนใช้ลงทุนประกอบการงาน)

4. จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย (อีก 1 ส่วนเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น)

จากคำสอนดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าทุกๆ ครั้งที่ได้เงินมา พระพุทธเจ้าเน้นให้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน และใช้ไป 3 ส่วน และเก็บออมไว้ 1 ส่วน ใน 3 ส่วนที่ใช้ไปให้ใช้ 2 ส่วนหรือเท่ากัน 50% เพื่อการลงทุนประกอบกิจการเพื่อหารายได้

ถ้าทุกคนดำเนินการตามแนวทางนี้เชื่อได้ว่า ทุกคนจะมีเงินออมและที่สำคัญทุกคนจะมีอุปนิสัยในการประหยัดอันเป็นที่มาของความมั่งคั่ง

ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาความยากจน คนจนทุกคนจะต้องศึกษาตนเองให้เป็นคนมีวินัยทางด้านการเงิน และมีความขยันในการทำมาหากินโดยยึดหลักหาเงินได้ใช้เงินเป็น ก่อนที่จะร้องขอให้ใครต่อใครช่วย ดังที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่ในขณะนี้

อีกประหนึ่ง รัฐบาลในฐานะผู้ปกครองประเทศเอง ก็ควรกำหนดแนวทางให้คนจนช่วยตนเอง โดยการเข้าไปมีส่วนในการสอนให้รู้จักวิธีการทำมาหากิน และวิธีการใช้เงิน ไม่ควรแก้ปัญหาที่ผลโดยการให้เงิน ดังที่ช่วยชาวนา และชาวสวนยางด้วยการเน้นที่ตัวเงินเท่ากันด้วย การยึดผู้ประกอบการอาชีพเดียวกันคือชาวนา หรือชาวสวนโดยไม่นำปัจจัยอื่นเป็นต้นว่า รายได้และฐานะทางการเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตว่าเป็นไปตามทำนองคลองธรรม ควรแก่การให้ความช่วยเหลือหรือไม่เพียงใดด้วย

จริงอยู่ คนจนเดือดร้อนมีหนี้สินดังที่เกิดขึ้นกับนางสังเวียน ที่จุดไฟเผาตัวเอง ควรจะได้รับการเอาใจใส่ดูแลเพื่อความเป็นธรรม แต่จะต้องไม่ลืมว่ายังมีคนจนที่ตกเป็นเหยื่อของเจ้าหนี้นอกระบบในลักษณะเดียวกันนี้อีกมาก ดังนั้น ถ้าทุกคนจะต้องรอให้รัฐบาลแก้ไขก็คงแก้กันไม่ไหว

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การเข้าช่วยให้คนจนแก้ความจนด้วยตนเอง โดยรัฐคอยให้ความสะดวกในการจัดหาปัจจัยการผลิตให้เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต รวมไปถึงกรรมวิธีในการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของตลาดมากกว่าที่ทุ่มเงินก้อนให้ไป ซึ่งไม่รู้ว่าเงินก้อนนี้จะกลายเป็นทุนในการผลิตหรือเป็นอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น