xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บารากู่-บุหรี่ไฟฟ้า”สินค้าต้องห้ามในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “เตาแก้ว สาย AL Fakher ของแท้... ซื้อวันนี้ แถม ยา ถ่าน ฟรี..!! ชุดนี้ มีกระเป๋า นิรภัย สนใจ ติดต่อได้ที่... “เตาบารากู่”ขนาดกลาง พร้อมดูด... เช้าๆ งี้ จัดไปเลย ราคาพิเศษ....!! 1,100.- เท่านั้น ด่วน..!!! เตาแก้ว... มีไฟ น่าร๊ากๆ กุ๊งกิ๊งๆ ที่ครอบถ่าน ใช้วัสดุอย่างดี ( แอดมินแบงค์ คัดเองกับมือ ) ใช้ไปนานๆ จะเป็นสีทอง ลองดู จัดไป!!”

มีโอกาสสืบค้นดูเวปไซด์ หรือเฟซบุ๊ค ที่จำหน่าย อุปกรณ์บารากู่หรือ มอระกู่ กับอุปกรณ์ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งข้างต้นนี้เป็นแผนการตลาดของ เวปไซด์รวมถึงเฟซบุ๊คจำหน่าย อุปกรณ์สูบบารากู่ ทั้งยาเส้นที่ตลาดเขาเรียกว่า “เส้นฮุกก้า” ที่เป็นพืช ผลไม้ พืชหมัก ผลไม้หมักสาร สารสกัด โดยวิธีการสูบผ่านน้ำ ผ่านหลอดสูบที่ปรุงแต่งกลิ่นมีให้เลือกหลายกลิ่น เช่น กลิ่นสตรอเบอร์รี่ ช็อกโกแลต ฯลฯ ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่นให้ความนิยมมาก บางร้านถึงขั้นนำสารเสพติด มาประกอบในการสูบแต่พวกนี้ก็ถูกจับกุมไปหลายราย

ส่วนผู้สูบ ไม่ได้มีการกำหนดโทษไว้แต่อย่างใด

ในเวปฯเหล่านี้ ยังมีการสาธยายสูตรวิธีการใช้ การผสม การทำบารากู่ ที่มีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เกรดต่ำ ให้เทียบเท่ากับบารากู่เกรดสูงๆ ที่ผลิตจากประเทศย่านตะวันออกกลาง

ดูดีๆ ผลกำไรมหาศาล เอาแค่แบ่งขาย“เส้นฮุกก้า” เป็นถุงละ 10 กรัม ต่อการสูบ 1 ชุด ราคาถึง 100-500 บาท มีเส้น(สายสูบ) ราคา 1-2 ร้อยบาท ค่าถ่าน ค่าเตาฯลฯ 1 ชุด ประมาณ 1-3 พันบาท ไม่รวมของปลอมแก้วเกรดต่ำ หรือเซลรามิคเกรดต่ำ ที่ขายกันตามตลาดนัด

ส่วนอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า มีการอ้าง ว่าเป็นสินค้ามาตรฐานเกรดสูงที่ขายกันในระดับโลก ส่วนพวกราคาถูกเกรดต่ำๆก็เริ่มต้นที่ 799 บาท แต่ราคาที่เข้ามาขายในประเทศไทยก็อยู่ที่ 1-5 พันบาท เกรดดีหน่อย ลวดลายสวยๆ ก็หลักหมื่นบาท

ในเวปสาธยายทางการตลาดไว้ว่า “เราเลือกบุหรี่ไฟฟ้ามาตรฐาน เกรดสูงจากโรงงานบุหรี่ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ไม่ใช่สินค้าที่ขายตามตลาดนัดหรือทางสำเพ็ง ซึ่งมีราคาถูกกว่ากันมาก สินค้าของเราจึงมีราคาค่อนข้างสูง.... ขายบุหรี่ไฟฟ้าราคาถูก - บุหรี่ | บุหรี่ไฟฟ้า | น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า | ขายบุหรี่ไฟฟ้า | ขายน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า |อะไหล่บุหรี่ไฟฟ้า และของแต่งบุหรี่ไฟฟ้าครบวงจร บุหรี่ไฟฟ้าราคาถูก มีหลากหลายยี่ห้อ”

“แถมยังมีบริการหลังการขายระบุ ถึงคำแนะนำ การเลือกซื้อน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีอายุการเก็บรักษา2ปีนับจากวันที่ผลิต ...”บุหรี่ไฟฟ้ารุ่นก่อนๆควันน้อยมาก ไม่เข้าปอดเลย แต่รุ่นใหม่ๆควันเยอะดี

สรุปแล้ว ในโลกออนไลน์ขายกันเกลื่อน ไร้การควบคุม!!!! แต่ถ้าขายกันเกลื่อนในกรุงเทพฯ ก็ต้องที่ “ตลาดคลองถม”

วันก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ซึ่งแสดงความเป็นห่วงต่อการแพร่หลาย และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการเข้ามาดูแล จนได้ออกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2557 เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง “กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้า ที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ….”ก่อนจะส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมาย และร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อตรวจพิจารณา

คาดว่า“กรมการค้าต่างประเทศ” เจ้าของเรื่องจะประกาศใช้ทันทีปลายเดือน ต.ค. นี้

ร่างประกาศฯฉบับนี้ ต้นเรื่องมา “กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” ได้ขอให้ “กรมการค้าต่างประเทศ” พิจารณากำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้าโดยกำหนดให้บารากู่ไฟฟ้าและบุหรี่ไฟฟ้า(อี-ซิกาแรต) เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีการนำบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทย และมีการเผยแพร่จำหน่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ตและตลาดนัดอย่างแพร่หลาย ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีรูปแบบการใช้ที่แปลกใหม่ ง่ายต่อการเชิญชวนให้เยาวชนทดลองใช้ อีกทั้งมีรูปลักษณ์ กลิ่นสีที่ดึงดูดใจ ประกอบกับตรวจพบว่า มีสารพิษชนิด Organic Compounds (กลุ่มของสารประกอบอินทรีย์) เช่น Propylene Glycol, Menthol, Cycloherand และมีสารพิษชนิด Metals (กลุ่มโลหะหนัก) ได้แก่ Chromium, Manganese, Copper ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพและต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้งานเป็นอย่างมาก

เพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนที่เกิดจากการสูบบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าและบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในกำกับของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดควบคุมการนำเข้าสินค้าดังกล่าว

ดังนั้น จึงต้องมีประกาศ ​กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึง “การขายยาเส้นฮุกก้า” ซึ่งนำเข้ามาพร้อมกันเพื่อใช้กับอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ส่วน “อุปกรณ์ที่มีการนำเข้ามาก่อนหน้านี้” ได้มีความพยายามจะเข้ามาจัดระเบียบของ “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) โดยใช้พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ, พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และพ.ร.บ.ยาสูบแล้วแต่กรณี แม้ปัจจุบันการนำเข้ามาไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มีการกำหนดนิยามชัดเจนว่าเป็นสินค้าที่จัดให้อยู่ในกลุ่มประเภทสินค้าใด แต่หากดูที่วัตถุประสงค์ก็เพื่อใช้ในการสูบเหมือนกัน ก็ถือว่าเป็นประเภทเดียวกัน

การเข้ามาควบคุมอุปกรณ์ประเภทนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก หลายเดือนก่อน “กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง” ได้มีการออกมาตรการห้ามสถานบริการใกล้มหาวิทยาลัย เปิดให้บริการเสพบารากู่ โดยมีโทษสูงสุดคือ “การถอนใบอนุญาต”ส่วน “กรมศุลกากร” ก็จัดให้เข้าข่ายห้ามนำเข้าเนื่องจากเป็นอุปกรณ์แบตเตอรี่ได้เท่านั้น

หลังมีข่าวประกาศไปช่วงข้ามคืน หลายร้านจำหน่ายสุรา ประมาณผับร้านนั่งดื่มในกรุงเทพฯ ปิดป้าย “ยกเลิกการจำหน่าย บารากู่”

หลายคนถามว่า อ้าว!! แล้ว กรณี “บุหรี่ไฟฟ้า”ที่มีการกล่าวอ้างตามโฆษณาทางอินเตอร์เน็ตว่าสามารถใช้แทนเพื่อการเลิกบุหรี่ได้ และยังอ้างว่า มีการพยายามจากภาครัฐรณรงค์ให้เปลี่ยนให้มาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่มวน

เรื่องนี้ “นพ.โสภณ เมฆธน” อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า กรมควบคุมโรค ไม่เคยระบุไว้เช่นนั้น

“ไม่มีแพทย์คนไหนมาพูดสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ”

ส่วน “นพ.นพพร ชื่นกลิ่น” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค บอกไว้ว่า “ถือเป็นการสร้างความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง เพราะสินค้าอื่นเพื่อมาทดแทนการช่วยลดการสูบบุหรี่ได้นั้น ก็ยังมี หมากฝรั่ง แผ่นแปะ เป็นต้น

แต่เรื่องนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความพยายามของบริษัทค้าบุหรี่มวนยักษ์ใหญ่ ที่พยายามเปลี่ยนมาจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อผลทางการตลาดเท่านั้น

"บุหรี่ไฟฟ้า ที่แม้ไม่มีนิโคติน แต่ก็สามารถนำนิโคตินเหลวเข้ามาเติมในภายหลังได้ ซึ่งทำให้มีการตรวจสอบได้ยากมาก โดยกรมศุลกากร ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบในการตรวจจับบ้าง แต่ก็ยังไม่เข้าข่ายกฎหมายใด การที่ควบคุมได้ยากเราจึงต้องไม่ให้นำเข้ามาเลย”

“ ขณะนี้ มีกว่า 20 ประเทศที่ห้ามนำเข้าเลย ทั้งห้ามขายและห้ามจำหน่าย ด้วยเหตุผลเดียวกับประเทศไทยที่มี ไม่ถูกจัดให้เป็นบุหรี่ แต่ถ้าประเทศให้จัด อี-ซิกาแรต เป็นบุหรี่ ยอมให้จำหน่ายได้ ก็เพราะว่าเขามีกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบกำกับดูแลได้ แต่บ้านเราไม่ใช่บุหรี่จึงควบคุมไม่ได้"นายแพทย์นพพรกล่าวไว้

แต่ก็มีมุมมองของคนสูบ"บุหรี่ไฟฟ้า" ที่ยังอ้างว่า มีข้อดี เช่น เลิกสูบบุหรี่มวน ได้จริง ๆ หรืออ้างว่า ตามข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท เกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอ้างว่า ประเทศส่วนใหญ่ยอมรับในนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ จำหน่ายได้ถูกกฏหมาย แต่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่ากำหนด แถมยังอนุญาตให้สูบได้ในสถานที่ต่างๆที่ห้ามสูบบุหรี่่ด้วย เช่นบาร์ ร้านกาแฟ ในผับ บ้างก็อ้างว่า แม้นิโคตินจะเยอะกว่า แต่ไม่รบกวนบุคคลที่สาม ความรู้สึกอาจน้อยกว่าบุหรี่จริงเยอะ ใช้แค่แก้อยาก ฯลฯ

ก็ต้องรอดูว่าภาครัฐ จะควบคุมได้มากแค่ไหนเพียงใด เมื่อมีกฎหมายในมือแล้ว แต่เห็นว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และสำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี จะเอาเรื่องนี้มาคุยกันอีกครั้ง เพราะตอนประกาศใช้แล้วทำได้ง่าย แต่การที่จะเขามาควบคุม น่าจะทำได้ยากกว่า







กำลังโหลดความคิดเห็น