xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคนไทยกินยาลดไข้เกินขนาดมาตั้งนานแล้ว !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ยาลดไข้หรือยาแก้ปวดที่เรียกว่า ยาพาราเซตตามอล (paracetamol) นั้น เป็นยาพื้นฐานที่คนไทยได้ใช้มาอย่างยาวนานแล้ว โดยส่วนใหญ่คนไทยก็จะบริโภคครั้งละ 2 เม็ดๆละ 500 มิลลิกรัม และบริโภคทิ้งช่วงกัน 4-6 ชั่วโมง และดูเหมือนว่าคนไทยส่วนใหญ่จะซื้อยาแก้ปวดลดไข้นี้ได้อย่างสะดวกง่ายดาย โดยประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะรู้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากยาประเภทนี้คือเป็นยาที่ทำลายตับและยังอาจมีผลทำให้ตับวายเฉียบพลันได้ด้วยถ้าบริโภคเกินขนาด และดูเหมือนว่าคนไทยจำนวนมากบริโภคเกินขนาดเสียด้วย

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ได้มีบันทึกข้อความภายในส่วนราชการของคณะกรรมการพัฒนาระบบยา กระทรวงสาธารณสุข จากนายแพทย์สุรสิทธิ์ ตั้งสกุลวัฒนา ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยา ถึงประธาน PCT รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวช หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชนและหัวหน้างานเภสัชกรรม โดยมีข้อความระบุว่า

“ด้วยขณะนี้ต่างประเทศมีรายงานข้อมูลความเสี่ยงการใช้ acetaminophen หรือ paracetamol ต่อการเกิดตับถูกทำลายอย่างรุนแรง (Severe liver damage) จากการใช้ยา paracetamol ในขนาดที่สูงมาก ทั้งนี้ในประเทศไทยโดยชมรมแพทย์ชนบทระบุเรื่องการได้รับ paracetamol ครั้งละ 2 เม็ด เสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาด และยังระบุว่ากระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโรงพยาบาลส่งเสริมใช้ยาสมเหตุสมผล จะลงนาม MOU ในการปรับเกณฑ์การใช้ paracetamol

คณะกรรมการพัฒนาระบบยาจึงเห็นควรมีมติให้ปรับการใช้ paracetamol ตามคำแนะนำของ Rational drug use (RDU) Label Working Group คือ paracetamol 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ห่างกันทุก 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้ (ห้ามรับประทานยานี้เกิน 8 เม็ดต่อวัน (เพราะอาจเป็นพิษต่อตับ) โดยจะตั้งค่านี้เป็นค่าปกติในคอมพิวเตอร์ และถ้าแพทย์เขีนหรือสั่งยาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างจากคำแนะนำนี้ ให้งานเภสัชกรรมและฝ่ายการพยาบาลสามารถปรับข้อมูลตามคำแนะนำดังกล่าวได้โดยไม่ต้องปรึกษาแพทย์ แต่คำแนะนำนี้ใช้กรณีผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนกรณีเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักน้อย ให้ยึดตามคำสั่งแพทย์”


ต้องขอให้กำลังใจและชื่นชมความกล้าหาญในการผลักดันในการลดขนาดของยาพาราเซ็ตตามอลของกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องช่างน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ของผู้ผลิตและจำหน่ายยาพาราเซตตามอล กับ ปัญหาการที่ตับถูกทำลายจากยาพาราเซตตามอล ตั้งแต่นี้คนไทยควรจะต้องตระหนักว่าถ้ารับประทานยาพาราเซตตามอล 500 มิลลิกรัม 1 เม็ดทุก 6 ชั่วโมง วันหนึ่งก็จะกินได้ 4 เม็ด คิดเป็นยาประมาณ 2 กรัมต่อวันเท่านั้น

อย่างไรก็ตามบันทึกข้อความดังกล่าวยังกำหนดข้อความเพิ่มเติมแถมท้ายว่าสามารถให้ยาพาราเซตตามอลสูงสุดไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน ก็จะแปลความหมายว่าแท้ที่จริงยังเปิดช่องว่างให้รับประทานยานี้ได้ 2 เท่าตัวต่อวัน ก็จะได้ 4 กรัมต่อวันอยู่ดี


อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมาองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกคำเตือนต่อบุคลากรด้านการแพทย์ และโรงงานอุตสาหกรรมยา ให้หยุดผลิตและหยุดใช้ยาพาราเซ็ตตามอลที่เกินกว่า 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ขอย้ำว่าคนอเมริกันโดยเฉลี่ยแล้วตัวใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่าคนไทย ยังรับประทานยาพาราเซ็ตตามอลเพียงแค่ 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด แต่ที่ผ่านมาคนไทยตัวเล็กกว่าคนอเมริกันแต่กลับรับประทานยาพาราเซ็ตตามอลโดยเฉลี่ยครั้งละ 2 เม็ดๆละ 500 มิลลิกรัม รวมแล้ว 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง ถ้ารับประทาน 2 เม็ดทุก 4 ชั่วโมง ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงก็มีสิทธิ์รับประทานได้ถึง 12 เม็ดต่อวัน หรือประมาณ 6 กรัมต่อวัน ซึ่งจะเกินขนาดไปอย่างมาก

อย่างไรก็ตามการลดขนาดของยาในสหรัฐอเมริกาให้เหลือเพียงแค่ 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด แต่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ปรับลดขนาดเพราะยังให้กรอบการให้ยาอยู่ที่สูงสุดไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน หรือเท่ากับขนาดยาพาราเซตตามอลสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุขตามบันทึกข้อความข้างต้นนั่นเอง

แต่เหตุที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ปรับลดขนาดยาพาราเซตตามอลต่อเม็ดให้เหลือเพียง 325 มิลลิกรัม ก็เพราะมีความเป็นห่วงว่าผู้ป่วยที่ซื้อยาพาราเซตตามอลนั้นไม่ได้รับประทานยาลดไข้ชนิดเดียวอย่างเดียว อาจจะมียาอย่างอื่นที่ผสมยาพาราเซตตามอลเข้าไปด้วย (เช่น ยาแก้หวัด) ทำให้เกิดการบริโภคขนาดของยาซ้ำซ้อนและเกินขนาดในที่สุด


ข้อสำคัญเวลาคนทั่วไปเรียกติดปากยาจำพวกนี้ว่า “พาราเซตตามอล (paracetamol)” แต่ในสลากยาจะใช้ชื่อว่า “อะซีทามีโนเฟน (acetaminophen)” ซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่อ่านสลากยาอาจหลงผิดจึงรับประทานยาพาราเซตตามอลที่เกินขนาดเพราะรับประทานยาอื่นที่มีตัวยาเดียวกันผสมอยู่ด้วย

ที่สหรัฐอเมริกาได้ตื่นตัวกับการลดยาลดไข้พาราเซตตามอลนั้น ก็เพราะในรอบหลายปีที่ผ่านมาผู้ป่วยที่รับประทานยาเกินขนาดนั้นส่วนใหญ่บริโภคยาเกินขนาดพวกพาราเซตตามอลมากที่สุด และการรับประทานยาเกินขนาดนั้นนอกจากจะเป็นการทำลายตับแล้ว ยังทำให้ตับวายเฉียบพลันได้ด้วย ซึ่งมีผู้คนจำนวนไม่น้อยในสหรัฐอเมริกาต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วยังมีการเสียชีวิตอีกด้วย

ส่วนคนไทยก็คงไม่ต้องสงสัยเพราะนอกจากโดยเฉลี่ยแล้วที่คนไทยตัวเล็กกว่าฝรั่ง แต่รับประทานยาพาราเซตตามอลเกินขนาดมาตั้งนานแสนนานแล้ว และคนไทยที่เป็นโรคตับมากก็อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานยาเกินขนาดก็ได้

หลายคนจะไม่สบายตัวเพราะมีไข้ แต่ความจริงแล้วการมีไข้ก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อยเลยในช่วยรักษาโรคร้ายในตัวเราเอง

จากหนังสือ Fundamentals of nursing: Human health and function, Fourth edition หน้า 1044 เขียนโดย Craven, R และ Hirnle ปี พ.ศ. 2548 ได้ระบุว่าไข้มีหน้าที่ที่สำคัญหลายประการในกระบวนการรักษา ซึ่งรวมถึง ช่วยในการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาว สนับสนุนการกลืนกินของเม็ดเลือดขาว ลดฤทธิ์ของชีวพิษภายในตัว (endotoxin)

ในขณะที่หนังสือ Medical-surgical nusing: Assessment and management of clinical problems. Sixth edition หน้า 212 โดย Lewis, SM, Heitkemper, MM, and Dirksen, SR ปี พ.ศ. 2550 ได้ระบุว่าการมีไข้จะช่วยในการเพิ่มการแบ่งตัวของที-เซลล์ (T-cells) และสนับสนุนการทำงานของอินเตอร์เฟอรอน (interferon)

จากการศึกษางานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2548 ในหัวข้อ The effect of antipyretic therapy upon outcomes in critically ill patients: a randomized, prospective study ตีพิมพ์ใน Surg Infect (Larchmt) 2005 โดย Schulman และคณะ ได้ระบุว่ามนุษย์จะหายจากอาการป่วยจากการติดเชื้อหรือความเจ็บป่วยวิกฤติจากไข้ได้เร็วขึ้น

จากการศึกษางานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2552 ในหัวข้อ Predictors of mortality in beta-hemolytic streptococcal bacteremia: A population-based study. ตีพิมพ์ใน J Infect. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นการศึกษากลุ่มประชากรในฟินแลนด์พบว่าเมื่อมีไข้จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้

ดังนั้นถ้าเรารับประทานยาลดไข้โดยไม่จำเป็น ก็เท่ากับเราตัดโอกาสในการเยียวยาด้วยไข้ที่เป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มหัศจรรย์ยิ่ง

สำหรับตัวผมเองแล้วไม่ได้รับประทานยาลดไข้มาเกือบ 3 ปีแล้ว และมีความเป็นมิตรกับการมีไข้ทุกครั้ง เวลาเป็นไข้หวัดก็อดอาหาร ดื่มน้ำร้อนๆเพื่อช่วยเสริมอุณหภูมิเป้าหมายของร่างกาย ห่มผ้าอุ่น จนเหงื่อออก หรือบางครั้งก็เสริมด้วยวิตามินซีจากผลไม้รสเปรี้ยว เพียงแค่นี้ก็จัดการกับโรคหวัดได้อย่างรวดเร็ว ผมเป็นมิตรกับอาการไข้เพราะถือว่าเป็นข่าวดีที่ร่างกายยังมีพละกำลังที่จะสามารถสร้างพลังงานความร้อนได้ เพราะผู้ที่สูงอายุและจะมีความสามารถในการสร้างความร้อนในร่างกายได้ลดลงไม่สามารถเพิ่มอุณหภูมิได้สูงมากนัก


แต่สำหรับผู้ที่มีอุณหภูมิเป้าหมายของไข้สูงมากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ ก็ใช้แผ่นเจลใสแช่เย็นนำทาบไว้บริเวณหน้าผาก ใช้ผ้าเย็นบิดหมาดเช็ดบริเวณหน้าผาก คอ บริเวณซอกรักแร้ ต้นขา ขาพับ ฝ่ามือและฝ่าเท้า เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถบริหารจัดการกับไข้ที่เกิดขึ้นมาได้

ถ้าทำได้เช่นนี้เราก็ไม่ต้องไปใช้ยาพาราเซตตามอลโดยไม่จำเป็น ไม่ต้องไปถกเถียงกับขนาดของยาที่ต้องรับประทาน และไม่ต้องเกิดความเสี่ยงในการที่ตับจะถูกทำลายไปโดยยาพาราเซตตามอล จริงไหม?


กำลังโหลดความคิดเห็น