xs
xsm
sm
md
lg

จับมือดันราคาเกษตร-คุมค่าครองชีพ 4เจ้าสัวใหญ่ถกพาณิชย์ จ่อรื้อกม.ล้าสมัยร่วม20ฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

4 เจ้าสัวเมืองไทย "ซี.พี.-ไทยเบฟ-สหพัฒน์ -เซ็นทรัล" พบรมว.พาณิชย์หารือกำหนดแผนผลักดันเศรษฐกิจไทย “ฉัตรชัย”เผยเป็นมิติใหม่ในการทำงาน เตรียมจับมือดันราคาสินค้าเกษตร พัฒนาคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณ ขอความร่วมมือดูแลราคาสินค้า พร้อมจับมือดันส่งออก ขยายการค้าชายแดน มั่นใจปีนี้ยอดไม่ติดลบ เล็งแก้กฎหมายล้าสมัย 20 ฉบับ เอกชนหนุนขอกระทรวงอื่นๆทำตาม

เมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ (2 ต.ค.) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการและกรรมการบริหาร กลุ่มสหพัฒน์ และนายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล และคณะได้เดินทางมาเข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ในการเข้าพบหารือครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมด้วย ได้แก่ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานที่ปรึกษารมช.พาณิชย์ พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรมว.พาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน เลขานุการรมว.พาณิชย์ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน

สำหรับประเด็นการหารือของกลุ่มธุรกิจระดับประเทศ 4 บริษัทใหญ่ กับรมว.พาณิชย์ในครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งเรื่องมาตรการดูแลราคาสินค้า การผลิต โอกาสในการส่งออก และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศและการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

***ครั้งแรกที่4บิ๊กธุรกิจมาพร้อมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ ผู้นำภาคธุรกิจเอกชนรายใหญ่ของไทยได้เดินทางมาหารือกับรมว.พาณิชย์ในคราวเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการพบปะกันในงานสำคัญต่างๆ เท่านั้น และไม่เคยมีครั้งใดที่จะมาพบปะกันพร้อมหน้าแบบนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจรายสำคัญของประเทศ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ

มีรายงานข่าวว่า การพบปะกันของ 4 เจ้าสัวผู้นำภาคธุรกิจกับรมว.พาณิชย์ เป็นนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย ที่ต้องการจะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาล โดยมีผู้ประสานให้มีการพบปะกัน คือ นายสมพล เกียรติไพบูลย์ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ภายหลังจากการหารือกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ผู้นำภาคธุรกิจได้เดินทางกลับในทันที โดยนายธนินท์ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับนักข่าว โดยบอกว่า มีประชุมต่อ และให้ผู้สื่อข่าวไปสอบถามรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ข่าวที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเพียงแค่นายเจริญ และนายทศ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเท่านั้น

***”เจริญ”ดีใจที่รัฐให้ความสำคัญเอกชน

นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกดีมาก ที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเชิญภาคเอกชนเข้ามาหารือ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วยกัน เบื้องต้นได้มีการหารือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงเพื่อสร้างรายได้ให้กับรากหญ้า แต่ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมากนัก โดยหลังจากนี้
ภาคเอกชนจะเข้าพบรมว.พาณิชย์ เพื่อหารือถึงสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในรอบต่อไป

***”เซ็นทรัล”เสนอเพิ่มหารือกับกระทรวงอื่น

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า ต้องการให้มีการจัดกลุ่มหารือในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ และอยากให้ขยายการหารือไปยังกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยการหารือได้มีการพูดถึงเรื่องการผลักดันการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

***”ฉัตรชัย”แจงแนวทางทำงานรัฐบาล

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวภายหลังการหารือว่า ได้เชิญผู้นำภาคเอกชนเข้ามารับฟังนโยบายการทำงานของรัฐบาล และยุทธศาสตร์การทำงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยได้ชี้แจงว่ารัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนระยะสั้น 3 เดือนที่จะเร่งผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ และมีแผนระยะยาว คือ การวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในทุกด้าน จึงอยากจะขอความร่วมมือภาคเอกชนให้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ซึ่งภาคธุรกิจพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

“วันนี้มีภาคธุรกิจมา 10 กว่าท่าน ภาคเอกชนบอกว่าเป็นมิติใหม่ ไม่เคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน ที่เปิดโอกาสให้เอกชนมาแสดงความคิดเห็น โดยเห็นด้วยที่ภาครัฐจะร่วมกับภาคเอกชนในการทำงาน ซึ่งผมจะคุยต่ออีกหลายกลุ่ม เพราะเป็นแนวทางที่ดี”

***ผลักดันผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ได้ชี้แจงให้กับภาคเอกชนทราบถึงแนวทางการปฏิรูปที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ และขอให้ภาคธุรกิจให้ความร่วมมือ เพื่อให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จในทุกด้าน

ส่วนการดูแลสินค้าเกษตร ได้หารือในการผลักดันในเรื่องคุณภาพ มากกว่าการผลิตในปริมาณมากๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยจะมีการดูแลราคาสินค้าเกษตรทั้งต้นทางจนถึงปลายทาง และจะดูแลไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อน และประชาชนเดือดร้อน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และขอความร่วมมือเอกชนให้เข้ามาร่วมทำงานด้วย โดยเอกชนเห็นว่าแนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ โดยไม่ต้องแทรกแซง เป็นการมาถูกทาง

สำหรับการใช้เงิน 4 หมื่นล้านบาทในเรื่องข้าว เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย และยืนยันว่าขณะนี้ราคาข้าวไม่ได้ตกต่ำ

***ขอความร่วมมือดูแลราคาสินค้า

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ในด้านการดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน ได้ขอให้ภาคเอกชนช่วยรักษาระดับราคาสินค้าไม่ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่งภาคเอกชนก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แต่ไม่ได้พูดถึงการตรึงราคาสินค้า แต่จะดูแลให้กลไกตลาดเป็นไปอย่างเหมาะสม

***มั่นใจส่งออกปีนี้ไม่ติดลบ

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ได้หารือในการผลักดันการส่งออก โดยหากดูสถิติการส่งออกปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมา แตกต่างกันมาก เพราะสถานการณ์แตกต่างกัน โดยช่วงต้นปี ไทยมีปัญหาภายในประเทศ มีปัญหาทางการเมือง ทำให้คู่ค้าเกิดความไม่เชื่อมั่น แต่หลังจากวันที่ 22 พ.ค.2557 ความเชื่อมั่นดีขึ้น การส่งออกเริ่มดีขึ้น แต่ก็มีปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าที่ไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ จึงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

“มั่นใจว่าแม้การส่งออกจนถึงขณะนี้จะยังติดลบ แต่เชื่อว่า ยอดส่งออกทั้งปี ไม่น่าจะติดลบ จะกลับมาเป็นบวกได้ ผมเชื่อมั่น”

***ดันค้าชายแดน-แก้กฎหมายล้าสมัย

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ภาคเอกชนยังได้สนับสนุนให้ผลักดันการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และมาเลเซีย ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นส่วนที่จะช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าไทย และให้ช่วยผลักดันระบบโลจิสติกส์ เพราะเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ซึ่งได้ยืนยันไปว่ารัฐบาลมีนโยบายในการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้รับที่จะแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ โดยได้มอบหมายให้กรมต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่ล้าสมัย และต้องปรับปรุงแก้ไข โดยให้เวลาภายใน 1 เดือน ซึ่งเบื้องต้นมีประมาณ 20 ฉบับ จากนั้นภายใน 3 เดือน จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น