พลังบวก แรงบันดาลใจ และความเป็นไปได้ หาได้ที่งาน TEDx ChiangMai 2014 เวทีที่เปิดโอกาสที่คนมีของมาปล่อยแสง เผยแพร่ความคิดและไอเดียเจ๋งๆ ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้นเมื่อ 27 กันยายน 2557 และทางทีมงาน Feel Good ได้นำข้อคิดและแรงบันดาลใจดีๆ บางส่วนมาเติมไฟให้กับทุกคน
งานของคุณคืออะไร? “นักทดลองชีวฟิสิกส์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ศิลปิน นักออกแบบ นักประพันธ์” ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ดร.ป๋วย เป็น ดร.ป๋วยไม่ได้ตีกรอบตัวเองว่าต้องเป็นเพียงนักทดลองชีวฟิสิกส์หรืออาจารย์เท่านั้น แต่ดร.ป๋วยให้โอกาสตัวเองได้ลองทำอะไรก็ตามที่สนใจและหลงใหล ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์หรือศิลปะ ไม่มีกฎข้อไหนที่บอกว่าเราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ามันใช่ก็แค่ลงมือทำ
“จงเชื่อมั่น และทำสิ่งที่หลงใหล” ดร.ป๋วย อุ่นใจ ในหัวข้อ “ฝึกฝนวิทยาศาสตร์....อย่างมีศิลปะ”
จะมีสักกี่คนที่ยอมเสียสละเงินส่วนตัว เวลาส่วนตัว หรือแม้กระทั่งความมั่นคงในหน้าที่การงาน มาทำเพื่อคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอย่างเต็มตัวและเต็มใจ บูม บีนได้ลาออกจากการเป็น CEO บริษัท IT แห่งหนึ่งแล้วผันตัวมาทำโครงการฮัก ซึ่งเป็นโครงการเพื่อปกป้องเด็กจากความรุนแรง การถูกละเมิดทางเพศ และการค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ และฟื้นฟู เยียวยาอย่างจริงจัง
“ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำ แล้วใครจะทำ” บูม บีน ผู้ก่อตั้งโครงการฮัก ในหัวข้อ “โครงการพี่ใหญ่ เพื่อปกป้องเด็กและต่อต้านการค้ามนุษย์ในภาคเหนือ“
ความฝันวัยเด็กของคุณคืออะไร? พีรดาฝันอยากเป็นนักบินอวกาศตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้ หลายคนอาจคิดว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ความจริงก็คือ พีรดากำลังจะเป็นนักบินอวกาศคนของแรกของไทยที่ได้ไปสำรวจอวกาศในปี 2015 เธอเป็น 1 ใน 23 คนที่ผ่านการคัดเลือก จากผู้เข้าแข่งขันนับล้านคนทั่วโลก
พีรดามีความสามารถพิเศษอะไรที่แตกต่างจากเราหรือเปล่า คำตอบคือเปล่าเลย พีรดามีฝันเหมือนที่เราทุกคนมี แต่พีรดาซื่อสัตย์กับความฝันของเธอและไม่ยอมปล่อยให้ความฝันของเธอหลุดลอยไป แม้จะยากลำบาก มีอุปสรรคมากแค่ไหน พีรดาก็สู้เพื่อทำฝันให้เป็นจริง
“ถามว่ากลัวมั้ย ถามว่ามีตรงไหนไม่กลัวดีกว่า แต่ให้เรากล้าออกไปทำ ทำทั้งที่กลัวนี่แหละ เพราะถ้าเราไม่ก้าวออกไป ความฝันเราอาจจะผ่านแล้วผ่านเลยก็ได้” พีรดา (มิ้ง) เตชะวิจิตร์ ผู้ที่กำลังจะเป็นนักบินอวกาศคนแรกของประเทศไทย ไปสำรวจอวกาศจากความสูง 100 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ในหัวข้อ การเดินทางสู่อวกาศ ในโครงการ ”AXE Apollo Space Academy”
“การได้มี Signature Design คงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” เป็นสิ่งที่ป๊อกเคยคิด ป๊อกพยายามค้นหา Signature Design ของตัวเองอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเส้นโค้ง เส้นตรง หรือซิกแซก แบบไหนที่เหมาะกับตัวเรา จนวันที่ป๊อกได้ดูคลิปวิดีโอหนึ่งของบรู๊ซ ลี ที่สอนให้เราเป็นดังน้ำ น้ำที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนไปตามภาชนะที่ใส่ ถ้าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือกาน้ำ สิ่งที่เราต้องโฟกัสคือน้ำที่อยู่ข้างใน ไม่ใช่กาที่เป็นเพียงเปลือกนอก
“จงเป็นดังน้ำ” ป๊อก คบคงสันติ สถาปนิกแนวหน้าของวงการภูมิสถาปัตยกรรมของไทย ในหัวข้อ “เป็นดังน้ำ”
ถ้าบอกว่าปิยพัชร์คือผู้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ Saxophone ด้วยการประดิษฐ์ Saxophone ที่มีน้ำหนักเบาที่สุด ราคาย่อมเยา และบำรุงรักษาง่ายที่สุด แถมเสียงยังไพเราะใกล้เคียงกับ Saxophone ทองเหลือง แน่นอนว่าทุกคนย่อมชื่นชมในความสามารถของปิยพัชร์ แต่รู้มั้ยว่าเบื้องหลังความสำเร็จนั้น ปิยพัชร์ต้องใช้ความพยายามและทุ่มเทกว่า 6 ปี ในการลองผิดลองถูก ทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน สิ่งที่นอกกรอบ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะสำเร็จหรือไม่ ความสำเร็จไม่ได้มาแบบโชคช่วยและไม่ได้มาง่ายๆ ทุกอย่างเกิดจากการลงมือทำทั้งนั้น
“ถ้าจะทำอะไรที่ยังไม่มีคนเคยทำ ก็เข้าไปลองแล้วทำดู” ปิยพัชร์ ธัญญะกิจ ผู้ประดิษฐ์ Saxophone พลาสติกที่ทำจากโพลีคาร์บอนเนต ซึ่งมีเสียงไพเราะ น้ำหนักเบา ราคาย่อมเยา และดูแลรักษาง่าย ในหัวข้อ “ความกลมกลืนของนวัตกรรมและดนตรี”
สายไฟระเกะระกะตามท้องถนน ต้นไม้อันน้อยนิดในเมืองใหญ่ อาจเป็นสิ่งที่หลายคนนึกบ่นและส่ายหน้า แต่ปิตุพงษ์สถาปนิกหนุ่มที่รักความเรียบง่ายกลับหยิบมันมาคิดต่อยอด ได้อย่างสนุกสนาน และสร้างสรรค์ ด้วยทักษะที่ด้านสถาปัตย์ที่มี ในเมื่อต้นไม้ถูกตัดเพราะบังแนวสายไฟ ปิตุพงษ์ก็สร้างไอเดียจับต้นไม้เจาะรูเพื่อให้ท่อสายไฟผ่าน เท่านี้ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งธรรมชาติและสิ่งปลูกสร้าง บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องทำลายอีกสิ่ง เพื่อรักษาอีกสิ่งก็ได้ หากเราลองคิดต่อสักนิด เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
“เราสามารถหยุดบ่นหรือต่อว่าสังคมของเรา แล้วร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นได้” ปิตุพงษ์ เชาวกุล สถาปนิก บริษัท ซุปเปอร์แมชชีน สตูดิโอ (Supermachine Studio) ผู้ที่เล่นสนุกและรักการสร้างสรรค์ผลงานจากสิ่งรอบตัว ในหัวข้อ “ความงาม ในความปกติธรรมดา”(The Beauty of Banality)
ตื่นมาเราทำอะไรกัน? ดูทีวี เล่น Facebook เร่งรีบออกไปทำงานจนลืมฟังเสียงนกน้อยรอบตัว หลายครั้งเราหว้าเหว่ เหงา และรู้สึกกลวงในจิตใจ นั่นอาจเพราะเราไม่ได้สัมผัสธรรมชาติบ้างเลย นพ.รังสฤษฎ์เล่าให้ฟังแบบติดตลกว่าที่จริงคนเราก็ชอบเข้าใกล้และสัมผัสธรรมชาติ เราขับรถไปตั้งไกลเพื่อไปดอยสูง แต่ด้วยวิถีคนเมืองเราอาจขาดทักษะในการสัมผัสมันอย่างแท้จริง เราจึงไปเพื่อถ่ายรูปกับป้ายใหญ่ๆ เช็คอิน Facebook เราหอบเอาเมืองมาเที่ยวด้วย
การเข้าใกล้ธรรมชาติอาจไม่ต้องถึงกับเข้าป่า ดูนก ปีนดอยสูง นพ.รังสฤษฎ์แนะนำว่าแค่ลองไม่ใช้รถยนต์ ลดกำแพงที่กั้นเราจากฝุ่นละออง เสียงดัง แล้วออกไปใช้ชีวิตให้ช้าลง สังเกตสิ่งรอบตัวดูบ้าง เท่านี้เราก็ได้สัมผัสธรรมชาติมากขึ้นแล้ว
“ถ้าเราใช้ชีวิตในเลนขวาตลอด แซงทุกอย่างอย่างรวดเร็วเพื่อไปถึงจุดหมาย เราก็อาจพลาดสิ่งต่างๆ ที่เป็นรายละเอียดในชีวิตเรามากมาย” นพ.รังสฤษฎ์ (หมอหม่อง) กาญจนะวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ผู้ร่วมก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ซึ่งเป็นเหมือนประตูที่เปิดให้คนทำความรู้จักและใช้ใจสัมผัสธรรมชาติ ในหัวข้อ“รื้อฟื้น สายสัมพันธ์ ธรรมชาติ”
บุคคลเหล่านี้แม้จะมีความสนใจที่แตกต่าง หลากหลาย แต่สิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้มีเหมือนกันคือความเชื่อ การลงมือทำ และใจที่ไม่ยอมแพ้ เราทุกคนก็สามารถประสบความสำเร็จในหนทางของตัวเองได้ ถ้าเรามุ่งมั่น เชื่อมั่น และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราไม่หยุดเดิน สักวันฝันต้องเป็นจริงอย่างแน่นอน
ล้อมกรอบ
TED คืองานประชุมที่จัดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการกระจายและเผยแพร่ความคิด แบ่งปันไอเดียผ่านการพูดในหลากหลายประเด็น ตั้งแต่ด้านวิทยาศาสตร์ ธุรกิจ การศึกษา การออกแบบ หรือแม้กระทั่งปัญหาสังคม โดย TED นั้นมีต้นกำเนิดที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้บรรยายจะมีเวลาคนละ 18 นาทีบนเวทีเพื่อแบ่งปันไอเดียเหล่านั้น
สำหรับที่ประเทศไทยก็มีการจัดงาน TEDx ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก TED ให้จัดงานในรูปแบบอิสระ ภายใต้ชื่อ TEDxChiangMai ซึ่งงาน TEDxChiangMai 2014 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้บรรยายกว่า 20 ท่านทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ร่วมถ่ายทอดไอเดีย ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจผ่านเวทีนี้
สำหรับใครที่สนใจสามารถติดตามชมคลิปวิดีโอดีๆ จาก TED ได้ที่ www.ted.com, www.facebook.com/TED.Thai, www.tedxchiangmai.com
ขอบคุณภาพจาก Facebook Ploypan Theerachai (Ploy), Facebook Peter Miller