ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สำหรับผู้คนที่เคยผ่านตาภาพยนตร์เรื่อง Grand Hotel Budapest ซึ่งนำเสนอความเป็นไปของโรงแรมในท้องถิ่นห่างไกลในนครสมมุติบนเทือกเขา Alpine ที่เต็มด้วยเรื่องราวและผู้คนที่ดำเนินผ่านช่วงเวลาแห่งความสุข-ทุกข์ ท่ามกลางวัฏจักรของความรื่นรมย์และตกต่ำ
ภาพของโรงแรมGrand Hotel ซึ่งหลบซ่อนอยู่ในเมือง Nuwara Eliya บนเขตทิวเขาและไร่ชาของศรีลังกาอาจให้ความรู้สึกที่ไม่ต่างกัน
ความเป็นไปของ Grand Hotel Nuwara Eliya จากเดิมที่เป็นเรือนพักตากอากาศของข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำศรีลังกา ก่อนจะเปลี่ยนสถานะมาสู่การเป็นโรงแรมในปี 1891 หรือเมื่อ 123 ปีที่แล้ว เพื่อรองรับผู้สัญจรผ่านทางและนักธุรกิจชาจากต่างแดน สะท้อนความมั่งคั่งและอดีตที่รุ่งเรืองของสถานที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุที่เป็นพื้นที่ในเทือกเขาสูงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 16 องศาตลอดทั้งปี และเป็นแหล่งเพาะปลูกและผลิตชาที่กว้างใหญ่ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของศรีลังกา ทำให้ Nuwara Eliya เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างพลวัตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
รูปทรงของอาคารในแบบ Elizabethan ได้รับการบูรณะให้กลับฟื้นคืนมีชีวิตชีวา เป็นลมหายใจใหม่ที่พราวเสน่ห์และดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากมายหลั่งไหลเข้ามาเสพและเก็บรับห้วงยามแห่งความสุนทรีย์ ควบคู่กับการศึกษา เรียนรู้มิติในเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และธรรมชาติ
ขณะเดียวกันวิถีที่ดำเนินไปใน Grand Hotel Nuwara Eliya ก็มีความน่าสนใจไม่แตกต่างจากภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูหรูหราอลังการ หากแต่ลึกลงไปในจิตใจของผู้คนในที่แห่งนี้ กลับเต็มไปด้วยความละเอียดประณีตในการหลอมรวมและการดูแลจิตวิญญาณของผู้คนได้อย่างลงตัว
ผลของการเป็นไร่และแหล่งผลิตชาที่กว้างใหญ่ ทำให้ในอดีตที่ผ่านมามีการนำชาวทมิฬจากถิ่นอื่นเข้ามาเป็นแรงงานในไร่ชาในพื้นที่ Nuwara Eliya และก่อให้เกิดชุมชนชาวทมิฬควบคู่กับชุมชนของกลุ่มชนอื่นๆ ทั้งชาวพุทธสิงหล คริสต์และมุสลิมที่มาพร้อมกับพ่อค้าจากต่างแดน เป็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นใน Nuwara Eliya เป็นการดำเนินไปท่ามกลางความเปราะบางระหว่างความร่วมมือหรือขัดแย้ง โดยเฉพาะในช่วงประวัติการณ์ของสงครามกลางเมืองที่ดำเนินเนิ่นนานกว่า 3 ทศวรรษ
“All God in one Roof” หรือที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิของทุกศาสนา เป็นมุมหนึ่งในโรงแรม Grand Hotel ซึ่งสะท้อนความพยายามที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติของพนักงานที่มีความแตกต่างหลากหลาย เป็นพื้นที่สำหรับการประชุมพนักงานในแต่ละเช้าและเป็นที่สำหรับประกอบศาสนกิจของผู้คนในแต่ละความเชื่อไปพร้อมกัน และขยายผลไปสู่การสร้างสำนึกร่วมกันว่าด้วย “All good in one Place” ในการให้บริการของโรงแรม
ความโดดเด่นและประวัติความเป็นไปของโรงแรมแห่งนี้ทำให้นิตยสาร National Geographic Traveller ถึงกับระบุให้ Grand Hotel Nuwara Eliya เป็นหนึ่งในหกจุดหมายสำคัญสำหรับการเยี่ยมชมสำหรับนักเดินทางหากมีโอกาสได้มาสัมผัสศรีลังกา ควบคู่กับ Adam’s Peak ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทให้ผู้จาริกได้สักการะ Sigiriya ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในฐานะตัวแบบของการวางผังเมืองในยุคโบราณ Sri Dalada Maligawa หรือวัดพระเขี้ยวแก้วในเมือง Kandy รวมถึง Golden Temple of Dambulla ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และอุทยานแห่งชาติ Yala ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของธรรมชาติ ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์นานาชนิด
ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งท่องเที่ยวทั้งในเชิงนิเวศน์ และสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความรุ่งเรืองในแต่ละยุคสมัยของศรีลังกา ควบคู่กับรอยยิ้มบนใบหน้าของชนพื้นถิ่นที่เรียบง่าย กลายเป็นทรัพยากรมีค่าที่เกื้อกูลการท่องเที่ยวของศรีลังกาอย่างไม่รู้จบ
เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อุดมด้วยมิติทางวัฒนธรรมและความรื่นรมย์ ไม่เร่งรีบหากแต่สงบเย็นและเปิดกว้างให้ผู้คนที่แสวงหาความจำเริญจากภายในได้ชื่นชมและเก็บรับอย่างไร้ขีดจำกัดแห่งจินตนาการ ซึ่งห่างไกลจากรูปแบบชีวิตสำเร็จรูปที่เกิดขึ้นและหาชมได้ในที่อื่นๆ
แต่ลำพังการมีอยู่ของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่ว่านี้ อาจไม่เพียงพอสำหรับความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งในทางเศรษฐกิจในอนาคต และทำให้โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมเพื่อประกอบส่วนให้กับความจำเริญเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมา
พลวัตทางเศรษฐกิจที่แวดล้อมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นประหนึ่งจักรกลสำคัญที่ได้รับความสนใจและเป็นธุรกิจที่โดดเด่นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่แล้ว ยังนับเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างงานและกระจายรายได้ให้กับพื้นที่ต่างๆ ของศรีลังกาได้อย่างรวดเร็ว ไม่นับรวมถึงการได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศที่ดำเนินควบคู่ไปพร้อมๆ กับการมาถึงและใช้จ่ายของนักเดินทางจากต่างแดน
โครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่เพื่อสร้างโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวของเครือข่ายโรงแรมชั้นนำของโลกต่างทยอยเกิดขึ้นในทุกเขตเมืองที่ได้รับการปักหมุดให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของศรีลังกา ซึ่งแม้ในด้านหนึ่งอาจจะให้ภาพของการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของศรีลังกาให้มีมาตรฐานตามแบบสากล แต่ในอีกมิติหนึ่งกลับมีส่วนสั่นคลอนเสน่ห์ของศรีลังกา และเบียดแย่งพื้นที่ของนักธุรกิจท้องถิ่นไปโดยปริยายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อยที่ดำเนินธุรกิจ boutique hotel ในแต่ละพื้นถิ่นไม่น้อยเลย
ความเป็นไปของเมืองอย่าง Galle เมืองชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกซึ่งอยู่ถัดลงมาจากโคลัมโบไปทางทิศใต้ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่อุดมด้วยประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ของศรีลังกา เป็นตัวอย่างหนึ่งของกรณีที่ว่านี้
พัฒนาการที่เริ่มต้นจากการเป็นเมืองท่าที่มีการสัญจรและติดต่อค้าขายกับโลกภายนอกมาอย่างยาวนาน นอกจากจะทำให้ Galle เป็นแหล่งศึกษาทางโบราณคดีใต้ท้องทะเลที่สะท้อนภาพความรุ่งเรืองของ Serendib ชื่อดั้งเดิมของศรีลังกาแล้ว การสร้างตัวของชุมชนและวิถีชีวิตที่จำเริญรุ่งเรืองในอดีตที่มีความหลากหลายทั้งในมิติของชาติพันธุ์และความเชื่อทางศาสนาให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็เป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเลย
เสน่ห์ของ Galle ในฐานะเมืองท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ที่การมีโรงแรมหรูระดับห้าดาวขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านรองรับนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับรสบัสคันใหญ่ หากแต่เป็นการแทรกตัวอยู่ของ boutique hotel ขนาด 7-8 ห้องพัก ที่แทรกตัวอยู่ร่วมกับชุมชนและร้านรวงในเขตเมืองเก่า
มิติที่ว่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัส Galle ไม่ได้ถูกตัดขาดจากชุมชน หากแต่ถูกผสานให้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่กลมกลืนเข้ากับความเป็นไปของชุมชนไปโดยปริยาย เป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิถีทางวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ และเก็บรับประสบการณ์ใหม่ที่ย่อมไม่สามารถหาได้ในบริบทที่ถูกระบุว่าเป็นมาตรฐานสากล
จริงอยู่ที่ว่านักท่องเที่ยวแต่ละรายย่อมมีความประสงค์และมุ่งหมายในการเดินทางแตกต่างกัน ไม่นับรวมถึงความคาดหวังในบริการจากราคาและเวลาที่ได้จ่ายไป หากแต่ความพยายามที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นส่วนหนึ่งในการหนุนนำระบบเศรษฐกิจของศรีลังกาอาจมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่านั้น
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีลังกาในวันนี้จึงเป็นประหนึ่งจุดตัดระหว่างการเลือกมุ่งหน้าสู่การเป็น world destination ที่อุดมด้วยผู้ประกอบการระดับนานาชาติและมาตรฐานสากล หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในแต่ละพื้นถิ่นนำรากฐานทางวัฒนธรรมและวิถีชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เลือกเก็บรับประสบการณ์
จุดขายสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีลังกาในมิติที่ว่านี้ คงเป็นคำถามที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้นำศรีลังกาเท่านั้น หากเป็นคำถามที่คงเกิดขึ้นแล้วในหมู่ชนชาวศรีลังกา ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรนี้