ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขณะที่สังคมไทยกำลังให้น้ำหนักกับการคืนความสุขให้กับประชาชน และวาทกรรมบนแท่น Podium อีกฟากหนึ่งในมหาสมุทรอินเดีย ประเทศเล็กๆ ที่มีจำนวนประชากรประมาณ 22 ล้านคน กำลังให้การต้อนรับผู้นำระดับสูงของชาติมหาอำนาจสำคัญ 2 รายในเวลาไล่เรียงกัน
การเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของ Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน ติดตามมาด้วยการเยือนของ Xi Jinping ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน ได้สะท้อนภาพที่น่าสนใจในกลเกมยุทธศาสตร์และการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงถึงความมุ่งหมายของศรีลังกาที่จะสร้างแรงบันดาลใจและความรุ่งเรืองครั้งใหม่ผ่านโครงการ Colombo Port City ซึ่งจะเป็นประหนึ่งจุดเชื่อมต่อที่สำคัญสำหรับการเดินทางใน21st Century Maritime Silk Route ที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ
อภิมหาโครงการลงทุนขนาด 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐนี้ ถือเอาโอกาสการเดินทางเยือนศรีลังกาของ Xi Jinping ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นปฐมฤกษ์ในการเริ่มต้นก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา และกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มต้นปลุกพลังทางเศรษฐกิจของศรีลังกาให้กลับมาคึกคักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
Colombo Port City จึงเป็นประหนึ่งไฮไลต์ของการเยือนศรีลังกาโดยผู้นำจีนในครั้งนี้ และกำลังจะเป็นการพลิกเปลี่ยนภูมิทัศน์ของศรีลังกาไปตลอดกาล
โครงการที่ประกอบส่วนไปด้วยอาคารสำนักงาน กลุ่มโรงแรม อพาร์ตเมนต์ ศูนย์การค้า ศูนย์กีฬา สนามกอล์ฟขนาดเล็ก ที่จะดำเนินการก่อสร้างโดย China Harbour Engineering Company ภายใต้ MOU ระหว่าง Sri Lankan Port Authority กับรัฐวิสาหกิจของจีน China Communications Construction Co. นี้จะใช้เงินงบประมาณลงทุนมากถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และนับเป็นโครงการการลงทุนจากต่างชาติที่มีมูลค่าสูงสุดของศรีลังกา
การเกิดขึ้นและความมุ่งหมายของการลงทุนจากจีนในโครงการนี้ ในด้านหนึ่งคือการสร้างตำแหน่งใหม่(repositioning) ให้โคลัมโบเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน และแหล่งสันทนาการแห่งใหม่ของเอเชียในอนาคต ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้แต่อย่างใด
แต่เหรียญย่อมต้องมีสองด้าน และในความเป็นจริงก็คือ ข้อเท็จจริงต่างๆ ล้วนประกอบส่วนไปด้วยความคิดเห็นที่หลากหลาย
รัฐบาลศรีลังกาให้น้ำหนักต่อการเยือนของ Xi Jinping โดยได้เตรียมการให้การต้อนรับอย่างสูงสุด และถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญยิ่งสำหรับความสัมพันธ์จีน-ศรีลังกา โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารสำคัญการเยือน ควบคู่กับความตกลงและบันทึกความเข้าใจรวมทั้งหมด 27 ฉบับ ซึ่งย่อมประเมินค่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดมหึมา
ความร่วมมือและความช่วยเหลือจากจีนสู่ศรีลังกา เน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือในอภิมหาโครงการ (Mega Project) ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจสังคมของศรีลังกาแบบฉับพลันทันที โดยนับตั้งแต่ปี 2007 เมื่อราชปักษาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา พร้อมกับแสดงจุดยืนอย่างแข็งขันที่จะยกระดับความสัมพันธ์จีน-ศรีลังกา ไปสู่การเป็น Strategic Cooperative Partnership และประสงค์ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดด้านการค้าการลงทุนกับจีน ก็เป็นประหนึ่งการเปิดศักราชใหม่ให้บรรษัทผู้ประกอบการจากจีนพาเหรดเข้ามาลงทุนในศรีลังกาอย่างเอิกเกริก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของศรีลังกา
หากประเมินในมิติที่ว่านี้ความสัมพันธ์จีน-ศรีลังกา คือกุญแจสำคัญที่ราชปักษาและพลพรรคทางการเมืองของเขาได้เลือกแล้วว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาความรุ่งเรืองมาสู่ศรีลังกา หรืออย่างน้อยทำให้เขาสามารถครองความนิยมในหมู่ประชาชน จากผลของพัฒนาการทางเศรษฐกิจท่ามกลางความเหนื่อยล้าจากภาวะสงครามที่ยาวนาน
ผลตอบแทนที่ราชปักษาได้รับ นอกจากจะเป็นการค้าการลงทุนจากจีน ซึ่งได้ขยับบทบาทให้ขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของศรีลังกาแล้ว ยังควบคู่กับการเสนอให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคทั้งระบบรถไฟ ถนน รวมถึงการสร้างท่าเรือน้ำลึกเมืองHambantota สนามบินนานาชาติ Mattala Rajapaka International Airport และโรงกลั่นน้ำมันที่เมือง Hambantota ซึ่งอยู่ห่างจากโคลัมโบไปทางตอนใต้ 240 กิโลเมตร และเป็นเมืองบ้านเกิดของ Mahinda Rajaapaksa ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของศรีลังกา ภายใต้มูลค่าความช่วยเหลือรวมเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ความเป็นไปของโครงการ Mega Projects ของจีนในศรีลังกาหลายโครงการมีลักษณะเป็น economic oriented ซึ่งมีมาตรวัดและจุดเน้นไปที่การสร้างความทันสมัยและการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของศรีลังกาอย่างรวดเร็วและเต็มที่ ซึ่งมีแนวโน้มจะฉีกถ่างช่องว่างของการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบทของศรีลังกาให้ห่างกันมากขึ้นไปอีก และทำให้ภาพลักษณ์ของจีนในระดับมวลชนพื้นฐานเป็นไปในทางลบ เพราะยังไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะได้รับประโยชน์จากอภิมหาโครงการหลากหลายโครงการนี้อย่างไร
อย่างไรก็ดี ความคิดคำนึงแบบฉับไวได้ผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นจากท่วงทำนองของนโยบายจากจีนนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรณีการดำเนินนโยบายต่อศรีลังกา ซึ่งมีสถานะเป็นประเทศเกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรอินเดียเท่านั้น หากวิถีและความคิดคำนึงดังกล่าว เป็นประหนึ่งธงนำในการดำเนินนโยบายกับทุกประเทศที่จีนสัมพันธ์ด้วย
จีนให้ความสำคัญกับการลงทุนและความช่วยเหลือในโครงการสาธารณูปโภคของศรีลังกาอย่างแข็งขัน ทั้งโครงการทางด่วนหมายเลข E03 หรือ Colombo-Katunayake Expressway ซึ่งเป็นทางด่วนสายที่สองของศรีลังกา เชื่อมโยงเส้นทางจากกรุงโคลัมโบถึงสนามบินนานาชาติ Bandaranaike รวมถึงเมือง Katunayake และ Negombo ด้วยงบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจีนดำเนินนโยบายเหล่านี้ผ่านทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (Exim bank of China)
นอกจากนี้ยังมีโครงการทางด่วน Northern Highway โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน Norochcholai Lakvijaya โครงการชลประทาน Moragahakanda Multi-purpose Irrigation Project โดยมีโครงการ Lotus Tower ซึ่งจะเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ และเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมใหม่ของกรุงโคลัมโบและ ศรีลังกา เป็นโครงการที่รอสร้างความตื่นตาตื่นใจในอนาคตอันใกล้
ความหวาดระแวงที่มีต่อการเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจจีน ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับปัญหาทางสังคมใหม่ๆ และข้อสงสัยเกี่ยวกับการเบียดบังผลประโยชน์ของกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการ รวมถึงกระแสวิพากษ์เกี่ยวกับความไม่สมดุลในการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งความกังวลใจและไม่พึงใจเหล่านี้อาจรอวันที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองภายในของศรีลังกาในอนาคต
ภายใต้ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์และพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ซึ่งเคยส่งให้ศรีลังกาเป็นจุดเชื่อมผ่านผู้คนจากดินแดนต่างๆ มาแล้วในอดีต และกำลังมีความสำคัญต่อแนวโน้มของโลกสมัยใหม่ (modern global trends) โดยเฉพาะจากแนวความคิดของจีนที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนา 21st century Maritime Silk Route การเป็นเวทีประลองกำลังของเหล่าชาติมหาอำนาจคงเป็นกรณีที่ยากจะหลีกเลี่ยง
และการเดินทางเยือนศรีลังกาโดย Shinzo Abe และ Xi Jinping ซึ่งต่างเป็นผู้นำของชาติเอเชียที่มีนัยความหมายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงระหว่างประเทศในห้วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ได้ส่งผลให้เกิดภาพเปรียบเทียบความเป็นไปในระบบความสัมพันธ์ของศรีลังกากับมหาอำนาจทั้งสองอย่างยากจะปฏิเสธ แม้ว่าบริบทความสัมพันธ์ศรีลังกา-จีน และศรีลังกา-ญี่ปุ่น รวมถึงท่วงทำนองที่แต่ละฝ่ายดำเนินการให้เป็นไปจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจนแทบไม่มีสิ่งใดเหลือให้ต้องเปรียบเทียบ
หากกล่าวในเชิงประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นและศรีลังกามีความผูกพันต่อกันมาอย่างยาวนานผ่านกระบวนการความสัมพันธ์แบบผู้ให้-ผู้รับ มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 โดย ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistant) กับศรีลังกา ในโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาชนบท และการพัฒนาพื้นที่ในเขตความขัดแย้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของศรีลังกามาอย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่นจึงมีสถานะเป็นมหาอำนาจใจดีเมื่อครั้งอดีตที่หายหน้าไปจากฉากชีวิตของศรีลังกาไปเนิ่นนาน
ซึ่งแม้ Shinzo Abe จะนับเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกที่มาเยือนศรีลังกาในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ Toshiki Kaifu เดินทางมาเยือนศรีลังกาเมื่อปี ค.ศ. 1990 แต่สายสัมพันธ์ในอดีตเมื่อครั้ง Nobusuke Kishi ซึ่งเป็นคุณตา (Grandfather) ของ Shinzo Abe เป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นคนแรกที่มาเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ค.ศ. 1957 ก็เป็นจุดเชื่อมประสานที่สะท้อนความสัมพันธ์ของสองประเทศได้เป็นอย่างดี
และนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีมหินทะ ราชปักษา ซึ่งอยู่ในฐานะ Head of State ของศรีลังกาให้ความสำคัญและเดินทางไปต้อนรับ Shinzo Abe ที่มาเยือนศรีลังกาในกรอบ Official Visit ในระดับหัวหน้ารัฐบาล (Head of Government) ที่ท่าอากาศยาน Bandaranaike International Airport ด้วยตนเอง
ขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ ท่าอากาศยาน Bandaranaike International Airport (BIA) ซึ่งเป็นประตูเชื่อมศรีลังกาเข้ากับโลกทางอากาศแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการก่อสร้างมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1984-1988 แต่ด้วยสภาวะสงครามภายในของศรีลังกาทำให้การพัฒนาหยุดชะงัก และญี่ปุ่นได้เริ่มโครงการพัฒนา BIA อีกในช่วงปี ค.ศ.2003 โดยล่าสุดโครงการพัฒนา BIA ระยะที่ 2 stage 2 ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงการเยือนของ Shinzo Abe นี้ด้วย
ความสัมพันธ์แบบผู้ให้-ผู้รับ ของญี่ปุ่นและศรีลังกาเช่นว่านี้ ดำเนินมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 โดยญี่ปุ่นได้ให้ ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistant) กับศรีลังกา ในโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาชนบท และการพัฒนาพื้นที่ในเขตความขัดแย้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของศรีลังกามาอย่างต่อเนื่อง
โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.1965-2013 ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปของเงินกู้ระยะยาวและช่วยในด้านวิชาการ โดยผ่านการดำเนินงานของ Japan International Cooperation Agency (JICA) คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,500 พันล้านรูปี ศรีลังกา (ประมาณ 1,190 พันล้านเยน) ซึ่งโครงการ ODA ของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการพัฒนาโครงการด้านสาธารณูปโภค ด้านสาธารณสุข
ซึ่งการเดินทางเยือนศรีลังกาในครั้งนี้ ญี่ปุ่นก็เน้นย้ำการให้ความช่วยเหลือทั้งในโครงการเพื่อการพัฒนาชนบทและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง เพื่อสนับสนุนกระบวนการปรองดองของศรีลังกา และการให้ความช่วยเหลือโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน Bandaranaike ระยะที่ 2 รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นจะเพิ่มความร่วมมือในโครงการก่อสร้างทางด่วน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพิ่มความร่วมมือด้าน IT และ ICT การเพิ่มความร่วมมือด้านการขนส่ง และการพัฒนา mass rapid transit system และการให้ New Energy and Industrial Technology Development (NEDO) ศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ Trincomalee และการใช้พลังงาน clean coal technology
แต่ประเด็นที่แหลมคมและน่าพิจารณามากกว่าฉากความสัมพันธ์ที่ว่านี้ อยู่ที่ข้อตกลงที่จะขยายความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและศรีลังกา ซึ่งต่างเป็นประเทศเกาะและอยู่ไกลกันคนละฝั่งมหาสมุทรไปสู่การเป็น “A new partnership between Maritime Countries” โดยเพิ่มความร่วมมือและบทบาทในเสถียรภาพและความมั่นคงของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย
รูปธรรมที่ติดตามมาอีกประการหนึ่งในการเยือนครั้งนี้ ก็คือความตกลงในการจัดตั้ง Sri Lanka-Japan Dialogue on Maritime Security and Oceanic Issues โดยศรีลังกาประสงค์จะเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาท่าเรือ และ marine education ขณะที่ญี่ปุ่นมุ่งหมายที่จะให้ศรีลังกาเพิ่มความร่วมมือและอำนวยความสะดวกให้กับกองกำลังป้องกันตนเอง (Japan Maritime Self-Defense Force : JMSDF) รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือระหว่างกองยามฝั่ง (Coast Guard) ของทั้งสองประเทศ
การดำรงสถานะของญี่ปุ่นในการเป็นผู้ให้และการดำเนินนโยบาย soft diplomacy อย่างเป็นระบบมายาวนานส่งผลให้ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นในสังคมศรีลังกาเป็นไปในทิศทางบวก และซึมลึกลงไปสู่รากฐานทางวัฒนธรรมถึงขนาดที่ศัพท์บัญญัติในภาษาสิงหล มีคำว่า “Japana Hapana” ที่แปลความหมายชื่นชมทักษะและความสามารถของชาวญี่ปุ่น (Japanese the talented) กันเลยทีเดียว
แม้ญี่ปุ่นจะสามารถครองความรู้สึกที่น่าประทับใจในมิติของหมู่ชนทั่วไป แต่บริบทแห่งยุคสมัยมีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นอนิจจลักษณะ และการมาเยือนศรีลังกาของผู้นำจีนในห้วงยามที่ใกล้เคียงกันนี้ เป็นมาตรวัดและภาพสะท้อนการเปลี่ยนผ่านของพลวัตการพัฒนาในศรีลังกานี้เป็นอย่างดี
หากแต่ศรีลังกาจะสามารถสร้างสมการที่สมดุลในกลเกมของชาติมหาอำนาจที่ทยอยเข้ามาหยิบยื่นและแสวงประโยชน์จากความสัมพันธ์เหล่านี้อย่างไร นี่จึงเป็นปัญหาที่ทั้งผู้นำและประชาชนชาวศรีลังกาคงต้องนำพาหาคำตอบเพื่อสร้างประชารัฐที่มั่นคงและมั่งคั่งอย่างแท้จริงต่อไป