xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” โปรดแซ่บ...“สปช.” ล็อกไม่ว่า แต่อย่า “ยี้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นที่โจษจันกันไปทั้ง 7 คุ้งน้ำเลยทีเดียวสำหรับเรื่องราวของ “สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)” ที่มี “รอยด่าง” ปรากฏให้สังคมได้เห็นในระยะเวลาใกล้เคียงกันอย่างไม่น่าเชื่อ

รอยด่างแรกก็คือ เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สปช. เพราะในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ก็ลงนามคำสั่งยกเลิกคำสั่งของตนเองจนสร้างความฉงนฉงวยให้กับสังคมและเก็บไปวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกปาก

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 131 ตอนพิเศษ 183 ง ได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 117/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก สปช. โดยระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหา สปช.2557 คสช.จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก สปช.จำนวน 14 คนซึ่งล้วน่แล้วแต่เป็นข้าราชการทหารและตำรวจทั้งสิ้น ประกอบด้วย

1. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ, รมว.การต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) 2. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน และปลัดกระทรวงกลาโหม 3. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ และผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) 4. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) .5 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และรองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) 6. พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก 7. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ และผู้ช่วย ผบ.ทบ. 8. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และผู้ช่วย ผบ.ทบ. 9. พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. 10. พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิก สนช. และหัวหน้าคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป กระทรวงกลาโหม 11. พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ รอง ผบ.ทร. 12. พล.อ.อ.สฤษดิ์พงษ์ โกมุทานนท์ รอง ผบ.ทอ. 13.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ 14.พล.อ.อุทิศ สุนทร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายและสั่งการของผู้บังคับบัญชาในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะกรรมการฯ ทั้ง 14 คนยังไม่ทันได้ทำหน้าที่ ช่วงค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2557 คสช.ก็ออกประกาศ คสช. ที่ 121/2557 เรื่องยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 117/2557

เหตุที่ต้องยกเลิกก็เพราะความผิดพลาดของบรรดา “เนติบริกร” ที่ทำงานให้ คสช.เขียนคำสั่งโดยที่มิได้อ่านรัฐธรรมนูญที่ตนเองเป็นคนร่างมากับมือ ทำให้คำสั่ง คสช.ที่ 117/2557 ขัดกับรัฐธรรมนูญเสียเอง โดยที่มาตรา 30 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้กำหนดให้ คสช.คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น สปช.จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ จำนวนไม่เกิน 250 คน ดังนั้น อำนาจในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น สปช.ให้เหลือจำนวนดังกล่าว จึงเป็นอำนาจของ คสช.ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

งานนี้ เรียกว่าหน้าแตกชนิดหมอไม่รับเย็บกันเลยทีเดียว

เดชะบุญที่ยังไหวตัวทัน ไม่เช่นนั้นคัดเลือกเสร็จสรรพก็ต้องมีอันโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญจะทำนิติกรรมอะไรในการปฏิรูปประเทศก็โมฆะไปด้วยตามตัวบทกฎหมายสูงสุดของประเทศ

และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน รอยด่างรอยที่สอง ของ สปช.ก็เกิดขึ้นมา เมื่อปรากฏข้อมูลแพร่สะพัดไปทั่วทุกขอบขัณฑสีมาเกี่ยวกับการ “ล็อกสเปก” เก้าอี้ สปช. โดยเฉพาะ สปช.ประจำจังหวัดที่มีการเปิดหน้าร้องเรียนเข้ามาเป็นกระบุงโกย

ยกตัวอย่างเช่นที่จังหวัดพังงา

นายสายันห์ หัสนัย อดีตกลุ่มแนวร่วม กปปส.พังงา นำชาวบ้านจำนวนหนึ่งในนามกลุ่มประชาชนจังหวัดพังงา เข้ายื่นหนังสือต่อนายประยูร รัตนเสนีย์ รักษาการผู้ว่าฯพังงา ผ่านไปยัง คสช. เรื่องพบความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหา สปช.จ.พังงาทั้ง 5 คน

หนังสือร้องเรียนระบุว่า ได้มีการกำหนดตัวบุคคลเอาไว้ล่วงหน้าว่าใครจะได้รับการเสนอชื่อ และมาจากองค์กรใดบ้าง โดยมีข่าวจากวงในว่าตัวแทนจากกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการเสนอชื่อมากกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นหากต้องการให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและสมานฉันท์ กรรมการสรรหาก็จะต้องมีจริยธรรมและมโนสำนึกในการคัดสรรบุคคลด้วย

กล่าวสำหรับที่พังงา “สมชาย แสวงการ” สมาชิก สนช.คนกันเองของ คสช.ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ที่พังงา ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ประธานสภา อบจ. ที่ปรึกษา อบจ. ประธานหอการค้าและอบต. ซึ่งได้ข้อมูลว่าสรรหาลักษณะนี้อีกหลายจังหวัดมาก ไม่ว่าจะเป็นสมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น อุบลราชธานี ควรจะมีการตรวจสอบ”

เช่นเดียวกับที่ นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ อดีตรองประธานวุฒิสภา และอดีต สว.สุรินทร์แฉว่า การสรรหา สปช.ที่สุรินทร์มีความไม่โปร่งใส เพราะกรรมการสรรหาคนหนึ่งเป็นนายกอบจ. แต่ผู้เข้ารับการสรรหารายหนึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นลูกเขย นอกจากนี้ยังมีอีก 1 จังหวัดในภาคอีสานที่กรรมการสรรหาเป็นสามี ผู้รับการสรรหาเป็นภรรยา

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่กระบวนการคัดเลือกซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผยให้สังคมได้รับรู้เลยแม้แต่น้อยอีกต่างหาก ดังเช่นที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ตามปกติหลักการคัดเลือกคนมาทำงาน โดยเฉพาะการสรรหาที่ใช้คำอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ควรต้องเปิดเผยโปร่งใส ประกาศให้สังคมรู้เพื่อจะร่วมตรวจสอบได้ว่าเป็นคนดีจริง มีความรู้ความสามารถจริงหรือไม่ ไม่ใช่ปกปิดเช่นนี้ และเคยบอกแต่ต้นแล้วว่าที่สุดก็เป็นแค่กรรมการที่ผลัดกันเกาหลัง คือตัวแทนกรรมการที่คัดเลือก 5 ฝ่ายของจังหวัดที่มี ผวจ. หัวหน้าศาล ประธาน กกต.จังหวัด นายก อบจ.และตัวแทนองค์กรเอกชน แต่ละคนไปเลือกคนมา 3 คน รวม 15 คนแล้วคัดเหลือ 5 คน ก็ต้องเลือกคนที่ตัวเองเสนอมาแต่ละคน

“การสรรหาที่ระบุให้เป็นความลับ ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมต้องลับ แทนที่จะให้ประชาชนแต่ละจังหวัดตรวจสอบว่าตรงใจหรือไม่ เช่น อดีต ส.ว.ที่ออกมาให้ข่าว ทำงานในพื้นที่ พบปะชาวบ้านจนชาวบ้านยอมรับเลือกมาได้คะแนนเป็นแสน แต่ไม่ถูกเลือกไปเลือกอดีตข้าราชการ หรือคนที่ชาวบ้านไม่รู้จัก ยิ่งเป็นความลับก็ไม่รู้ว่า ผวจ.จะเลือกลูกน้องตัวเอง นายก อบจ.จะเลือกอดีต ส.จ.สอบตกมาเป็น สปช.หรือไม่ ออกจะแปลกประหลาด ถ้ากล้าประกาศให้สังคมรู้ชื่อทั้ง 15 คนว่ากรรมการแต่ละคนเสนอชื่อใครมา และเลือกเหลือ 5 คนเป็นใครบ้าง เมื่อตรวจสอบจะรู้ว่าผลัดกันเกาหลังจริงหรือไม่”นายนิพิฏฐ์กล่าว

เช่นเดียวกับ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ที่ให้ความเห็นว่า คสช.ต้องชี้แจงประเด็นที่ถูกสงสัยให้ชัดเจน เช่น การใช้หลักเกณฑ์ใดในการคัดเลือก สปช. แต่ละด้าน จากที่แต่ละด้านคัดเลือกและส่งชื่อไปด้านละ 50 คน จะใช้หลักเกณฑ์หรือวิธีใดเลือกให้เหลือเพียงด้านละ 10 คน รวมถึงวิธีการเลือก หรือจะใช้คุณสมบัติพิเศษใดเป็นเกณฑ์เพื่อเลือก สปช. ประจำจังหวัด จากที่จังหวัดส่งชื่อมาจังหวัดละ 5 คน ให้เหลือจังหวัดละ 1 คน เพื่อให้ประชาชนสบายใจ แต่หาก คสช. ไม่ชี้แจงและไม่ใส่ใจต่อการตอบคำถาม แล้วได้รายชื่อ สปช. ออกมา 250 คน ที่ทำให้ประชาชนร้องยี้ อาจกระทบการทำงานปฏิรูปในอนาคต ในแง่ของการไม่ให้ความร่วมมือ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลได้ และอาจส่งผลให้การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. นั้นเสียของ

ทั้งนี้ แต่เดิมเข้าใจว่า คสช. จะเปิดรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น สปช. ในรอบแรก เพื่อให้ประชาชนร่วมพิจารณาและตรวจสอบ แต่เมื่อไม่เปิดเผยชื่อก็เข้าใจได้ว่าเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย แต่หากกังวลในประเด็นความวุ่นวายโดยไม่สะสางความคลางแคลงใจของประชาชน อาจกระทบต่อการปฏิรูปได้ แต่หาก คสช. เลือกที่จะชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการต่างๆ อาจทำให้ประชาชนคลายข้อสงสัย และเมื่อผลคัดเลือกรอบสุดท้ายออกมาแม้จะไม่ได้ดีที่สุด ประชาชนก็ยังปรบมือให้และคลายกังวล

ด้าน นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ถ้าหากมีการเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาในรอบแรก หรือเปิดเผยเกณฑ์การให้คะแนนและคุณสมบัติที่นำมาพิจารณา จะทำให้รู้สึกว่ามีความชัดเจนมากขึ้นในการสรรหา รวมทั้งประชาชนจะรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมและคิดว่าสภานี้เป็นตัวแทนและส่วนหนึ่งของพวกเขา กระแสเรื่องความไม่โปร่งใสจะลดลงไปได้

และฉับพลันที่ปรากฏข้อมูลเรื่อง “ล็อกสเปก สปช.” ปรากฏต่อสาธารณะ ก็เล่นเอาพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์คือ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกับควันออกหูเลยทีเดียวเมื่อมีการสอบถามถึงเรื่องดังกล่าว

“ล็อกสเปกไหน พูดหลายทีเหลือเกิน ล็อกยังไง เล่าให้ผมฟังซิ หนูลองล็อกซิ” พล.อ.ประวิตร หันหน้าไปยังผู้สื่อข่าวที่ถามพร้อมกล่าวพร้อมน้ำเสียงไม่ พอใจ

เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่า แต่มีการตั้งข้อสังเกต พล.อ.ประวิตรยังคงตอบด้วยน้ำเสียงไม่พอใจอีกว่า “จะล็อกยังไงบอกซิครับ คุณต้องบอกซิวิธีล็อก เขาล็อกยังไง คนสมัครตั้ง 7,000 คน จะล็อกยังไง และมีคณะกรรมการสรรหา สปช.ตั้ง 77 คน ด้านละ 7 คน ใน 11 ด้าน อย่าไปพูดล็อกสเปก ล็อกยังไงบอกด้วย ผมอยากล็อก มันล็อกได้ไหม ล็อกได้ไหมคะ ล็อกยังไง มันไม่ได้ คนเขามีตำแหน่งหน้าที่ เป็น ดร. เป็นศาสตราจารย์ทั้งนั้น ทุกคนอยากทำหน้าที่ของตัวให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นอย่าไปพูด ไม่ดีหรอกครับ ถามนำในทางที่ไม่ดี ถ้าน้องทำได้บอกวิธีล็อกสเปกมา”

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า สปช.ที่ได้จะเป็นที่มั่นใจของประชาชน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า พยายามหาในทุกภาคส่วน แต่จะให้ทุกคนยอมรับได้หมดหรือไม่ ตนไม่ทราบ พยายามหาทุกพื้นที่ หาผู้ที่มีคุณวุฒิตั้งแต่ปริญญาเอกลงมาจนถึงไม่มีปริญญา และมีทุกอาชีพให้มีความรู้หลากหลาย เพื่อจะมาปฏิรูปทุกเรื่องใน 11 ด้าน

หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปในท่วงทำนองเดียวกับ พล.อ.ประวิตรว่า “ล็อกได้อย่างไร ผมไม่รู้ว่าล็อกอย่างไร ทางจังหวัดเขาก็เลือกมาโดยคณะกรรมการตั้งหลายคน ส่วนคณะกรรมการสรรหาก็มีถึง 70 กว่าคน เท่าที่ทราบไม่ใช่ใครรู้จักคนนั้นคนนี้ แต่เขาใช้โหวตคะแนนกัน”

นั่นคือทัศนะของ พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ที่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องการล็อกสเปก สปช. ซึ่งต้องถือว่าผิดไปจากความคาดหมาย เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องโคมลอยในลักษณะของบัตรสนเท่ห์หรือใบปลิว หากแต่มีผู้ที่เปิดหน้าร้องเรียนและให้ข้อมูลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่จะว่าไปแล้วก็สอดคล้องกับสิ่งที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรียืนยันว่า “เห็นร้องเรียนกันมา แต่จริงหรือไม่ยังไม่รู้ แต่ไม่น่าจะเรียกว่าล็อกสเปก เพราะรายชื่อทั้งหมด 550 คนส่งครบแล้ว และเห็นหมดแล้ว คนดี คนเด่น คนดังเข้ามามาก”

...เอาเป็นว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรบอกว่าไม่ล็อก ก็เชื่อว่าไม่ล็อกก็แล้วกัน เพราะไม่ว่าจะล็อกหรือไม่ล็อก ถึงอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว

ถามว่าการล็อกสเปกเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงหรือไม่?

ตอบได้ทันทีเลยว่า ไม่น่าเป็นห่วงเลยแม้แต่น้อย เพราะไม่ว่าจะมีการล็อกหรือไม่ล็อกสเปก สปช.จะมีหน้าตาเป็นเช่นไร คสช.จะเคาะชื่อใครเข้ามาเป็น 250 สนช. ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน คนของ กปปส.จะเล็ดลอดเข้ามาบ้างหรือไม่ เพราะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า อาจมีน้อยมากถึงขั้นไม่มีเลย หรือจะเต็มไปด้วย “สีเขียว-สีกากี” ผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือย่อมหนีไม่พ้น คสช.อยู่ดีดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และเวลานี้รายชื่อของ สปช.ที่ผ่านการคัดเลือกได้ถูกส่งมาอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เพียงแต่อาจจะต้องตอบคำถามมากสักหน่อยว่า ทำไมถึงออกมาเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะด้านการปฏิรูปพลังงานที่ถูกภาคประชาชนจับตามองมากเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าหากมีแต่ สปช.สายเดียวกับคณะกรรมการสรรหาด้วยแล้ว ยิ่งเกิดคำถามเยอะ

ถ้า สปช.ทำดี คสช.ก็ได้ดีตามไปด้วย

ถ้า สปช.ทำไม่ดี คสช.ก็ต้องรับผิดชอบในทุกกรณี เนื่องจาก คสช.คือองค์รัฏฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินและเป็นผู้คัดเลือก สปช.มากับมือเพื่อเป็นมือเป็นไม้ในการปฏิรูปประเทศ

หรือสรุปสั้นๆ ง่ายๆ แต่ได้ใจความคือ “ล็อกสเปกไม่ว่า อย่ายี้ก็แล้วกัน”

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.....


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น