xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทยปัญหาของคนไทย (7) : เรื่องปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ตอน ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ (Endless Conflict)

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ

ได้มีผู้อ่านหลายท่านสอบถามมาว่า ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งทางด้านศาสนาใช่หรือไม่ ก็ขอตอบว่า ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องศาสนาแต่อย่างใด แต่ศาสนาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะกลุ่มก่อการร้ายได้ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการชักจูงเยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่ให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก่อการร้ายหรือขู่บังคับให้ยอมเป็นแนวร่วมของกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอกล่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจถึงปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยจะขอเริ่มจากข้อความในหนังสือเรื่อง ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ(Armed Conflict) การก่อการร้าย (Terrorism) และแนวทางการแก้ไขปัญหา ในหน้าที่ 11-13 ซึ่งระบุว่า

“โดยทั่วไปแล้วความขัดแย้งเป็นสถานการณ์ปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกสังคมมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์ไม่เพียงมีความต้องการที่ไม่มีขอบเขตจำกัดที่แน่นอนเท่านั้น แต่มนุษย์ยังต้องการปฏิบัติตนตามความเชื่อทางศาสนา ตามลัทธิ และอุดมการณ์ต่างๆ ที่ตนยึดถืออีกด้วย”1

ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงไม่เพียงแสวงหาทรัพยากรและเงินทองเพื่อให้ได้สิ่งต่างๆ มาตอบสนองความต้องการทางด้านกายภาพ (Physiological Needs) เท่านั้น แต่ยังมุ่งแสวงหาอำนาจ รวมทั้งชื่อเสียงเกียรติยศเพื่อสนองตอบความต้องการทางด้านจิตใจของตนเองอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ความต้องการที่จะได้รับการนับถือยกย่อง2 หรือความต้องการที่จะปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา3 เป็นต้น แต่เนื่องจากโลกของเราไม่ได้มีทรัพยากรอย่างเหลือเฟือที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ทุกคน มนุษย์จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยากรต่างๆ ที่ตนหรือกลุ่มของตนต้องการตัวอย่างเช่น ปัญหาความขัดแย้งในการแย่งชิงสิทธิเหนือบริเวณหมู่เกาะเซ็งกากุระหว่างญี่ปุ่นกับจีน หรือปัญหาความขัดแย้งจากกรณีการแย่งสิทธิครอบครองบริเวณหมู่เกาะสแปรตลี่ย์ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และไต้หวันหรือปัญหาการสู้รบที่มาจากความเชื่อของกลุ่ม Al Qaeda ที่ต้องการขับไล่ผู้ที่ไม่เชื่อถือออกจากดินแดนแห่งความศรัทธา (ดินแดนของชาวมุสลิม) เพื่อรวมชาวมุสลิมให้เป็นปึกแผ่นและสร้างรัฐอิสลามที่มีผู้นำด้านการปกครองและด้านศาสนาเป็นคนคนเดียวกัน (มาจาก twitter.com/alqaeda:Working to expel the infidels from the lands of the Faithful, unite Muslims and create a new Islamic caliphate.)

โดยสรุปก็คือมนุษย์จะประพฤติหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก็เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านกายภาพ (Physiological Needs) และความต้องการที่จะทำให้มนุษย์เองมีความรู้สึกพอใจ (Giving alms or doing something leads to satisfaction.) ซึ่งขอเรียกว่า ความต้องการทางด้านจิตใจที่ทำให้มีความรู้สึกพึงพอใจ (ผู้เขียนขอใช้คำภาษาอังกฤษว่า Mental Needs แทนความหมายในภาษาไทยสำหรับแนวความคิดในเรื่องความต้องการทางด้านจิตใจนี้ ผู้เขียนได้พัฒนาขึ้นโดยนำเรื่องการทำบุญและการให้ทานของศาสนาพุทธที่ตอบสนองความต้องการทางจิตใจที่ทำให้มีความพอใจมาผสมกับทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้น Theory of Hierarchy Needsของ Maslow4)

2. ความขัดแย้ง (Conflicts) และความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ (Armed Conflicts)

ความหมายของความขัดแย้งโดยสรุป คือ สภาพของความบาดหมาง หรือการโต้แย้งกันระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความเชื่อ หรือความคิดเห็น หรือผลประโยชน์ที่ไม่สอดคล้องกัน โดยวิธีการต่างๆ ที่ไม่มีการใช้อาวุธ5 ความขัดแย้งในรูปแบบนี้อาจเกิดขึ้นและสิ้นสุดลงตามสภาพเหตุการณ์

อย่างไรก็ดี ถ้าคู่ขัดแย้งไม่สามารถหาข้อยุติหรือตกลงกันได้ ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวก็อาจจะพัฒนาไปสู่ระดับที่รุนแรงขึ้นเป็นความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ (Armed Conflict) ซึ่งหมายถึง สภาพการณ์ของการปะทะ และต่อสู้กันระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีแนวความคิด ความต้องการ และผลประโยชน์ที่เข้ากันไม่ได้หรือไม่สอดคล้องกัน โดยใช้วิธีการต่างๆ รวมทั้งการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อทำลายหรือเอาชนะฝ่ายตรงกันข้าม6 ความขัดแย้งในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต จิตใจ และทรัพย์สินของทุกคนในสังคมแต่ผลกระทบที่ได้รับอาจมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่า เป้าหมายคือ ใคร หรือสิ่งใด และใครอยู่ใกล้กับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การสู้รบในศรีลังการะหว่างชาวทมิฬที่ (อังกฤษพามาจากอินเดีย) อพยพเข้ามาทำไร่ชาในศรีลังกากับชาวสิงหลที่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของศรีลังกา ในระหว่างปี 2006 - 2009 ในรูปภาพที่ 1 และ 2 ได้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนทั้งชาวทมิฬและชาวสิงหลต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สู้รบในครั้งนี้ และไม่เพียงเท่านี้

            รูปภาพที่ 1 รูปภาพภายหลังสิ้นสุดการสู้รบ

ภาพที่มีชื่อเสียงภาพหนึ่ง ถ่ายในช่วงสิ้นสุดสงครามกลางเมืองของศรีลังกา ทหารกำลังเดินผ่านรถยนต์ที่ถูกทำลายจากการสู้รบที่เมือง Mullivaikal ตอนเหนือของศรีลังกาพฤษภาคม 2009. (May 28, 2012Posted by David Blacker.)


             รูปภาพที่ 2 รูปที่ตั้งค่ายผู้พลัดถิ่น

IDP หรือประชาชนพลัดถิ่นในประเทศตั้งค่ายพักใกล้โรงพยาบาลPutumattalanในเขตพื้นที่ปลอดการสู้รบ มีนาคม 2009 (จาก UN News Center: Ban forwards report on Sri Lanka war crimes to top UN human rights body.)


ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวทมิฬกับชาวสิงหลยังได้ลุกลามไปยังคนชาติอื่นโดยผู้ก่อการร้ายหญิงชาวทมิฬได้กดระเบิดสังหารนายราจีฟ คานธีซึ่งกำลังหาเสียงอยู่ที่เมือง Chennai ในรัฐทมิฬนาดูเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 1991 เพราะกลัวว่า นายราจีฟจะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดีย ดูรูปภาพที่ 3

      รูปภาพที่ 3 ภาพหญิงที่ผูกโบสีขาวเป็นผู้กดชนวนระเบิดฆ่าตัวตาย

Vasudha Bhat, Last moment of Rajiv Gandhi before he was assassinated.Updated 21 May 2014, มีรายงานระบุว่า กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬเชื่อว่า ถ้านายราจีฟ คานธี ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียแล้ว จะดำเนินมาตรการที่เป็นผลร้ายต่อกลุ่ม จึงจำเป็นต้องสังหารนายราจีฟให้ได้


นอกจากกรณีความขัดแย้งที่มีความรุนแรงโดยมีการใช้อาวุธที่ศรีลังกาแล้ว ในปัจจุบันเราอาจพบปัญหาความขัดแย้งที่มีการความรุนแรง เช่น การต่อสู้โดยใช้อาวุธระหว่างชาวอุยกูร์กับตำรวจและทหารของรัฐบาลจีน ในซินเจียง และยังมีการใช้อาวุธจนถึงขั้นทำสงครามระหว่างกลุ่มที่เป็นศัตรูกัน เช่น การสู้รบระหว่างรัฐบาลซีเรียกับกลุ่มต่อต้านที่มีประเทศในยุโรปและอเมริกา (การแทรกแซง) ให้การสนับสนุน และการสู้รบระหว่างรัฐบาลอิรักที่สนับสนุนโดยประเทศในยุโรปและอเมริกา กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอิรักที่มีชื่อว่า ISIS หรือ Islamic State of Iraq and Syria เป็นต้น โดยสรุปแล้ว ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ แต่ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องหาทางยุติให้ได้

3. สาเหตุของความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ : ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย

สาเหตุสำคัญของปัญหาการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนอาจจัดเป็น 3 กลุ่มดังในรูปภาพที่ 4

กลุ่มแรกคือ สาเหตุรากฐาน (หรือเรียกว่า Root Causes) เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นฐานที่ความขัดแย้งได้ก่อตัวขึ้นได้แก่ ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่ซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง เช่น ความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงเกาะสแปรตลี่ย์ ระหว่างจีนกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและที่ตั้งของประเทศซึ่งมีพื้นที่ที่มีปัญหาติดต่อกับประเทศอื่น เช่น ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานในแคว้นแคชเมียร์ เป็นต้น

   รูปภาพที่ 4 สาเหตุของความขัดแย้งที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ

กลุ่มที่สองคือ สาเหตุรากฐานซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต แต่ก็ต้องใช้เวลานาน (ไม่สามารถกำหนดเวลาได้) ได้แก่ ความเชื่อในลัทธิทางการเมือง ความเชื่อทางศาสนาของคนในพื้นที่ เช่น การนับถืออิสลามของคนภาคใต้อาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากกลุ่มประเทศมุสลิมในภูมิภาคต่างๆ และความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ของประชากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนไทยที่อยู่มาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และต่อมาได้ผสมรวมกับชาวสุมาตรา ชาวอาหรับ และชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในภายหลัง ซึ่งเซอร์ จอห์น เบาริง (Sir John Bowring) ยังได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ Kingdom and People of Siam7 (ดูรูปภาพที่ 5) ว่า

         รูปภาพที่ 5 บันทึกของ Sir John Bowring

“ปาตานี หรือธานี เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับสยาม มีประชากรประมาณหนึ่งแสนคน มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชนเชื้อชาติสยาม..” ซึ่งคงหมายถึงผู้ที่นับถือศาสนาพุทธนั่นเอง-วีระศักดิ์

กลุ่มที่สามคือ สาเหตุที่มีแรงกระตุ้น (Trigger Causes) หรือเร่งเร้าให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลในพื้นที่เกิดความรู้สึกไม่พอใจและต้องการที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้กับฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้าม ซึ่งได้แก่ ความต้องการที่จะแย่งชิงหรือยึดเอาผลประโยชน์และอำนาจมาเป็นของตนหรือของกลุ่มตนความรู้สึกกลุ่มนิยม (หรือชาตินิยม) ความรู้สึกว่ามีความสำคัญหรือได้รับการยกย่อง ความโกรธแค้นจากการไม่ได้รับความยุติธรรมและการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลอื่นหรือจากประเทศที่สามหรือจากกลุ่มการเมือง หรือจากกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ถ้าสาเหตุรากฐาน ได้รับการเพิ่มเติมด้วยสาเหตุที่มีแรงกระตุ้น ก็จะยิ่งเร่งเร้าให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีความรู้สึกไม่พอใจเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดความต้องการที่จะใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อตอบสนองความรู้สึกไม่พอใจที่สะสมเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ดูในรูปภาพที่ 6

    รูปภาพที่ 6 แสดงถึงความรู้สึกที่ไม่พอใจบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ถูกสะสมมากขึ้น

ในรูปภาพที่ 6 เป็นรูปแบบจำลองที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกในด้านลบสะสม (ความรู้สึกไม่พอใจ) ที่มีต่อบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (แกน X) กับระดับความต้องการของบุคคลที่จะใช้ความรุนแรง (แกน Y) ในรูปภาพจะเห็นว่า ความเชื่อความศรัทธาในศาสนาเป็นสาเหตุรากฐานที่ทำให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากบุคคลที่นับถือศาสนาอื่นซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะเป็นความขัดแย้งที่มาจากความคิดเห็นหรือความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ถ้ามีการนำเรื่องความแตกต่างด้านชาติพันธุ์หรือความรู้สึกชาตินิยมมาลายูหรือความรู้สึกโกรธแค้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือได้รับการกลั่นแกล้งเข้ามาผสมกับความเชื่อทางศาสนาก็อาจไปกระตุ้นให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีความรู้สึกในด้านลบ (ไม่พอใจ เกลียดชังหรือต่อต้าน) เพิ่มมากขึ้นจนทำให้เกิดความต้องการที่จะใช้ความรุนแรงทำร้ายหรือทำลายบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามหรือแม้แต่บุคคลที่สาม (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรง)

4. การประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายในพื้นที่ จชต. ในปัจจุบัน (ในด้านลบ)

สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อาจเปรียบได้กับน้ำในกาน้ำ เมื่อเปิดไฟกาน้ำจะได้รับความร้อนเพิ่มมากขึ้นจนน้ำในหม้อเดือด และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นน้ำในกาก็จะแปรสภาพเป็นไอน้ำ และเพื่อให้ท่านผู้อ่าน และท่านที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงได้จำลองภาพกาต้มน้ำในรูปภาพที่ 7 ซึ่งจะพบว่า เมื่อกาน้ำได้รับความร้อนเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้น้ำในกามีอุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงจุดที่น้ำเดือด และน้ำในกาก็จะแปรสภาพกลายเป็นไอร้อนในเวลาต่อมา ซึ่งผู้เขียนขอให้ชื่อกระบวนการที่เพิ่มความร้อนจนทำให้น้ำในกาเดือดและกลายเป็นไอร้อนโดยเปรียบ เทียบกับสถานการณ์ในภาคใต้นี้ว่า กระบวนการแปรสภาพสังคม (EvaporationProcess)

       รูปภาพที่ 7 กระบวนการแปรสภาพสังคม

เมื่อนำกระบวนการแปรสภาพสังคมในรูปที่ 7 มาศึกษาร่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปภาพที่ 8 (สถิติการสูญเสียชีวิตจากการก่อเหตุร้ายแรงในพื้นที่ต่อ 1 ครั้ง)

        รูปภาพที่ 8 สถิติการสูญเสียชีวิตจากเหตุร้ายแรงในพื้นที่ต่อครั้ง

ได้ชี้เห็นว่า แม้ในปี 2556 จะมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นเป็นจำนวนที่น้อยกว่าในปีอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่ปริมาณการสูญเสียชีวิตต่อเหตุร้ายแรงกลับมากกว่าในปีก่อนๆ นั่นหมายความว่า ในปี 2556 การก่อเหตุร้ายแรงมีปริมาณที่ลดลง แต่ได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่เพิ่มมากขึ้นเท่ากับ 0.78 คนต่อครั้งซึ่งแสดงว่า กลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่ล้มเลิกการก่อเหตุร้ายแรง และจะเลือกการก่อเหตุร้ายแรงที่สามารถสร้างความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุด

และรวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต เช่น การแจกใบปลิวหรือใช้ป้ายผ้าเขียนข้อความโจมตีรัฐไทย การสังหารพระภิกษุ เด็ก และผู้หญิงและการใส่ร้ายรัฐไทยต่อนานาชาติ เป็นต้น จะพบว่าเหตุการณ์เหล่านี้ได้บ่งชี้ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ จชต.ยังไม่อยู่ในสภาวะปกติเช่นในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

นอกจากนี้ เหตุการณ์ล่าสุดที่กลุ่มก่อการร้ายบุกเข้าไปยิงเจ้าหน้าที่เทศบาลมะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2557 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย (เป็นเจ้าหน้าที่ไทยพุทธทั้ง 4 คน) และบาดเจ็บ 10 ราย (ดูรูปภาพที่ 9-10) ได้เป็นตัวชี้ว่า การก่อการร้ายในพื้นที่ จชต.ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ได้อย่างจริงจังซึ่งถ้าจะประเมินสถานการณ์ในเชิงเลวร้ายที่สุดแล้วสถานการณ์ในพื้นที่ จชต.จะจัดอยู่ในลำดับขั้นที่ II - III ของสถานการณ์ในรูปภาพที่ 11

      รูปภาพที่ 9 กลุ่มก่อการร้ายบุกยิงเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลมะกรูด*

    รูปภาพที่ 10 รายชื่อเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลมะกรูดที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ*
*ภาพและข่าว จากโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ):Thu, 2014-09-11
     รูปภาพที่ 11 ลำดับขั้นของสถานการณ์การก่อการร้ายในพื้นที่ จชต.

การก่อเหตุร้ายในรูปแบบต่างๆ เช่น การวางเพลิงเผาโรงเรียน เผาอาคารสำนักงานของรัฐ การสังหารพระในขณะบิณฑบาตหรือที่อยู่จำวัด การสังหารครูทั้งไทยพุทธและมุสลิม การเข้าโจมตีฐานที่ตั้งทางทหารหรือสถานีตำรวจเพื่อสังหารเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและยึดเอาอาวุธปืนไป การวางระเบิดในสถานที่ต่างๆ โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อทำลายสัญลักษณ์และชีวิตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการวางระเบิดห้างสรรพสินค้าและโรงแรม การกระทำต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการก่อการร้ายทั้งสิ้น เพราะมุ่งทำลายทั้งทรัพย์สิน ชีวิตคน และความเป็นระเบียบของสังคมให้สูญสิ้นไป โดยไม่ได้คำนึงถึงมนุษยธรรมและจิตใจของบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมโลกเดียวกัน

จากรูปภาพที่ 11 การก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ในขั้นที่ I และขั้นที่ II เปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มความร้อนให้ น้ำ (คือ สถานการณ์ที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ตามปกติ) ได้เข้าสู่จุดเดือดเพื่อแปรสภาพ น้ำ ให้กลายเป็น ไอร้อน คือ สถานการณ์ที่ไม่ปกติ รัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เพราะมีการสังหารประชาชนและเจ้าหน้าที่รายวัน ประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐยังรู้สึกหวาดกลัวในความปลอดภัย (รับฟังความรู้สึกของเจ้าหน้าที่เทศบาลมะกรูด จากการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ อสมท วันที่ 13 ก.ย. 2557: 1900 - 1945)

โดยสรุปก็คือ กลุ่มก่อการร้ายต้องการกระทำทุกวิถีทางในการแปรสภาพสังคมเพื่อมุ่งทำลายความเป็นระเบียบและความมีเสถียรภาพของสังคมในพื้นที่เป้าหมายให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั่นเอง โดยมีเป้าหมายที่จะบีบบังคับให้ฝ่ายรัฐยอมเจรจาและกระทำตามข้อเรียกร้องขอปกครองตนเองของกลุ่มก่อการร้ายในขั้นที่ III ให้ได้ และถ้าบรรลุผลตามข้อเรียกร้องแล้ว กลุ่มก่อการร้ายก็จะดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายในลำดับขั้นที่ IVและ V ต่อไป ผู้เขียนขอเรียกการดำเนินกลยุทธ์ของกลุ่มก่อการร้ายในลักษณะนี้ว่า กลยุทธ์การเอาชนะเป้าหมายตามลำดับขั้น (ซึ่งพัฒนามาจากหลักการทางทหารคือ การดำรงความมุ่งหมาย และการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานโดยใช้กองกำลังขนาดเล็กต่อสู้กับกองกำลังขนาดใหญ่กว่าของรัฐ)

ท้ายบทความ: เรื่อง ขอหยุดพักชั่วคราว

หลังจากได้รับฟังข่าวการบุกโจมตีสำนักงานเทศบาลมะกรูด ทำให้ผู้เขียนรู้สึกไม่มีสมาธิ จึงขออนุญาตหยุดพัก (Time Out) และขอนำหัวข้อที่ 5 เรื่องข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาอ้างอิงและความคิดเห็นของผู้เขียนไปไว้ในบทความครั้งหน้า อย่างไรก็ดีผู้เขียนหวังว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ผบ.ทบ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศคงจะไม่แสดงความกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะเจรจากับกลุ่มก่อการร้ายอย่างเช่นรัฐบาลที่แล้วที่ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรออกมาแสดง และก็ไม่ควรหวังพึ่งวิธีการเจรจาแต่เพียงวิธีการเดียวเท่านั้น หรือเชื่อมั่นว่าการเจรจาเท่านั้นที่จะนำสันติสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

กรุณาอ่านต่อในบทความครั้งหน้า ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น