ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ความสามารถในการจำแนกแยกแยะ การคิด และการให้เหตุผลเป็นขั้นตอนในการพัฒนาความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ เมื่อยังเขลาอยู่มนุษย์มักจะมองสรรพสิ่งต่างๆเหมือนกันหมด แต่เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ศึกษาหาความรู้มากขึ้นมนุษย์ก็เรียนรู้ในการจำแนกแยกแยะความเหมือนและความแตกต่างของสรรพสิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย
มนุษย์ใช้ประโยชน์จากการจำแนกแยกแยะในการดำรงชีวิต การทำงาน การแสวงหาเพื่อน การเลือกคู่ครอง และการค้นหาเป้าหมายของการดำรงชีวิต การรู้จักจำแนกแยะมีประโยชน์ต่อมนุษย์มากเพราะทำให้มนุษย์สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากภยันตรายได้ เมื่อสามารถจำแนกแยกแยะได้แล้วว่าสิ่งใดเป็นอันตรายต่อตนเอง มนุษย์ก็จะหลีกเลี่ยงหรือหาหนทางในการขจัดเภทภัยนั้นออกไปก่อนที่ตนเองจะประสบอันตราย
การจำแนกแยกแยะเป็นการทำความเข้าใจกับคุณสมบัติที่เป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้ของสิ่งนั้นเพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องกัน ณ จุดเริ่มต้นมนุษย์ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการจำแนกวัตถุโดยผ่านประสบการณ์ทางตรงเช่น เมื่อชิมอาหารเราก็สามารถจำแนกได้ว่าอาหารประเภทใดขม ประเภทใดเปรี้ยว เป็นต้น และเมื่อทราบว่าอาหารแต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไรแล้ว มนุษย์ก็สามารถเลือกรับประทานอาหารตามรสที่ตนเองชอบได้
นอกจากประสบการณ์ทางตรงแล้ว มนุษย์ยังมีความสามารถในการจำแนกจากประสบการณ์ทางอ้อม โดยการฟังการบอกเล่าและการสอนจากผู้อื่น หรือจากการอ่านหนังสือด้วยตนเองก็ได้ ทั้งประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมจะช่วยพัฒนาความสามารถในการจำแนกแยกแยะของมนุษย์ให้สูงขึ้น และเมื่อมีความสามารถเช่นนี้สูงมากขึ้นเท่าไรมนุษย์ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นเท่านั้นทั้งในทางส่วนตัวและส่วนรวม
มนุษย์ในแต่ละท้องถิ่น แต่ละประเทศ แต่ละอาชีพมีความสามารถจำแนกแยกแยะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าบริบทสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่มีลักษณะเป็นอย่างไร ชาวประมงในภาคใต้ย่อมมีความสามารถจำแนกประเภทของปลา มากกว่าชาวสวนในภาคเหนือ ส่วนชาวสวนในภาคเหนือย่อมมีความสามารถจำแนกประเภทพืชได้มากกว่าชาวประมงในภาคใต้
การจำแนกแยกแยะวัตถุที่ไร้ชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตประเภทพืชและสัตว์ต่างๆที่พบเห็นทั่วไปเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับสิ่งที่ไม่ค่อยได้พบไม่ค่อยได้เห็น หรือไม่มีประสบการณ์การมาก่อนจะทำให้การจำแนกแยกแยะมีความยากเพิ่มขึ้น ดังเช่น เรามักจะได้ยินข่าวบ่อยครั้งเกี่ยวกับชาวบ้านที่เก็บเห็ดมีพิษมากินจนเสียชีวิต เพราะว่าเขาไม่สามารถจำแนกได้ว่าเห็ดพิษมีลักษณะอย่างไร
นอกจากไม่ทราบคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการจำแนกแล้ว ในบางครั้งหากว่าสิ่งที่เราต้องการจำแนกมีความคล้ายคลึงกันมาก มองจากลักษณะภายนอกแทบไม่เห็นความแตกต่างเลย จะทำให้เข้าใจผิดว่าสิ่งนั้นเป็นประเภทเดียวกัน เมื่อจำแนกผิดพลาด การตัดสินใจที่ผิดพลาดก็เกิดขึ้นจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
นอกจากจำแนกสรรพสิ่งในธรรมชาติแล้ว มนุษย์ยังจำแนกแยกแยะเพื่อจัดประเภทมนุษย์ด้วยกันเองอีกด้วย การจำแนกแยกแยะมนุษย์ในเชิงกายภาพกระทำได้ไม่ยากนัก เช่น เราสามารถจำแนกหน้าตา สีผิว และคุณลักษณะอื่นๆภายนอกได้อย่างง่ายดาย แต่ทว่าการจำแนกคุณลักษณะที่เป็นนามธรรมของมนุษย์ เช่น คุณธรรม ความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ ความปรารถนา และพฤติกรรม เป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าการจำแนกลักษณะทางกายภาพ และบ่อยครั้งเราก็จำแนกผิดพลาดและนำมาสู่ความหายนะมาสู่ตนเอง
ความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์และสังคมทำให้การจำแนกแยกแยะมีความยากลำบากยิ่งขึ้น มนุษย์สามารถสร้างเรื่องราวและพฤติกรรมปกปิด บิดเบือนความคิด ความรู้สึก และความปรารถนาที่แท้จริงของตนเอง หลายครั้งที่แสดงพฤติกรรมออกมาเพื่อใช้สำหรับสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น แต่พฤติกรรมนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความปรารถนาที่แท้จริงของเขา ทำให้ผู้คนที่เขาติดต่อด้วยจำแนกแยกแยะผิดพลาด และนำไปสู่การกำหนดท่าทีและระดับความสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง
ในทางสังคมก็เช่นเดียวกัน มีปรากฏการณ์ทางสังคมจำนวนมากที่มีความซับซ้อนจนยากแก่การจำแนกให้ชัดเจน และยิ่งผู้จำแนกมีปัญญาและทักษะจำกัดแล้ว ก็จะทำให้การจำแนกมีความคลุมเครือและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น หากเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบริหารบ้านเมืองแล้ว การจำแนกปรากฏการณ์ทางสังคมผิดพลาดย่อมนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางบริหารผิดพลาดตามไปด้วย สิ่งที่ตามมาคือประสิทธิผลในการทำงานต่ำ และที่ร้ายแรงกว่านั้นคือเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก
ด้วยความจริงที่ว่าการจำแนกแยกแยะปรากฏการณ์ทางสังคมจะต้องอาศัยการคิดและการไตร่ตรองอย่างลุ่มลึก รวมทั้งต้องมีข้อมูลมาใช้เป็นฐานในการคิด จึงทำให้ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองบางส่วนที่มีอุปนิสัยมักง่ายและไม่ชอบใช้ความคิดละทิ้งการจำแนกแยกแยะและหันไปใช้วิธีการแบบเหมารวมในการจัดการกับปัญหาหรือพัฒนาประเทศ
เราจึงเห็นว่ามีนโยบายของรัฐบาลในอดีตจำนวนมากที่ใช้วิธีการแบบเหมารวมโดยไม่แยกแยะความแตกต่างของกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เป้าหมายของนโยบาย เช่น นโยบายการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีวัยหกสิบปีขึ้นไป โดยไม่จำแนกว่าผู้สูงอายุกลุ่มใดบ้างที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริงในการสงเคราะห์ และผู้สูงอายุกลุ่มใดบ้างที่ไม่จำเป็น ที่ผ่านมาในอดีตและที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือไม่ว่าผู้สูงอายุนั้นจะมีฐานะร่ำรวยหรือยากจนก็จะได้รับเบี้ยยังชีพทุกคน แนวทางนโยบายแบบนี้บ่งบอกถึงความไร้ประสิทธิภาพและไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง
บางเรื่องที่มาตรการเชิงนโยบายเกิดจากการจำแนกแยกแยะในอดีต ซึ่งเรายังมีประสบการณ์และข้อมูลที่ใช้ในการจำแนกน้อยซึ่งทำให้ประเทศชาติต้องตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบต่างชาติ แต่ในปัจจุบันเมื่อเรามีประสบการณ์และข้อมูลมากขึ้น เราก็ต้องหันกลับไปทบทวนว่ามีความผิดพลาดในการจำแนกแยกแยะเรื่องอะไรบ้างในอดีต แล้วจัดการแก้ไขความเข้าใจเสียใหม่เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการเชิงนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงยิ่งขึ้น
การใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีก็เช่นเดียวกันก่อนจะสั่งซื้อมาใช้ก็ต้องใช้ความคิดจำแนกแยกแยะว่าสอดคล้องกับบริบทหรือเงื่อนไขของสภาพบริบทและสภาพของงานหรือไม่ เช่น ในบริบทของประเทศไทยซึ่งก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากนัก การซื้อ เครื่องมือเครื่องใช้มาปฏิบัติงานก็ต้องเลือกให้มันเหมาะสม ไม่ใช่ขาดความยั้งคิดซื้ออุปกรณ์ที่ทันสมัยล่าสุดราคาแพงที่แม้แต่รัฐบาลของประเทศร่ำรวยเขาก็ยังไม่มี การเลือก ซื้อสิ่งของราคาแพงโดยไม่คิดให้รอบคอบไม่ต่างจากสามล้อถูกหวยแม้แต่น้อย
โศกนาฏกรรมและการล่มสลายของอาณาจักรหลายแห่งในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเพราะผู้ปกครองและประชาชนของรัฐเหล่านั้นขาดความสามารถในการจำแนกแยกแยะ โดยเฉพาะการไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใคร กลุ่มใด เป็นมิตรหรือศัตรู ผู้ปกครองบางรัฐก็อาจมองมิตรเป็นศัตรู และมองศัตรูเป็นมิตร บางรัฐก็มองว่ากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่พวกเดียวกับตนเป็นศัตรูไปหมด
การมองศัตรูเป็นมิตรไม่ต่างจากการเลี้ยงอสรพิษไว้ในบ้าน อสรพิษจำแลงแปลงกายประดุจสัตว์เลี้ยงที่เชื่องเชื่อให้เจ้าของบ้านตายใจ แต่เมื่อได้จังหวะโอกาสเมื่อไรก็จะฉกกัดทันทีจนเจ้าของบ้านเสียชีวิต ส่วนการมองมิตรเป็นศัตรูเป็นการผลักไสเพื่อนที่หวังดีให้ออกไปไกลตัว ความโดดเดี่ยวก็จะเกิดขึ้นในที่สุดก็อาจถูกทำลายล้างได้ง่าย
ปัญหาของการแยกมิตร แยกศัตรูไม่ออก อาจมีสาเหตุที่มาจากการขาดสติปัญญาในการไตร่ตรอง ขาดข้อมูลที่เพียงพออันทำให้ถูกหลอกลวงจากมายาภาพที่ปรากฏได้ง่าย หรือบางกรณีก็มีความทระนงอหังการในอำนาจของตนเองจนเกินเหตุ ไม่สนใจแยแสว่าความจริงเป็นอะไร มุ่งแต่ใช้อำนาจตามความปรารถนาของตนเองถ่ายเดียว
นอกจากจะแยกแยะสภาพแวดล้อมและสังคมไม่ออกแล้ว ในหลายกรณีผู้คนก็ไม่อาจแยกแยะการกระทำของตนเองเองได้เหมือนกัน บางประเทศผู้ปกครองไม่สามารถแยกแยะได้ว่าการตัดสินใจและการกระทำแบบใดเป็นผลดีต่อประเทศชาติและสังคมของตนเอง และการกระทำแบบใดทำให้ประเทศชาติเสียหาย ผู้ปกครองแบบนี้มักสร้างความวุ่นวายแก่บ้านเมือง และมักจะถูกประชาชนขับไล่ออกไปในที่สุด
บางรัฐแม้ว่าผู้ปกครองสามารถจำแนกได้ว่าการกระทำแบบใดส่งผลดีหรือผลเสียต่อชาติบ้านเมือง แต่สิ่งที่น่าอนาถก็คือพวกเขาไม่สามารถจำแนกได้ว่าการกระทำใดมีคุณธรรมหรือไร้คุณธรรม เมื่อจำแนกสิ่งผิดสิ่งถูกไม่ได้ พวกเขาจึงไม่กล้าตัดสินใจกระทำสิ่งใด หรือแม้จะตัดสินใจก็มักทำในสิ่งผิดพลาดอยู่เสมอ เมื่อแยกนรกออกจากสวรรค์ไม่ได้เส้นทางที่มักจะเกิดขึ้นเสมอคือเส้นทางสู่นรกมากกว่าสวรรค์
ผมพูดเรื่องการจำแนกแยกมายืดยาวก็เพื่อส่งสัญญาณไปยังผู้ปกครองบ้านเมืองในยามนี้ที่ดูเหมือนจะมีปัญหาอยู่ไม่น้อยในการจำแนกแยกแยะ โดยเฉพาะหากประกาศว่าเป้าหมายในการปกครองบริหารประเทศเพื่อวางรากฐานการปฏิรูปประเทศ การพัฒนาที่สมดุลและมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างยั่งยืน โดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชี้นำแนวทางกำหนดนโยบายและมาตรการในการปฏิบัติ เหตุการณ์และการตัดสินใจที่ผ่านมาหลายอย่างดูเหมือนไม่สอดคล้องเท่าไรนักกับเป้าหมาย
การบรรลุเป้าหมายดังที่กล่าวมาจะต้องจำแนกให้ได้ว่าคนลักษณะใดจึงมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมาย หากจำแนกคุณสมบัติของบุคคลที่เลือกมาขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมายไม่ถูกต้องแล้วย่อมไม่มีทางที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ ยกเว้นเสียแต่ว่ามีเป้าหมายอย่างอื่นซ่อนเร้นอยู่ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่ประกาศต่อสาธารณะแต่อย่างใด
แต่หากยืนยันอย่างจริงใจว่าต้องการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายดังที่กล่าวมา ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องทบทวนกรอบคิดและวิธีคิดในการจำแนกแยกแยะผู้คนเสียใหม่ เพื่อใช้จำแนกได้อย่างถูกต้องว่าใครบ้างที่มีความสามารถเหมาะสมในการปฏิบัติงานต่างๆไม่ว่างานบริหาร งานนิติบัญญัติ และงานการปฏิรูปประเทศ
เท่าที่เฝ้ามองอยู่ห่างๆ ผมคิดว่าการจำแนกและเลือกคนเข้ามาทำงานด้านนิติบัญญัติและบริหารดูเหมือนจะห่างไกลจากเป้าหมายของวิสัยทัศน์ที่ประกาศไว้พอสมควร คงเหลือแต่งานปฏิรูปประเทศซึ่งจะออกมาอย่างไรยังไม่ทราบ แต่หากออกมาในแบบแผนเดียวกับสองเรื่องแรกย่อมสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของผู้บริหารประเทศออกมา และสังคมจะได้เข้าใจกระจ่างขึ้นว่า อ้อ ที่แท้มันเป็นอย่างนี้นี่เอง