ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากที่คสช.ประกาศจะเอาจริงกับปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา โดยจะควบคุมให้อยู่ให้อยู่ในราคาฉบับละ 80-90 บาท แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ราคาสลากฯ ยังคงอยู่ที่ 100-110 บาท โดยที่คสช.ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จนเป็นที่ค่อนแคะว่าดีแต่ใช้อำนาจกับคนอื่น แต่ไม่มีปัญญาจัดการกับเรื่องนี้
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อคลำไปเจอตอ คือผู้ค้าสลากรายใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า ยี่ป๊ว รวมทั้งบรรดาผู้ค้ารายย่อย มีสัญญาอยู่กับสำนักงานสลากฯ และมีการต่อสัญญากันไว้แล้วถึงเดือนมิถุนายน 2558 การยกเลิกโควต้าสลากฯ เพื่อมาจัดสรรใหม่ จึงทำไม่ได้
แต่กระนั้น คสช.ก็ไม่ละความพยายาม ได้สั่งการไปยังสำนักงานสลากฯ ให้หาทางทำให้ราคาสลาก ลดลงมาอยู่ในระดับราคา 80-90 บาทให้ได้
สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานกรรมการ(บอร์ด) สลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเรียกประชุมบอร์ดเมื่อ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการต้อนรับ พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ที่เพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ คนใหม่ด้วย
ที่ประชุมถกกันเครียด แต่ก็ไม่มีช่องทางที่จะจัดการกับบรรดายี่ปั๊วซึ่งถือว่าเป็นผู้กุมกลไกราคาสลากฯได้ จึงมองไปที่รายย่อย คือกลุ่มที่เป็นประชาชนทั่วไป มูลนิธิต่างๆ และผู้พิการ ซึ่งตามบัญชีแล้ว โควตาของคนกลุ่มนี้ มีจำนวน 45 ล้านฉบับ จากจำนวนสลากฯ ที่พิมพ์ทั้งหมด 72 ล้านฉบับในแต่ละงวด
จึงมีการเรียกผู้ค้ารายย่อยนี้มามาขึ้นทะเบียนใหม่อีกครั้ง ที่สำนักงานสลากฯ สนามบินน้ำ ในช่วงวันที่ 28-31 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อมารับกติกาใหม่ คือ ห้ามขายสลากฯเกินราคา 90 บาท ถ้าขายเกินแล้วถูกจับได้ครั้งแรกจะตักเตือน แต่ถ้าทำผิดครั้งที่ 2 จะถูกยึดโควตาคืน
โดยสลากฯในโควตาของผู้ค้ารายย่อยนี้ จะต่างจากสลากฯเดิม คือ จะมีการประทับเครื่องหมายหน้าสลากฯ เป็นรูปสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน ทางด้านขวาของสลากฯ และราคาต้นทุนจะอยู่ที่ฉบับละ 74.40 บาท
สลากฯชุดใหม่ที่ห้ามขายเกินฉบับละ 90 บาทนี้ จะเริ่มในงวดประจำวันที่ 16 กันยายน 2557
ซึ่งทางบอร์ดสำนักงานสลากฯ ประเมินว่า เมื่อกำหนดมาตรการควบคุมราคาสลากฯในโควตารายย่อยไว้แล้ว สลากฯในโควตาของนิติบุคคล หรือ ยี่ปั๊ว ที่ไม่มีการประทับตราเครื่องหมายสี่เหลี่ยม อีกกว่า 30 ล้านฉบับ จะต้องลดราคาลงมาตามกลไกตลาด
จะเป็นไปตามความคาดหมายของบรรดาผู้บริหารสำนักงานสลากฯ หรือไม่ คำตอบจะมีให้เห็นในเร็ววันนี้
แต่ถ้าไปถามผู้ค้ารายย่อย ที่เดิน หรือขี่จักรยานขายตามตอกซอกซอย เขาบอกว่า ยาก หรือถ้าจะลดราคาลงมาก็เป็นเพียงแค่ระยะสั้นๆ
เพราะพวกยี่ปั๊ว เส้นใหญ่ ทุนหนา สายป่านยาว ตีไม่ยุบ ทุบไม่ตาย !!
พร้อมอธิบายให้เห็นภาพว่า ช่วงที่สำนักงานสลากฯ เรียกให้ผู้ค้ารายย่อย ไปขึ้นทะเบียน เพื่อรับกติกาใหม่กับสลากฯรุ่นใหม่นี้ ก็ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไป ลงชื่อขอโควตา เพื่อรอจับสลากว่าใครจะได้รับโควตา ในส่วนที่เจ้าของโควตาเดิมทิ้งไป หรือผิดสัญญา แล้วถูกสำนักงานสลากฯ ริบโควตากลับคืน
จึงมีประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้พิการ แห่ไปลงชื่อขอรับโควตาที่ว่านี้ เป็นจำนวนมาก ทะลุหลักแสนคน
ถามว่า ทำไมเจ้าของโควตาเดิมถึงทิ้งโควตาของตัวเอง ทั้งที่ขอยาก มีจำนวนจำกัด ได้มาแล้วก็เหมือนเสือนอนกิน จะเอามาขายเองก็ได้ หรือถ้าไม่อยากขายเอง ก็เอาไปขายให้ยี่ปั๊ว ก็มีส่วนต่างที่เป็นกำไร
คำตอบคือ ส่วนใหญ่เจ้าของโควตารายย่อย ที่เป็นกลุ่มข้าราชการ พนักงานในสำนักงานสลากฯ รวมทั้งประชาชนทั่วไป และผู้พิการส่วนหนึ่ง ก็ขายสลากฯให้กับยี่ปั๊ว เพื่อขอส่วนต่างที่เป็นกำไรเพียงเล็กน้อยอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องมาเสียเวลาขายปลีก ถ้าขายไม่หมด ก็ต้องรับผลขาดทุนไว้เอง แต่อีกกลุ่มหนึ่งคือรายย่อยที่รับสลากฯแล้วไปขายเอง ต้องรับผิดชอบกับผลกำไร ขาดทุนเอง ขายหมดก็มีกำไร หากขายไม่หมด อาจมีกำไรเพียงเล็กน้อย หรือถึงขั้นขาดทุน
แต่ยี่ปั๊ว ก็มีวิธีจัดการกับคนกลุ่มนี้ โดยลดราคาสลากฯลงมา แข่งกับสำนักงานสลากฯ เหลือฉบับละไม่ถึง 70 บาท อาจจะเป็น 65 บาท หรือ 68 บาท
ผู้ค้ารายย่อยที่เป็นเจ้าของโควตา ที่เคยรับสลากฯจากสำนักงานสลากฯ ในราคาฉบับละ 74.40 บาท เพื่อไปเร่ขาย ก็หันมารับจากยี่ปั๊วแทน เพราะได้กำไรมากกว่า จึงทิ้งโควตาที่ได้จากสำนักงานสลากฯไป
เมื่อผู้ค้ารายย่อยกลุ่มนี้ทิ้งโควตาไม่มารับสลากฯตามกำหนดเวลา แต่สำนักงานสลากฯ จำเป็นต้องขายสลากฯในแต่ละงวดให้หมด จึงเอาส่วนที่เหลือนี้ไปขายให้ยี่ปั๊ว ซึ่งยี่ปั๊วก็รับซื้อไว้ แบบเป็นผู้มีพระคุณต่อสำนักงานสลากฯ ที่ได้ช่วยแก้ปัญหาไม่ให้สลากฯเหลือ
ไม่นานต่อมา ยี่ปั๊วก็ขยับราคาขายส่งจากที่เคยขายฉบับละไม่ถึง 70 บาท ขึ้นไปเป็น 80-90 บาท ผู้ค้ารายย่อยกลุ่มนี้ก็เหมือนถูกมัดมือชก เพราะโควตาเดิม ถูกสำนักงานสลากฯ ริบคืนไปแล้ว เนื่องจากผิดสัญญา ที่ไม่ไปรับสลากฯในช่วงที่ไปหลงเหลี่ยมยี่ปั๊ว สุดท้ายก็ตกอยู่ในภาวะจำยอม ซื้อมาแพงก็ขายแพง ผลักภาระให้ไปตกอยู่ที่นักเสี่ยงโชค
เมื่อสำนักงานสลากฯ เปิดให้ผู้สนใจที่จะค้าสลากฯ ในฐานะผู้ค้ารายย่อย ไปลงชื่อขอโควตา ซึ่งแต่เดิมได้รายละไม่เกิน 6 เล่ม (600 ฉบับ) ก็จะมีการปรับใหม่เป็นรายละไม่เกิน 10 เล่ม (1,000 ฉบับ) บรรดายี่ปั๊ว และเครือข่าย ก็ไประดมคน ทั้งประชาชนทั่วไป และผู้พิการ จ้างให้ไปลงชื่อ เพื่อรับสิทธิ์รอจับสลากเป็นเจ้าของโควตา ถ้าใครได้รับโควตามา ยี่ปั๊ว ก็จะรับซื้อทั้งหมด โดยบอกว่าจะให้กำไรฉบับละ 8-10 บาท
จึงเป็นที่มาของข่าว ยี่ปั๊ว ทุ่มสิบล้าน ระดมคนไปลงชื่อขอรับโควตาผู้ค้าสลากฯรายย่อย และมีคนแห่ไปขอโควตา กันเป็นแสนราย
เพราะถ้าใครจับสลากได้เป็นผู้ค้ารายย่อย ได้รับโควตา 10 เล่ม เอาไปขายให้ยี่ปั๊ว ก็จะมีโอกาสได้กำไรถึงงวดละ 10,000บาท เดือนละ 2 งวด กำไร 20,000 บาท สบายๆ
สลากฯ ที่ทางสำนักงานสลากฯ ตั้งใจจะให้ผู้ค้ารายย่อยได้มีอาชีพ เอาไปทำมาหากิน ก็ตกไปอยู่ในมือยี่ปั๊วอีกตามเคย
ส่วนเรื่องรูปแบบของสลากฯ ล็อตใหม่ ที่มีสัญญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน และห้ามขายเกินราคา 90 บาทนั้น ไม่เป็นประเด็น ไม่เป็นปัญหา เพราะยี่ปั๊วมีวิธีบริหารจัดการได้ ในช่วงแรกที่เจ้าหน้าที่ยังตรวจตราเข้มงวด ยี่ปั๊วอาจจะยอมกินกำไรน้อยหน่อย แต่พอสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ก็ค่อยรุกคืบกลับไปยังจุดเดิม
มีคำพูดของผู้ค้าสลากฯรายย่อย ที่น่าสนใจคือ คสช.อยู่ไม่นาน อีกปีเดียวก็ไปแล้ว เดี๋ยวก็มีรัฐบาลใหม่ อะไรอะไรก็เปลี่ยนแปลงได้ รัฐบาลมาแล้วก็ไป แต่ยี่ปั๊ว ตีไม่ยุบ ทุบไม่ตาย !!