ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นับเป็นผู้นำประเทศอีกคนหนึ่งที่มีประเด็นวิวาทะกับสื่อสารมวลชนอยู่ค่อนข้างบ่อย
ล่าสุด ระหว่างการกล่าวเปิดการประชุมและมอบนโยบายแนวทางการดำเนินการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่สโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ก็ตอบโต้สื่อว่า ไม่ได้ชี้นำการปฏิรูปประเทศ เป็นแค่การพูดถึงแนวทาง และย้ำว่าจะต้องช่วยกันลดความขัดแย้ง อะไรที่จะเป็นความขัดแย้งก็ให้ลดลงหน่อย ตนไม่ได้จำกัดสิทธิของสื่อมวลชน ไม่เคยไปทำร้ายอะไรใคร เพียงแต่พูดคุยกันบ้าง เรียกมาคุยกันบ้าง หรือตักเตือนกันในฐานะพี่น้อง ขี้เกียจทะเลาะกับสื่อ เพราะทะเลาะไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร และสื่อก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
“แต่อยากให้ท่านเสนอข้อเท็จจริง กรุณางดในเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ บางอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ผมขี้เกียจตอบโต้...
“เลิกได้แล้วว่าล็อกสเปก จะบอกว่าสเปกบูรพาพยัคฆ์ ที่สื่อไปพูด ไม่เคยมีหรอกไอ้บูรพาพยัคฆ์ หรือ วงศ์เทวัญ ไม่มี บูรพาพยัคฆ์อยู่ตะวันออก ใครอยู่ตรงไหนก็โตตรงนั้น เดี๋ยววันหน้าเมืองกาญจน์ขึ้นมาเติบโตก็จะบอกว่าเป็นทีมลาดหญ้า สื่อมโนไปเลย มโนตลอด ให้สื่อเขียนแบบมีข้อเท็จจริงหน่อย อย่ามโน ถ้าอย่างนั้นให้ไปเขียนนิยาย อย่าติอย่างเดียว ชมบ้าง ที่ดี ๆ ไม่เห็นชมบ้างสักคำเลย พอถามว่าทำไมไม่ชมบ้าง ก็บอกว่าดีอยู่แล้วไม่ต้องชม แต่พอที่ติแล้วติอีกเรื่องเดิม ติมาจนผมจะเกษียณอยู่แล้ว 4 ปีแล้ว หากย้อนไป ผบ.ทบ.เก่าอีกหลายคน ไม่ยอมเลิกเสียที ฉะนั้นพอได้แล้ว สื่อต้องปฏิรูปตัวเอง ท่านมีฐานันดรอยู่แล้ว ท่านจะต้องมีจรรยาบรรณ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นี่เป็นรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนมุมมองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีต่อสื่อสารมวลชนว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง นอกเหนือไปจากการแสดงท่าทีในรูปแบบคำสั่งหรือประกาศ คสช.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการควบคุมให้สื่อมวลชนอยู่ในกรอบที่ คสช.วางไว้ ด้วยเหตุผลของการลดความขัดแย้งในสังคม
ไม่เพียงเท่านั้น“สื่อสารมวลชน” ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 11 ด้านที่จะต้องมีการปฏิรูป ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ดังนั้น ในการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงมีการกำหนดให้มี สปช.ด้านสื่อสารมวลชนด้วย และภายหลังจากการเปิดรับสมัครช่วงวันที่ 14 ส.ค. ถึง 2 ก.ย.ก็ปรากฏว่า มีผู้สมัครเป็น สปช.ด้านสื่อมวลชนเพียง 171 คน จากผู้สมัครทั้งหมดเกือบ 7 พันคน ทำให้ สปช.ด้านสื่อสารมวลชนมีผู้สมัครน้อยที่สุด นี่ย่อมเป็นดัชนีชี้วัดว่า ผู้คนในแวดวงสื่อมวลชนให้ความเชื่อมั่นต่อการปฏิรูปสื่อ ตามโรดแมปที่ คสช.วางไว้ มากน้อยเพียงใด
หากจะไล่ดูรายชื่อผู้สมัคร สปช.ด้านสื่อสารมวลชนที่พอจะมีชื่อเป็นที่รู้จักของคนในวงการ ก็มีอยู่เพียงไม่กี่คน อาทิ
-นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เสนอโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
-นายจักรกฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เสนอโดย มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
-ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล บก.อาวุโส ASTVผู้จัดการ เสนอโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
-นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีต ผอ.องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) เสนอโดย สมาคมวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์
-นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร. ) 2550 อดีตนายกสมาคมนักข่าว และอดีตประธานสภาการหนังสืออพิมพ์แห่งชาติ เสนอโดย สมาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด กรรมการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เสนอโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
-นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บริษัทมติชน จำกัด(มหาชน) เสนอโดย มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
-นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตบรรณาธิการอาวุโส หนังสือพมพ์มติชน อดีต ส.ส.ร.2540 เสนอโดย สมาคมศิษย์เก่าโยธินบูรณะ
-นายพิพัฒน์ ชนะสงคราม กรรมการบริษัท สำนักข่าวทีนิวส์ จำกัด เสนอโดย มูลนิธิชื่นฤทัยในธรรมสำนึกรักบ้านเกิดนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ ก็มีบุคคลจากฟากนักการเมืองและข้าราชการประจำ ฝ่ายที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ ถูกเสนอชื่อมาเป็น สปช.ด้านสื่อสารมวลชน อาทิ
-พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เลขาณุการ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอโดย กสทช.
-นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว. เสนอโดย สมาคมศิษย์เก่า ร.ร.หนองฉางวิทยา จ.อุทัยธานี
-พล.อ.สุภกิจ นุตสถิต ที่ปรึกษาพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย เสนอโดย กองบัญชาการกองทัพไทย
-นายวรวุฒิ โรจนพานิช อดีต ส.ว. เสนอโดย มูลนิธินักเรียนเก่าอำนวยศิลป์
-พล.อ.นิพนธ์ สีตบุตร นายทหารเกษียณราชการ ญาติของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช. และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอโดย สมาคมศิษย์เก่าบวรนิเวศ
ขณะที่กรรมการสรรหา สปช.ด้านสื่อมวลชน ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 121/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ 13 สิงหาคม มีทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย
1.พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และที่ปรึกษา คสช. นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และยังเป็นอดีตสามีนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” เจ้าของทีวีดิจิตอล ช่อง “ไทยทีวี” ซึ่งล่าสุด พล.อ.นพดลก็ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ด้านสื่อสารมวลชนด้วย
2.นางจำนรรจ์ ศิริตัน (หนุนภักดี) นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียและวิทยุโทรทัศน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจเอสแอล
3.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
4.นางพิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.นางวรรณี รัตนพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส และนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย
6.นายสำเริง คำพะอุ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และ
7.นายอรุณ งามดี อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
เมื่อดูจากรายชื่อคณะกรรมการสรรหา เห็นได้ชัดว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นส่วนผสมระหว่างข้าราชการประจำ(กองทัพ)กับเจ้าของธุรกิจสื่อ โดยมีนักวิชาการกับสื่อมวลชนมืออาชีพแทรกเข้ามาพอเป็นกระสาย
ณ เวลานี้ แม้จะยังไม่มีการประกาศรายชื่อ สปช.ออกมา แต่ก็พอมองเห็๋นรางๆ แล้วว่า สปช.ด้านสื่อสารมวลชนที่ คสช.จะจิ้มออกมานั้น จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง
นี่จะเป็นปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้การปฏิรูปสื่ออาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะไม่ได้รับข้อมูลความคิดเห็นที่มาจากหลากหลายภาคส่วนเท่าที่ควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปล่อยให้อำนาจทุนและอำนาจรัฐยังคงมีอิทธิพลครอบงำวงการสื่อมวลชนอยู่ จะไม่มีวันที่สื่อมวลชนนำเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างครบถ้วนและตรงไปตรงมา
ยิ่งเมื่อ คสช.ยังคงตั้งธงไว้ว่า สื่อต้องไม่สร้างความขัดแย้ง แนวทางการปฏิรูปที่กำหนดออกมา ก็จะทำให้สื่อมวลชนนำเสนอได้แค่ข้อมูลที่ผิวเผิน สิ่งที่เป็นต้นตอของปัญหาชาติบ้านเมือง จะถูกกลบเกลื่อน ไม่มีใครไปขุดคุ้ย เพราะกลัวจะถูกข้อหาสร้างความขัดแย้ง