xs
xsm
sm
md
lg

"อุดมเดช" สมชื่อจริงๆ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

00 ก่อนอื่นต้องออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ใช่ติเรือตั้งแต่ไม่ทันได้ออกจากท่า เพียงแต่มีเจตนามองให้เห็นความจริงอีกด้านหนึ่งเท่านั้น อย่าเพิ่งหงุดหงิด เพราะสิ่งที่เห็นโฉมหน้า ครม."ประยุทธ์1" ที่เพิ่งประกาศออกไป หากไม่รวมนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วก็มีจำนวน 32 คน 34 ตำแหน่ง แยกเป็นตามลักษณะอาชีพ เป็นทหาร 11 ตำรวจ 1 ที่เหลือก็เป็นพลเรือน แต่อย่างที่รู้กันล่วงหน้าแล้วว่า ตำแหน่งหลักๆ ที่มีผลด้านความมั่นคงทั้ง รัฐบาลคสช.รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ล้วนอยู่ในมือ "ทีมงานคสช." ทั้งสิ้น ชนิดที่เรียกว่า "ซ้อนไขว้กันไปมา" กันแบบ"ความมั่นคงซ้อนความมั่นคง" ยังไงยังงั้นเลยละ!!
00 เริ่มจากตำแหน่งนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าสถานะตามรธน.ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะด้อยกว่าหัวหน้า คสช. ด้วยซ้ำไป แต่การมานั่งควบ นอกจากป้องกันในเรื่องการประสานงาน ทำงานให้ถึงเป้าหมายแล้ว ยังป้องกัน"อำนาจซ้อนอำนาจ" อย่างได้ผลอีกด้วย นอกจากนี้ในช่วง "เปลี่ยนผ่าน" ยังประกันความมั่นคงในกองทัพในฐานะ ผบ.ทบ.ได้อีกระยะหนึ่ง ก่อนถึงวันที่ 1 ต.ค.
00 ตำแหน่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ รองนายกฯ ควบรมว.กลาโหม ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ "พี่ใหญ่" มองในเชิงสัญญลักษณ์ ถือว่า"มีอำนาจเหลื่อมๆ นายกฯ" กันเลยทีเดียว เพราะเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริง การประกาศรายชื่อเป็นอันดับแรกความหมายก็คือเป็น "รองนายกฯ คนที่1" คุมความมั่นคง ก็ต้องทำหน้าที่ "รักษาการนายกฯ" ได้ในบางโอกาส อีกทั้งการนั่งควบรมว.กลาโหม ก็คือการควบคุมกองทัพ และมีความเป็นไปได้ว่า "อาจ" ได้รับมอบหมายให้ "กำกับดูแลตำรวจ" อีกด้วย
00 อีกตำแหน่งหนึ่งที่เข้ามาอย่าง "เงียบเชียบ" เหนือความคาดหมายเล็กๆ ก็คือ ตำแหน่ง รมช.กลาโหม ของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ว่าที่ ผบ.ทบ. บุคคลที่"ทรงอำนาจ"มากที่สุดอีกคนหนึ่งในยุคทหารครองเมือง ซึ่งเขาคนนี้ว่าไปแล้วก็คือ "น้องนุชสุดท้อง" ของ "บูรพาพยัคฆ์" ที่ก้าวขึ้นมาตามไลน์ แต่ที่น่าจับตาไปอีกก็คือ การเป็นรมช.กลาโหม ก็หมายถึงเป็นอีก "หนึ่งเสียง" ใน "สภากลาโหม" มีผลต่อการโยกย้าย นายทหารในวันหน้า น่าสนใจมั๊ยล่ะ !!
00 โฟกัสไปอีกสองสามคนที่ออกมาในเชิงอำนาจ แบบ "เซ็กชั่นย่อย" ก็ต้องมองมาที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ว่าที่รองปลัดกระทรวงกลาโหม แม้จะพลาดเก้าอี้ ผบ.ทบ. แต่คราวนี้ได้เป็น รมว.ยุติธรรม ก็ถือว่าไม่เบา เนื่องจากมีหน่วยงานในสังกัดหลักๆ คุมทั้ง ดีเอสไอ ปปง. กรมราชทัณฑ์ ถัดมาก็ต้อง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.ผบ.ทบ. ว่าที่ รอง ผบ.ทบ. แม้จะพลาด แต่ก็มาควบเก้าอี้รมว.พาณิชย์ และก่อนหน้านี้ก็ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณ ปี 58 ไปแล้ว แต่ละตำแหน่งธรรมดาเสียที่ไหนล่ะ !!
00 ส่วนรายอื่น แม้ว่าสำคัญ แต่จะออกมาในโทนเกื้อหนุน แบบ "ไว้ใจพี่-ตอบแทนเพื่อน" อะไรแบบนี้ แต่ก็เน้นเนื้องาน อย่าง มท.1 ที่มอบหมายให้ "พี่รอง" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็เป็นแขนขาด้านอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีต รองผบ.ทบ. เป็นรมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นรองนายกฯ ควบรมว.ต่างประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นอาจดูขัดๆไปบ้างกับการให้ทหารมาดูแลด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ในสายตาตะวันตก แต่ในเมื่อเป็นช่วง "เฉพาะกิจ" อีกทั้งก็มีฝ่าย "พิธีการ" อย่างนักการทูตอาชีพ ดอน ปรมัตถ์วินัย มาเป็น รมช. เข้ามาช่วย เหมือนกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย มาเป็น รมว.ศึกษาฯ แต่ก็มีมือดีด้านการศึกษามาช่วยอุดช่องโหว่ไว้ให้ ซึ่งกระทรวงนี้แหละที่สำคัญ นอกจากวางรากฐานอนาคตชาติแล้วถือว่ามีงบประมาณมากที่สุดอีกด้วย และตบท้ายด้วยตำแหน่ง รมว.คมนาคม ของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง มาคุมงบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท ก็ต้องใช้ทีมงานที่ไว้ใจได้
00 ดังนั้น หากมองในแง่ของอำนาจและการประกันความมั่นคง ก็ต้องบอกว่ายึดโยงกันทั้ง คสช.-รัฐบาล-กองทัพ และยังเป็นการตอบโจทย์ "ยึดอำนาจแบบไม่เสียของ" ซ้ำรอยอดีต เพราะไหนๆ ก็เสี่ยงออกมาแล้ว ผลในอนาคตจะออกมา "บวกหรือลบ" ก็ต้องกำหนดเองดีกว่า นี่ว่ากันเฉพาะในสายความมั่นคงล้วนๆ ยังมีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ต้องจับตาไม่แพ้กันเพราะแยกกันไม่ออก แต่ในยุคทหารก็ต้องให้ฝ่ายแรกล้ำหน้าไปก่อน หากวันนี้พูดถึงเรื่องบทบาทความหมายก็ต้องออกมาอย่างที่เห็น ยังไม่พูดเรื่องฝีมือว่าเป็นแบบไหน เพราะยังไม่ได้ทำงาน ไม่ควรเสียมารยาทวิจารณ์ล่วงหน้า !!
กำลังโหลดความคิดเห็น