xs
xsm
sm
md
lg

คำรามแต่ไม่ตก : บุคคลที่พูดแต่ไม่ทำ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระพุทธเจ้าทรงแสดงฝน 4 ประเภทคือ 1. คำรามแต่ไม่ตก ได้แก่บุคคลผู้พูดแต่ไม่ทำ 2. ตกแต่ไม่คำราม ได้แก่บุคคลผู้ทำแต่ไม่พูด 3. ทั้งไม่คำราม ทั้งไม่ตก ได้แก่บุคคลผู้ทั้งไม่พูดทั้งไม่ทำ 4. ทั้งคำราม ทั้งตก ได้แก่บุคคลผู้ทั้งพูดทั้งทำ นี่คือพุทธพจน์ซึ่งปรากฏที่มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 ตติยะปัณณาสก์

โดยนัยแห่งพุทธพจน์นี้ พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลกับลักษณะของฝน 4 ประเภท ซึ่งสามารถอธิบายขยายความได้ดังต่อไปนี้

ประเภทที่ 1 หมายถึงลักษณะปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ท้องฟ้ามีเมฆฝนปกคลุมมืดครึ้ม ฟ้าร้องคำรามแต่ฝนไม่ตก เปรียบได้กับบุคคลที่คุยโม้โอ้อวดจะทำโน่น จะทำนี่ แต่ถึงเวลาจะทำก็ไม่ทำ จะด้วยเป็นคนมีนิสัยเกียจคร้านไม่ชอบทำหรือเพราะทำไม่ได้จึงไม่ลงมือทำ คนประเภทนี้จัดเข้าอยู่ในประเภททำขนมปังด้วยปาก

ประเภทที่ 2 ตกแต่ไม่คำรามหมายถึงปรากฏการณ์ท้องฟ้าโปร่ง แสงแดดจ้า ไม่มีเค้าว่าจะมีฝนแต่ก็มีฝนตกลงมาเปรียบได้กับบุคคลที่ไม่คุยโม้โอ้อวด แต่ครั้นลงมือทำก็ทำได้ และทำได้เป็นอย่างดี

ประเภทที่ 3 ทั้งไม่คำราม ทั้งไม่ตก หมายถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในวันที่ท้องฟ้าโปร่งปราศจากเมฆฝน และไม่มีฝนตกลงมา เปรียบได้กับบุคคลที่นิสัยเงียบขรึม พูดน้อย ประหยัดถ้อยคำ ทั้งทำเหตุใดๆ ทำให้คนอื่นไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ เข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า คนโง่สามารถปกปิดความโง่ไว้ได้ภายใต้เครื่องแต่งกายอันหรูหรา ตลอดเวลาที่ไม่พูดออกมา

คนประเภทนี้บ่อยครั้งหรือหลายๆ ครั้งทำให้คนที่ไม่คุ้นเคย และไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับเขาจะเกรงขาม เนื่องจากไม่รู้ว่าเขารู้หรือไม่รู้ในสิ่งที่คนทั้งหลายข้องเกี่ยวกัน

ประเภทที่ 4 ทั้งตก ทั้งคำราม หมายถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติท้องฟ้ามืดครึ้มปกคลุมด้วยเมฆฝนมีเสียงฟ้าร้องคำราม และตามมาด้วยฝนตกหนัก เปรียบกับบุคคลที่พูดอย่างจริงจัง และลงมือทำอย่างทุ่มเทด้วยแรงกาย และแรงใจ

ถ้านำฝน 4 ประเภทนี้มาเปรียบเทียบกับผู้คนในสังคมไทย จะพบฝนประเภทไหนในคนกลุ่มใด เพราะอะไร

เพื่อจะตอบคำถามให้ตรงประเด็น ผู้เขียนจึงใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านไปดูความหมาย ของกรรมซึ่งตรงกับคำว่ากระทำในภาษาไทย ก็จะพบว่า คำว่า กรรมมีอยู่ 3 ประการคือ

1. กายกรรม ได้แก่การกระทำทางกาย

2. วจีกรรม ได้แก่การกระทำทางวาจา คือการพูด

3. มโนกรรม ได้แก่การกระทำทางใจหรือการกระทำของใจคือ การคิดนั่นเอง

ในกรรม 3 ประการนี้ กรรมที่จะปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และสัมผัสได้คือ กายกรรมและวจีกรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อตนเองและสังคมรอบข้าง ทั้งเป็นที่ตั้งของการรักษาศีลด้วย

แต่ตามหลักพระพุทธศาสนา กรรมอันเกิดจากทางกายหรือทางวาจา จะถือว่าเป็นกรรมที่ให้ผลทั้งในทางกุศล และอกุศลนั้นจะต้องมีเจตนาอัตอาการของใจร่วมด้วย จะเห็นได้ในพุทธพจน์ที่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเรียกการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาว่าเป็นกรรม “เจตนา กมฺมํ ภิกฺขเว วทามิ” พูดง่ายๆ ก็คือ การพูดและการทำที่มีเจตนา จึงจะถือว่าเป็นกรรมซึ่งมีผลเป็นวิบากที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับผลของการกระทำ ทั้งในทางบวกและทางลบ

ด้วยเหตุนี้ มโนกรรมหรือการกระทำของใจอันได้แก่ การคิดจึงมีอิทธิพลเหนือกายกับวาจา และเป็นที่มาของการพูดและการกระทำทั้งปวง ดังปรากฏในพุทธพจน์ที่ว่า

“ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นหัวหน้า ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ”

ดังนั้น คำว่า พูดแต่ไม่ทำ จึงน่าจะหมายถึง ไม่ทำตามสิ่งที่ตนเองพูดหรือพูดแล้วไม่ทำตามที่พูด และการพูดอย่าง ทำอย่างน่าจะเข้าข่ายอยู่ในประเด็นนี้ด้วย

แต่ไม่น่าจะหมายถึง การไม่ทำในสิ่งที่ตนเองมิได้พูด ทั้งนี้ด้วยเหตุว่า การพูดก็คือการกระทำทางวาจา หรือวจีกรรม ซึ่งในความเป็นจริงก็ปรากฏให้เห็นว่าการพูดก็คือ การทำงาน เช่น การสอนหนังสือของครู ก็ถือว่าเป็นการทำงานของครู และการพูดเพื่อสั่งการให้ลูกน้องทำงานของนาย ก็ถือว่าเป็นการทำงานของเจ้านาย เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่พูด แต่ไม่ทำ ไม่น่าจะหมายถึงผู้ที่ทำงานด้วยการพูด แต่น่าจะหมายถึงผู้ที่พูดแล้วทำตามที่พูดไม่ได้ หรือมิได้ทำในสิ่งที่ตนเองพูดมากกว่า

ดังนั้น ผู้ที่พูด แต่ไม่ทำ จึงน่าจะหมายถึงคนที่ชอบพูด แต่ไม่ชอบทำ หรือทำไม่ได้ตามที่พูด เช่น นักการเมืองที่ปราศรัยหาเสียงในลักษณะสัญญาว่าจะให้นอกจากจะผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้ว ยังเข้าข่ายฝนประเภทคำราม แต่ไม่ตก

ส่วนประเภททำแต่ไม่พูด จะมีอยู่ในกลุ่มคนที่ทำความดีเพื่อความดีทำแล้วไม่ต้องโฆษณาเข้าข่ายประเภทปิดทองหลังพระ

ประเภททั้งไม่พูด ทั้งไม่ทำ ไม่น่าจะพบในปกติชนคนทั่วไป ถ้าจะมีก็ประเภทอปกติชนหรือป่วยทางจิต เช่น เป็นโรคซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งเป็นประเภทมองโลกนี้ไม่น่าอยู่ ผิดแผกไปจากคนทั่วไป

ส่วนประเภททั้งพูด ทั้งทำ น่าจะหมายถึงคนประเภทพูดได้และทำได้ ตามที่พูด หรือที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที คือพูดตามที่ทำ ทำตามที่พูด

โดยสรุปฝน 4 ประเภทเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาแล้ว จะปรากฏในหมู่ปกติชน 2 ประเภทคือ พูดแต่ไม่ทำ ทำแต่ไม่พูด

ส่วนอีก 2 ประเภทคือ ทั้งไม่พูด ทั้งไม่ทำ และทั้งพูด ทั้งทำ ไม่น่าจะพบในปกติชน แต่น่าจะพบในกลุ่มคนซึ่งมีความพิเศษเหนือปกติชนคนทั่วไปคือ

1. ประเภทไม่พูด ไม่ทำ น่าจะพบในอปกติชน เช่น คนเป็นโรคจิตที่มีลักษณะซึมเศร้า ไม่ชอบสุงสิงกับใคร มองโลกนี้ไม่น่าอยู่ เป็นต้น

2. ทั้งพูด ทั้งทำ น่าจะพบในกลุ่มคนซึ่งมีบุคลิกพิเศษแตกต่างไปจากปกติชนทั่วไป เช่น พระพุทธเจ้า เป็นต้น ซึ่งรู้จักอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แล้วจึงจะพูด
กำลังโหลดความคิดเห็น