xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ลุยพิจารณากฎหมาย 5ชั่วโมงรับหลักการ5ฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (28 ส.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน ในที่ประชุม ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) โดยร่างดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ การค้ำประกันหนี้ใน
อนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้ และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน รวมทั้งจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้เฉพาะหนี้ตามสัญญานั้น กำหนดให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้ กระทำการใดๆ อันเป็นผลให้ลดจำนวนหนี้ให้กับลูกหนี้ และให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้อันมีกำหนดเวลาแน่นอน โดยสมาชิกตั้งข้อสังเกตถึงการทำสัญญาการค้ำประกัน ซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะครอบคลุมหรือไม่ เช่น ถ้าเป็นกรณีที่ผู้กู้เงินกลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถขึ้นมา จะมีผลให้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบหนี้ดังกล่าวต่อไปหรือไม่ หรือในกรณีการค้ำประกันการเข้าทำงานให้กับบุคคล ผู้ค้ำประกันยังจะต้องค้ำประกันบุคคลนั้นต่อไปจนกว่าบุคคลดังกล่าวจะพ้นสภาพการทำงานหรือไม่
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 170 เสียง พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน
ต่อมาที่ประชุม มีมติเห็นชอบในหลักการวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่...) พ.ศ.… ด้วย คะแนนเสียงเอกฉันท์ 157 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณารายละเอียดจำนวน 15 คน และ มีมติเห็นชอบในหลักการวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 (ฉบับที่ …) พ.ศ.… ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 158 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และเห็นชอบให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ศุลกากร พิจารณากฎหมายฉบับนี้พร้อมกันเนื่องจากมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน
สำหรับ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากรนั้น เนื่องจากศุลกากรยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ การนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักร ทำให้การศุลกากรของประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยพิธีการศุลกากร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการประเมินค่าภาษีและการเสียภาษี
ดังนั้นสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักร และยื่นคำร้องขอต่ออธิบดีกรมศุลกากร เพื่อพิจารณากำหนดราคาของนำเข้า กำหนดถิ่นกำเนิดของที่จะนำเข้าและตีความพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อจำแนกประเภทของในพิกัดอัตราศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรเป็นการล่วงหน้า ก่อนที่จะนำของเข้ามาในราชอาณาจักร ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากรได้
ส่วน ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มีสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ เนื่องจากประเทศไทยได้
ผูกพันตามสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิก ต้องลดหรือเพิ่มอัตราศุลกากรตามสภาพ แต่พิกัดอัตราศุลกากร
ตาม พ.ร.ก.พิกดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 กำหนดให้จัดเก็บอากรศุลกากรในบางกรณี โดยถือตามราคาหรือตามสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้นทำ
ให้ไม่อาจดำเนินการลดหรือเพิ่มอัตราศุลกากรให้แตกต่างจากพิกัดอัตราศุลกากร เพื่อเป็นไปตามพันธกรณี
ดังนั้นเพื่อให้รัฐมีเครื่องมือส่งเสริมขีดความสามารถแข่งขันด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมกับต่างประเทศ และให้การยกเว้นอากรศุลกากรครอบคลุมไปถึงของที่ได้รับเอกสิทธิ์ตามความตกลงที่ประเทศไทยมีกับองค์การต่างประเทศเป็นการเฉพาะ ตลอดจนก่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดเก็บอากรศุลกากรสำหรับของที่มีมูลค่าเล็กน้อย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 เพื่อกำหนดให้ รมว. คลัง โดยความเห็นชอบของครม. มีอำนาจประกาศ กำหนดอัตราศุลกากร ตามราคาหรือสภาพได้ และกำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากร มีอำนาจพิจารณากำหนดถิ่นกำเนิดของของที่จะเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ
จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการวาระแรก ร่างพ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 172 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียด 15 คน
ทั้งนี้ หลักการและเหตุผลควรให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและผู้รับบำนาญ และทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่รับราชการ อยู่ในวันก่อนวันที่บทบัญญัติ หมวด 3 สมาชิก และสิทธิประโยชน์ของสมาชิกแห่งพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ สามารถกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.ได้ ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ในการพิจารณากฎหมายวาระแรกทั้ง 5 ฉบับ ทั้งนี้ ก่อนปิดการประชุม นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้ลาออกจากสมาชิก สนช.แล้ว ทำให้จำนวนสมาชิก สนช.เหลือ 193 คน และองค์ประชุม 97 คน จากนั้นได้สั่งปิดการประชุม ในเวลา 15.30 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น