xs
xsm
sm
md
lg

SENSITIVE ASTVสุดสัปดาห์ แต่หลับตาให้ “มติชนฯ? คำถามที่ คสช.ต้องตอบสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิตยสารวิเคราะห์ข่าวมติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 1774 ประจำวันที่ 15-21 สิงหาคม พ.ศ. 2557
นับเป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้วที่ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ได้ประกาศยุติการตีพิมพ์เป็นการชั่วคราว ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่พอใจในคำพาดหัวและการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 253 วันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค. 2557 โดยกล่าวหาว่าตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. พร้อมออกคำสั่งฉบับที่ 108/2557 ตักเตือน พร้อมให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพต่อบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ คสช.ทราบโดยเร็ว

กระนั้นก็ดี ในระหว่างนี้ได้เกิดกรณีที่น่าสนใจในแวดวงสื่อสารมวลชนขึ้นอีกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อปรากฏข่าวว่า บจม.มติชน ได้สั่งการไปยังเอเย่นต์หนังสือทั่วประเทศให้ยุติการจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 15-21 สิงหาคม พ.ศ.2557 ปีที่ 34 ฉบับที่ 1774 ยกเว้นในส่วนที่มีการส่งต่อไปยังแผงหนังสือแล้ว เนื่องจากมีข้อผิดพลาดบางประการในฉบับ โดยให้เหตุผลในการสั่งเก็บสั้นๆ เพียงว่า ไม่อยากให้โรงพิมพ์ถูกปิด

ทั้งนี้ มติชนสุดสัปดาห์ฉบับดังกล่าวมีหน้าปกเป็นภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อความพาดหัวว่า “หยัดตรงดั่งปลายทวน” และ “คิดถึงนะ” จาก ... ลุงยู้ดดด

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า หนังสือฉบับดังกล่าวมี พบว่ามีบทความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.ในหลากหลายมิติ เช่น เรื่องจากปกในหน้า 10 ที่ชื่อว่า “หยัดตรงดั่งปลายทวน” ซึ่งระบุถึงความสัมพันธ์อันดีกับระบอบทักษิณ

“การหยัดตรงดั่งปลายทวนของ พล.อ.ประยุทธ์นี้ ดูเหมือนจะเป็นที่พึงใจต่อฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่น้อย เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ต่อสู้ จึงมีการแสดงท่าที “ตอบแทน” ด้วยการทำตัวเงียบๆ ไม่ก่อปัญหาให้คสช. จึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงภาวะเอกันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าและใหม่จากบางฝ่ายเลยทีเดียว”

ประเด็นนี้ถ้าจะว่าไปแล้วก็มิได้แตกต่างจากกรณีที่ คสช.กล่าวหา ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์เรื่องการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยข้อความที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าเป็นเท็จก็คือข้อความในหน้า 18 ที่เขียนเอาไว้ว่า “การคัดสรรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่ามีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน เอาโควตามาแบ่งเค้ก” ขณะที่ข้อเขียนของมติชนสุดสัปดาห์ก็เป็นไปในท่วงทำนองเดียวกัน แถมยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรงถึงเรื่องการตอบแทนที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์อีกต่างหาก

ขณะที่ในรายงานพิเศษในหน้า 16 ที่ชื่อว่า “จาก “ป๋าเปรม” ถึง “ป๋าป้อม” ขั้วอำนาจใหม่ไทยแลนด์ “3 ป. 3 ทหารเสือฯ” กับไวท์เฮาส์ ร.1 รอ. ทำเนียบ คสช.” ก็กล่าวถึงบารมีที่เพิ่มขึ้นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งยังกล่าวถึงกรณีที่ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ย้าย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร พี่ชายพ้นเก้าอี้ ผบ.ทบ. ที่นั่งมาแค่ 1 ปี ให้ไปแขวนเป็น ผบ.สส. เพื่อให้ พล.อ.ประวิตร มาเป็น ผบ.ทบ. จึงถือว่า พล.อ.ประวิตร กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีเยื่อใยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่บ้าง แม้ พล.อ.ประวิตร จะเลือกข้างพรรคประชาธิปัตย์ และสนิทสนมกับนายสุเทพ ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นศัตรูกัน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ คสช. ไม่ได้ตามไล่บี้ พ.ต.ท.ทักษิณในต่างแดนอีกด้วย

นี่ก็เป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.เช่นกัน โดยอ้างเหตุที่ คสช.ไม่ได้ไล่บี้ พ.ต.ท.ทักษิณในต่างแดนว่าเป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณคือผู้ที่เลือก พล.อ.ประวิตรให้เป็น ผบ.ทบ. จึงถือว่า พล.อ.ประวิตรกับ พ.ต.ท.ทักษิณยังมีเยื่อใยที่ดีต่อกันอยู่บ้าง

และในรายงานชิ้นเดียวกันนี้เอง ยังมีบางช่วงบางตอนที่มติชนสุดสัปดาห์พยายามที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์กับสถาบันเบื้องสูงให้เห็น แม้จะไม่ชัดแจ้ง แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่ามีจิตเจตนาว่าอย่างไร

ทว่า ประเด็นที่มีปัญหาที่สุดน่าจะอยู่ตรงบทกวีในคอลัมน์ “กวีกระวาด” หน้า 90 ซึ่งมีชื่อว่า “สติ” โดยผู้เขียนใช้นามปากกาว่า “ระริน มุข”

เป็นปัญหาที่ค่ายประชาชื่นชี้แจงว่า เป็นความผิดพลาดในการพิสูจน์อักษร มิได้เกิดจากความตั้งใจ ซึ่งก็สามารถเข้าใจได้

แน่นอน คงไม่อาจเปิดเผยรายละเอียดของบทกวีดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการกระทำผิดซ้ำ

แต่จะอย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นต้องถือว่าเป็นความผิดสำเร็จ และเป็นความผิดสำเร็จที่เกี่ยวพันกับสถาบันเบื้องสูง ซึ่ง คสช.ในฐานะที่ประกาศจุดยืนชัดเจนในเรื่องนี้จำต้องมีปฏิกิริยาออกมาบ้าง มิใช่ปล่อยให้นิ่งเฉยเลยผ่านไป เพราะเมื่ออ่านแล้วสามารถทำให้เข้าใจได้ตามที่บทกวีต้องการสื่อสารได้เช่นกัน

นี่คือมาตรฐานของ คสช.ที่ต้องตั้งคำถาม


ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์แล้วยิ่งชวนให้ฉงน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสถาบัน ซึ่งเป็นชัดเจนว่า คำพาดหัว “คสช.พ่อทุกสถาบัน”นั้น ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์มิได้มีความหมายหรือมีเนื้อความตอนใดที่พาดพิงไปถึงสถาบันเลยแม้แต่น้อย และเนื้อหาในรายงานชิ้นดังกล่าวก็มิได้มีตอนไหนที่กล่าวถึงสถาบันให้เห็น ขณะที่มติชนสุดสัปดาห์แม้จะอ้างเรื่องความผิดพลาด แต่ก็เป็นความผิดพลาดที่กระทบสถาบันเบื้องสูงโดยตรง

หรือ คสช.มีความ Sensitive เป็นพิเศษกับเครือ ASTVผู้จัดการและมีความเอื้ออาทรต่อมติชนสุดสัปดาห์เป็นพิเศษ

นี่เป็นคำถามที่ คสช.ต้องตอบสังคม และโปรดอย่าให้สังคมเข้าใจไปในท่วงทำนองนั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น