xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ศาลฎีกานักการเมืองดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นแก้กฎหมายเพิ่มขั้นตอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพศาล พืชมงคล อดีต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีดำริว่า อาจมีการเสนอเพิ่มขั้นตอนการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของนักการเมือง โดยให้มีสองศาล จากที่มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียว โดยตั้งข้อสังเกตว่า การปรารภของ นายสมชาย ได้อ้างว่าเป็นความดำริของฝ่ายวิชาการของศาล แต่น่าเสียดาย ไม่ระบุว่าฝ่ายวิชาการอะไร ของศาลไหน ซึ่งเท่าที่ตนทราบ ไม่ว่าสำนักงานส่งเสริมตุลาการ หรือเนติบัณฑิตยสภา หรือสำนักงานเลขานุการศาลยุติธรรม ไม่เคยมีดำริเช่นนี้เลย และเท่าที่ทราบนั้น ในสายตาของฝ่ายตุลาการไม่เห็นว่า การดำเนินงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีปัญหาความไม่ยุติธรรม หรือความไม่ถูกต้อง หรือความไม่ชอบด้วยขั้นตอน แต่ประการใด และนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้บังคับ ก็มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตของนักการเมือง และการทำงานของศาล ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้มีเสียงท้วงติงจากจำเลยบางคน ก็ไม่ได้ทำให้ความเชื่อมั่นในศาลนี้กระทบกระเทือน หรือมีปัญหาแต่ประการใด
การดำริแก้ไขให้เพิ่มชั้นศาลขึ้นอีก จึงทำให้คนคิดไปได้ว่า การทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผ่านมามีปัญหา ซึ่งจะเกิดผลลบแก่ศาล และเกิดผลดีแก่คนขี้โกง
นายไพศาล กล่าวด้วยว่า การเพิ่มขั้นตอนให้มีชั้นศาลเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง จะทำให้เวลาในการพิจารณาพิพากษาคดียืดเยื้อออกไป เพราะคดีที่จะขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่ใช่อยู่ๆ ก็มาฟ้องศาลได้ ต้องผ่านกระบวนการที่ยาวเหยียดมาก คือต้องผ่านขั้นตอนจาก ป.ป.ช. มาก่อน กระบวนการที่ยืดเยื้อยาวนานของป.ป.ช. ก็ถูกกล่าวหาอยู่ว่าเอื้อประโยชน์ให้พวกขี้โกง โกงแล้วโกงอีก จนกฎหมายบังคับอะไรไม่ได้ จาก ป.ป.ช. ก็ไปอัยการ ซึ่งก็มีกระบวนการที่ยืดเยื้อเรื้อรังอีก จนกระทั่งเป็นปัญหาหมักหมมอยู่ถึงทุกวันนี้ เพราะถ้าอัยการไม่เห็นด้วย ก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วม ตั้งคณะกรรมการร่วมแล้ว ถ้าเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องจบไป หรือไม่ ป.ป.ช. ก็ต้องไปหาทนายฟ้องเอง ครั้นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ก็ยังต้องมีกระบวนการที่ศาลฎีกาต้องประชุมใหญ่ เพื่อคัดเลือกองค์คณะ จากนั้น องค์คณะก็ต้องตั้งคณะเจ้าของสำนวน แล้วลงมือทำการไต่สวน และใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสอย่างกว้างขวาง และมีองค์คณะเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีปัญหา เรื่องความถูกต้องเที่ยงธรรมของศาล ต่างกับคดีทั่วไปที่ใครๆ ก็ไปยื่นฟ้องโครมไปได้เลย จึงต้องมีหลายศาล ดังนั้นหากจะเพิ่มชั้นศาลขึ้นมาอีกก็จะยิ่งยืดเยื้อเรื้อรัง และเอาผิดกับใครไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะกระบวนการที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็รู้เห็นกันทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วว่า ทำอะไรกับพวกขี้โกงไม่ได้ หากไปขยายเวลา ขยายชั้นศาล ซึ่งดูเหมือนว่าดี แต่ที่แท้ก็คือ ยิ่งเอื้อประโยชน์ให้กับพวกขี้โกงมากขึ้นนั่นเอง
"เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก หากจะปฏิรูปก็ควรถือหลักการว่า ต้องมีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งการโกงอย่างได้ผล และเมื่อโกงแล้วก็สามารถปราบปราม อย่างได้ผล ความยุติธรรมในตัวหนังสือใคร ๆ ก็พูดกันได้ แต่ในที่สุดก็จะโกงกันหนักขึ้นกว่าเก่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง”นายไพศาล ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น