มีกระแสข่าวว่า สนช. จะไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำ เหตุเวลาดำรงตำแหน่งปีเดียว ทำอะไรไม่ได้มาก อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นทหาร - ขรก. มีภารกิจประจำ อาจไม่มีเวลาประชุม กมธ. คาดอาจใช้ กมธ. วิสามัญเฉพาะ “ครูหยุย” เชื่อเป็นไปได้ ถือว่าประหยัดงบประมาณ “สมชาย” ลั่นเป็นไปไม่ได้ เพราะ สนช. ชุดก่อนก็เคยตั้งมาแล้ว 21 คณะ
วันนี้ (10 ส.ค.) นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า สนช. จะไม่ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) ประจำสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า ก็มีความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องดูว่าสมาชิกคิดเห็นกันอย่างไร หากทุกคนเห็นด้วยก็ยกเว้นการใช้ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการสรรหากรรมาธิการ ที่ผ่านมา การตั้งกรรมาธิการประจำคณะต่างๆ ก็จะไปศึกษางานที่เกี่ยวข้อง หรือมีร่างกฎหมายใดเข้ามาที่ประชุมใหญก็จะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการชุดนั้นๆ ไปศึกษาแล้วก็นำมาเข้าพิจารณาในที่ประชุมโดยไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเป็นการประหยัดเวลา และบุคลากรไปในตัว แต่ก็มีข้อเสียบ้าง คือ บางคณะมีการตั้งผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งอนุกรรมาธิการ 6 - 7 ชุด ซึ่งก็หมายความว่า ต้องใช้งบประมาณตามไปด้วยทั้งเบี้ยประชุม เบี้ยดูงาน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขณะที่บางครั้งที่เรื่องที่อนุกรรมาธิการทำก็ไม่ได้นำเสนอ
นายวัลลภ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ติดใจว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งคณะกรรมาธิการ ในกรณีที่ไม่มีก็สามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเฉพาะ เพื่อพิจารณากฎหมายในแต่ละฉบับได้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาเห็นชอบและเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย แต่ถ้ามีการตั้งคณะกรรมาธิการ ตนก็ขอเสนอให้ สนช. เป็นกรรมาธิการได้ 1 คณะ และตั้งอนุกรรมาธิการได้ไม่เกิน 3 อนุกรรมาธิการ เพื่อให้ สนช. ทำงานได้เต็มที่ และต้องไม่มีการตั้งงบประมาณในการดูงานต่างประเทศ รวมไปถึงตัวประธาน สนช. และรองประธาน สนช. ด้วย ยกเว้นในกรณที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ สนช. มีระยะเวลาอยู่ประมาณปีกว่า ก็จะพ้นจากตำแหน่งเพราะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ด้าน นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ เพราะกรรมาธิการสามัญมีหน้าที่ตรวจสอบ รับเรื่องราว และปัญหาจากประชาชน ประกอบกับขณะนี้เราไม่มีวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมา สนช. ชุดก่อนก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญถึง 21 คณะ ซึ่งระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก็พอๆกัน หากไม่มีคณะกรรมาธิการ สนช. จะทำงานกันแบบไหน อย่างไรก็ตาม การจะมีหรือไม่มีต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม สนช. เนื่องจากขณะนี้ยังใช้ข้อบังคับการประชุม สนช. ปี 49 ซึ่งมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ดังนั้น คงต้องมีการยกร่างข้อบังคับใหม่ คาดว่าเมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธาน สนช. แล้ว ที่ประชุม สนช. คงต้องตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อยกร่างข้อบังคับใหม่ ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้นก็ต้องดูว่าเนื้อหาในร่างข้อบังคับใหม่จะเป็นออกแบบไหน อย่างไรก็ตาม เรื่องเร่งด่วนที่จ่อเข้ามาให้ สนช. พิจารณาคือ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งคาดว่า น่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ประมาณกลางเดือน ส.ค. นี้
รายงานข่าวแจ้งว่า มีกระแสข่าวว่า สนช. จะไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช. เนื่องจากว่า ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 1 ปี คงไม่สามารถทำอะไรได้มาก อีกทั้ง สนช. ส่วนใหญ่เป็นทหารและข้าราชการระดับสูง มีภารกิจประจำ อาจไม่มีเวลามาประชุมกรรมาธิการ และหน้าที่หลักของ สนช. ชุดนี้คือต้องพิจารณากฎหมายเป็นหลัก โดยมีกฎหมายที่จ่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. กว่า 40 ฉบับ จึงเห็นว่าไม่ควรตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ แต่อาจจะใช้เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเฉพาะ เพื่อพิจารณากฎหมายเป็นหลัก หรืออาจเป็นไปในลักษณะที่ใช้ตั้งคณะกรรมาธิการประสานงานหรือวิป ขึ้นมา 1 คณะ เพื่อใช้เป็นคณะการพิจารณร่างกฎหมาย และเรื่องภายใน สนช. อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้มีการยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ใหม่ไว้แล้ว โดยในข้อบังคับฉบับใหม่นี้ก็ยังคงมีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช. อยู่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช. ว่าจะมีมติอย่างไร