รายงานพิเศษ
จันทร์ 11 สิงหาคม คอนโดมิเนียม “ยูเพลส” ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ความสูง 6 ชั้น ริมถนนคลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ได้เกิดถล่มพังครืนลงมาทับร่างคนงานจนเสียชีวิต ซึ่งเหตุอุบัติภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้สร้างความเศร้าสลดใจแก่ญาติผู้เดินทางมายังที่เกิดเหตุที่ต่างร้องไห้ระงม เฝ้าลุ้นหวังให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นแก่ครอบครัวของพวกเขา
สังคมจึงได้มีการเรียกร้องให้เจ้าของ บริษัท “ปลูกแปลง” ซึ่งได้รับเหมาดำเนินกิจการก่อสร้างคอนโดฯ ยูเพลส รวมถึงวิศวกรออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วยิ่งพอข่าวตึกถล่มนี้ปรากฏออกไปตามหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชนก็ได้มีการสืบเสาะข้อมูลเจ้าของคอนโดฯ ยูเพลส กระทั่งพบข้อมูลอันน่าสนใจว่า บริษัทปลูกแปลงเป็นของนายชนัยชนม์ เกิดเทศ บุตรชายคนเล็กของนายชลอ เกิดเทศ
อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับเหตุอุบัติภัยที่เกิดขึ้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหานั้นเกิดจากการก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ในประเทศไทย
หากย้อนกลับไป ศุกร์ 13 สิงหาคม ปี 2536 ก็เคยเกิดโศกนาฏกรรม โรงแรมรอยัลพลาซ่า ใจกลางนครราชสีมา ได้ล้มครืนถล่มลงมาทับร่างจนมีผู้เสียชีวิตถึง137ราย นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่คนเมืองย่าโมต้องจดจำไว้ไม่มีวันลืม
ความสูญเสียที่เกิดขึ้น จันทร์ 11 ส.ค. กับ ศุกร์13 ส.ค.จึงมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือการก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน และการไร้จิตสำนึกตระหนักรู้หน้าที่ของผู้ดำเนินการก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบ แต่ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญอยู่เบื้องหลังอย่างผู้ใช้แรงงานและลูกค้ากลับเป็นผู้ต้องรับผลเคราะห์ร้ายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเอง
กระนั้นก็ตาม กล่าวสำหรับเหตุอุบัติภัยยูเพลสถล่มนั้นทางเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งสรรพกำลังช่วยกันค้นหาคนงานที่เหลืออยู่ที่ติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังของแท่นปูนขนาดใหญ่ กระทั่งสามารถช่วยชีวิตขึ้นมาได้ทั้งหมด 5 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้น มีนายกล้าณรงค์ ปราบภัย อายุ 24 ปี ชาวบุรีรัมย์ ที่ได้ติดอยู่ภายใต้แท่นปูนนานถึง 27 ชั่วโมง ทว่า สามารถรอดชีวิตได้ราวกับปาฏิหาริย์ แต่ก็ต้องหดหู่ใจเมื่อมีผู้เสียชีวิตถึง 14 ราย (14 ส.ค.) และบาดเจ็บ 25 ราย
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) ได้ตั้งข้อสมมุติฐานเหตุคอนโดมิเนียมถล่มไว้ 3 ประการ คือ
1. การออกแบบถูกต้องหรือไม่ มีการคำนวณน้ำหนักของเสาเหล็กในเสาและน้ำหนักของพื้นถูกต้องหรือไม่ 2.วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ทั้งเหล็ก คอนกรีตได้มาตรฐานหรือไม่ และ 3. ขั้นตอนการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ทั้งนี้จากการสังเกตพบว่าการพังทลายเป็นระนาบเดียวกันเหมือนอาคารไม่แข็งแรงพอในการรับน้ำหนัก อาจมีการใช้สลิงขึงและหล่อปูนไม่ได้มาตรฐาน คอนกรีตยังไม่เซตตัวก็ทำ การก่อสร้างต่อ เพราะมีการเร่งรัดงาน
ขณะที่นายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. ขยายความเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบอาคารที่ถล่มพบโครงสร้างมีเสารองรับตัวอาคาร 4 เสา หรือ 4 มุม เสาทางด้านซ้ายสุดเป็นเสาจุดอ่อนแอไม่แข็งแรง ประกอบกับมีการติดตั้งคอนกรีตพื้นสำเร็จรูปถึงชั้น 6 โดยการวางนั่งร้านเป็นฐานรองรับ แต่ระหว่างติดตั้งคอนกรีตสำเร็จรูปน้ำหนักของตัวคอนกรีตกลับมาอยู่จุดด้านซ้ายของเสาซ้ายสุด ทำให้นั่งร้านค้ำยันการก่อสร้างแผ่นพื้นมีจำนวนไม่เพียงพอ และน้ำหนักของโครงสร้างอาคารถูกดึงมาฝั่งด้านซ้ายจุดที่เสาไม่แข็งแรง เกิดสูญเสียตำแหน่งอย่างมาก จนเกิดการพังทลายลงมา
อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุคอนโดฯ ยูเพลสถล่มนั้น พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รรท.ผบช.ภ.1 พร้อมด้วย พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ผอ.กฎหมาย กอ.รมน.หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คสช. ก็ได้มีการแถลงจับกุม 5 ผู้ต้องหาคือ นายศักดิ์สิทธิ์ อินทร์ทอง อายุ 44 ปี วิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้าง 2.นางเพ็ญศรี กิติไพศาลนนท์ อายุ 49 ปี ผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และในฐานะนิติบุคคล3.นายเดี่ยว ปราบโจร อายุ 43 ปี ผู้รับเหมาช่วง และ4.นายบุญยกร หีบทอง อายุ 48 ปี ในฐานะนิติบุคคลและส่วนตัว(กรรมการผู้จัดการบริษัทยู เพลส จำกัด) ส่วนนายชานัยชนม์ เกิดเทศ เจ้าของบริษัทปลูกแปลง ผู้ก่อสร้าง และนายจิระ ขันมั่น โฟร์แมน อยู่ระหว่างการติดตามตัวดำเนินคดี
โดยทันทีที่มีการแถลงข่าวจับกุม ทั้งวิศวกรและผู้รับเหมา ต่างก็โยนความรับผิดกันไปมา สะท้อนถึงทัศนคติการทำงานที่บกพร่อง และไม่ต้องสงสัยเพราะเหตุใดคอนโดยูเพลสจึงได้ถล่มทับคนงานจนสังเวยชีวิตไปหลายราย
“ส่วนของโครงการยังไม่ได้ตรวจสอบความเรียบร้อย เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวซึ่งนายเดี่ยว ผู้รับเหมาช่วง ได้เทคอนกรีตลงไปแบบพลการ ทั้งที่ต้องให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบก่อนแท้ๆ ทำให้ตัวโครงสร้างยังไม่พร้อมที่จะรับน้ำหนักของคอนกรีตที่จะเทลงไป กระทั่งเกิดเหตุขึ้น” นายศักดิ์สิทธิ์ วิศวกรแจกแจง
ขณะที่นายเดี่ยว ปราบโจร ผู้รับเหมาช่วงได้ให้เหตุผลว่า ขณะเกิดเหตุนั้นได้ออกไปทำธุระจึงไม่ได้อยู่ที่โครงการ และโบ้ยไปให้หัวหน้าบริษัทที่เขาอ้างว่าชื่อกบ ได้เป็นผู้สั่งให้เทคอนกรีต 40 คิว ซึ่งอยู่บริเวณบนสุดของอาคาร โดยเริ่มเทจากด้านในฝั่งซ้ายออกมาด้านนอกฝั่งขวา ก่อนที่จะเป็นเหตุให้คอนโดฯ ยูเพลส ทรุดตัวลงมาถล่มทับคนงานในที่สุด
กล่าวสำหรับบริษัท ปลูกแปลง จำกัด (PLOOK PLANG CO.,LTD.) ที่มีนายชานัยชนม์ เกิดเทศ เป็นเจ้าของบริษัทและอยู่ระหว่างศาลออกหมายจับนั้น ได้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 99/542 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และ 60 อาคารอมร ชั้น 5 ซอยเฉลิมสุข ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
โดยบริษัทปลูกแปลง จดทะเบียนวันที่ 6 สิงหาคม 2541 โดยมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามคือ นายชนัยชนม์ เกิดเทศ และมีผู้ถือหุ้น 7 คน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ นายชนัยชนม์ เกิดเทศ ถือหุ้นร้อยละ 94 จำนวนหุ้นที่ถือ 75,200 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 7,520,000 บาท โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของสื่อมวลชนพบว่า นายชนัยชนม์ เป็นบุตรชายคนเล็กของ นายชลอ เกิดเทศ ซึ่งถูกถอดยศจากคดีขโมยเครื่องเพชรราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย โดยพบว่า นายชลอ ถือหุ้นอยู่ด้วยร้อยละ 0.3750% คิดเป็นจำนวน 300 หุ้น มูลค่า 30,000 บาท
กระนั้นก็ดี ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใด วิศวกรที่ไม่ได้คุมงานเนื่องจากให้เหตุผลว่าเป็นวันหยุดยาว หรือผู้รับเหมาที่อ้างว่าออกไปทำธุระ ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองผู้รับผิดชอบจะต้องหาคำตอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดครั้งนี้ให้จงได้ เฉกเช่นเดียวกับการเยียวยาแรงงานที่เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าว ด้วยจำนวนเงิน 30,000 บาทที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่า เหมาะสมและเพียงพอหรือไม่
แน่นอน ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ชีวิตของผู้ใช้แรงงานและลูกค้าจะอยู่บนความเสี่ยงทันที หากนายทุนและวิศวกรขาดจิตสำนึกรับผิดชอบงาน ทำให้การก่อสร้างอาคารเป็นไปโดยไม่ได้มาตรฐาน