xs
xsm
sm
md
lg

สวนพุทธธรรม

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

ชีวิตในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ หรือบ้านเรือนแออัดกับชีวิตในบ้านสวนโล่งแจ้ง บริเวณกว้างใหญ่อากาศบริสุทธิ์ ร่มรื่นชื่นใจด้วยแมกไม้นานาพันธุ์

ชีวิตสองวิถีหรือสองภาวะดังกล่าว คงแตกต่างกันไม่น้อยทีเดียว

ชีวิตในบ้านที่ไร้สวนรอบบ้าน ก็คงอยากมีสวนบ้าง และก็คงได้แต่ฝันแต่รอ ตราบที่ยังไม่มีเงินมากพอไปซื้อที่ดินใหม่และสร้างบ้านใหม่ จะได้ปลูกไม้ประดับ ไม้ยืนต้น รวมทั้งพืชผักสวนครัวให้เต็มสวนสะใจไปเลย เมื่อไหร่ฝันจะเป็นจริงเสียที

แม้ไร้เงินไร้ทอง ไม่ต้องรอต้องฝันอีกต่อไปก็ได้ สร้างข้างนอกไม่ได้ ก็สร้างมันข้างในละซิตรงไหน? ก็ตรงใจของเราไงล่ะ!

สร้าง “สวนพุทธธรรม” ขึ้นในใจของเรา อีกไม่นานแสงแห่งพุทธธรรมจะฉายฉานออกไปข้างนอกสานต่อ ส่งต่อแบบไร้ขอบเขต เนื่องเพราะ…

ใจคือทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งทั้งมวลล้วนเกิดจากใจ ใจเป็นเช่นไร สิ่งทั้งมวลก็เป็นเช่นนั้น

มีที่ดินสักแปลงหลายๆ ไร่ยิ่งดี ปรับพื้นที่ให้ราบเรียบ ทำทางเดินหรือถนนเป็นวงกลมสองวงคือวงใหญ่รอบนอก และวงเล็กรอบใน มีทางตรงเชื่อมต่อวงกลมใหญ่กับวงกลมเล็ก 4 สาย ตรงกลางวงกลมเล็กยกพื้นสูง ตั้งฐานพระพุทธรูปมีศาลาหรือแท่นนั่งคอนกรีต 4 แท่นวางอยู่กลางสนาม 4 แห่ง รวมเป็นหนึ่งเดียวคือ “สวนพุทธธรรม” มีจุดประสงค์หรือเป้าหมายเพื่อพัฒนาสุขภาพกาย และสุขภาพใจ

คำว่า “สวน” มีความหมาย 2 นัยคือ (1) พื้นที่ปลูกไม้ผล พืช ผัก หรือไม้ดอก และ (2) ทวน, ย้อน, ตอบโต้, สองหาข้อเท็จจริง ฯลฯ

คำว่า “พุทธะ” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ความจริง พุทธะคำที่รากศัพท์แท้ๆ แปลว่า “ผู้ตื่น” ที่แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพิ่มเข้าไปนั่นน่ะเป็นชั้นสอง ชั้นหนึ่งแท้ๆ พุทธะนี้แปลว่า ผู้ตื่น ไม่ใช่ตื่นขลาดกลัว ตื่นตูมอะไรไม่ใช่ คือว่า ตื่นจากหลับ เมื่อตื่นแล้วจึงเรียกว่า พุทธะ

คำว่า “ธรรม” เป็นคำสั้นๆ เพียงพยางค์เดียว แต่มีความหมายกว้างขวาง ลึกซึ้ง น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งเพียงไร เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาดูอย่างยิ่ง ดังนี้…

ในภาษาบาลีหรือภาษาพุทธศาสนาก็ตาม คำว่า “ธรรม” นั้นหมายถึง สิ่งทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นสิ่งใดเลย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดี สิ่งชั่ว หรือสิ่งไม่ดีไม่ชั่ว ก็รวมอยู่ในคำว่า “ธรรม” ทั้งหมด ดังพระบาลีว่า...กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา เป็นอาทิ

คำว่า “พุทธธรรม” คือธรรมของพระพุทธเจ้า หรือคือสิ่งๆ หนึ่งที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นพุทธะ คือผู้ตรัสรู้ ผู้เบิกบาน

เป็นเรื่องธรรมดาอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่เบื้องหลังของชีวิต

รุ่งเรือง สว่างไสวอยู่เสมอ ไม่รู้จักดับ ทรงตัวเองอยู่ได้ตลอดกาล และพร้อมอยู่เสมอที่จะสัมผัสกับใจ ถ้าหากลอกเอาเครื่องหุ้มห่อจิตออกเสียงได้เมื่อใด ก็จะพบสิ่งนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้แต่ความสงบเยือกเย็น ความสะอาด และความแจ่มแจ้งในปัญหาของชีวิตทุกอย่าง

สิ่งๆ นี้เป็นสัจธรรมอันเดียวที่สูงยิ่งกว่าสัจธรรมทั้งหลาย ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่พบกับสัจธรรมนี้ ความปลอดภัยที่แท้จริงของชีวิตยังมีไม่ได้

คำว่า “จิต” หมายถึงธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ, วิญญาณ

จิต มีไวพจน์ คือคำที่ต่างเพียงรูป แต่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน ใช้แทนกันได้หลายคำ เช่น มโน มานัส หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย์ และวิญญาณ เป็นต้น

จิต คือธรรมชาติที่เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของสิ่งที่มีชีวิตทุกๆ สิ่งนั้นคือ จิตจะสูงหรือต่ำย่อมแล้วแต่ว่าสิ่งนั้นๆ เป็นสิ่งที่มีชีวิตอยู่ในขั้นไหน เลวประณีตอย่างไร จิตมีธรรมชาติเบาและเร็วในการที่จะรู้สึก คือเปลี่ยนแปลงตัวมันเอง ในเมื่อมีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน

จิตเดิมแท้ คือจิตที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ซึ่งเมื่อไม่มีอะไรปรุง คือไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ไม่มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

จิตว่าง คือว่างจากความนึกคิด หรือรู้สึกประเภทที่มีความหมายเป็นตัวกู-ของกู จิตว่างนี้ ไม่ใช่เป็นจิตเลื่อนลอยสูญเสียความรู้สึก นั่งเงียบ ตัวแข็งเป็นก้อนหิน ท่อนไม้อะไร ที่เขามักจะพูดกันอย่างนั้น อย่างนั้นผิดโดยประการทั้งปวง จิตที่ว่างตามความหมายอันถูกต้อง เป็นจิตที่ว่องไวอย่างยิ่ง เฉลียวฉลาดแหลมคมยิ่งนัก ไม่ยึดมั่นถือมั่นเกาะเกี่ยวอะไรเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความทุกข์อย่างยิ่ง

จิตมีสองอย่าง อย่างแรกจิตหลับยืน หรือจิตใหม่เทียม ปรุงแต่งได้ อย่างที่สอง จิตตื่นรู้ หรือจิตเดิมแท้ ปรุงแต่งไม่ได้ ดังนั้น จิตคือผู้หลับยืนและตื่นรู้

สวนแห่งนี้แม้ดูจะธรรมดาๆ แต่ก็ออกจะลึกซึ้งไม่น้อยทีเดียว คือต้องเข้าใจ-เข้าถึงกับคำว่า พุทธ ธรรม จิต พุทธธรรม เป็นสวนที่มีทั้งทางโลกและทางธรรม มีทั้งโลกิยะ และโลกุตตระ

“สวนพุทธ” คือชื่อย่อ “สวนพุทธธรรม” คือชื่อเต็ม มีจุดหมายหรือเป้าหมายอยู่ที่ “การพัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพใจ” ดังที่เกริ่นมาแล้ว

คนเราประกอบด้วย 2 ส่วนคือ กายและใจ หรือรูปและนาม รูปคือร่างกาย นามคือจิตใจ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)... (วิญญาณเป็นจิต ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร เป็นเจตสิก)

ดังนั้น การพัฒนาอะไร ต้องประกอบไปด้วยสองส่วนจึงจะถือว่าเป็นการพัฒนาที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ ถ้าทำเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะกลายเป็นคนไม่เต็ม

ให้ดูจากแผนภูมิหรือแก่นหลักสวนพุทธธรรม

หมายเลข 7 คือทางเดิน ควรทำเป็นถนนคอนกรีตสำหรับเดิน วิ่ง ออกกำลังกาย หากเหนื่อยนักก็พักที่ 1-2-3-4 อาจจะเป็นศาลาหรือแท่นนั่งคอนกรีต แต่ละแห่งมีจารึกตามลำดับหมายเลขคือ 1. ทุกข์ 2. สมุทัย 3. นิโรธ 4. มรรค หากพื้นที่ศาลาหรือแท่นนั่งกว้างใหญ่ ก็เติมคำในวงเล็บด้วย เช่น ทุกข์ (ควรกำหนดรู้) สมุทัย (ควรละ) นิโรธ (ควรทำให้แจ้ง) มรรค (ควรเจริญ) เป็นการเตือนสติให้รู้หน้าที่อันจะพึงทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละอย่าง เพื่อตระหนักรู้ และตื่นรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป (อริยสัจ 4 คือความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ)

หมายเลข 5 เป็นพื้นยกสูงคอนกรีตรอบฐานพระพุทธรูป เพื่อความสวยงามเด่นสง่า

หมายเลข 6 เป็นฐานที่ประดิษฐานรูปหล่อพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางลีลา หันพระพักตร์เข้าเมืองทางทิศตะวันออกมีชื่อว่า “พระธรรมจิต” เป็นที่เคารพกราบไหว้บูชาของประชาชน

รอบศาลหรือแท่นนั่งแต่ละแห่งควรปลูกหญ้า ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น เพื่อความสวยงามร่มรื่นเป็นธรรมชาติ ยามพักผ่อนและสนทนาธรรม จะได้ออกอรรถรสหมดจดฤทัย

สวนพุทธ หรือสวนพุทธธรรม ก็จะกลายเป็นสถานที่พักผ่อน พัฒนากายพัฒนาจิต ร่วมกันนึกคิดสร้างสรรค์ และเสวนาธรรมอันล้ำเลิศแบบผ่อนคลายสบายๆ

ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด แม้กระทั่งสถานศึกษาสามารถทำสวนพุทธธรรมได้ตามศักยภาพของแต่ละแห่ง ตัวเราเองก็ทำได้ โดยตัวเราเองตามสภาพของเรา

แล้วผลที่เกิดขึ้น คือสุขภาพกายสุขภาพใจ หรือมีความสุขทั้งกายและใจ ก็จะเป็นของเราทุกคนสมตามนัยแห่งสวนพุทธ หรือสวนพุทธธรรม นั่นคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะมัวหลับใหลอยู่ไยมาตื่นรู้กันเถิดที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ณ สวนพุทธธรรมของเรา

“สวนพุทธธรรม
พระธรรมจิต
รูปนามเรืองฤทธิ์
สถิตใจชน”

จิตคือพุทธ พุทธคือธรรม ธรรมคือจิต 3 สิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน (รวมกันเป็นหนึ่งคือสุญญตา)

รูปนามใดหรือบุคคลใดมี 3 สิ่งนี้ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง สุกสว่าง แตกฉานเรืองฤทธิ์ เรืองปัญญา ทำสิ่งใดก็จะได้รับแต่ความสำเร็จ เป็นหัวหน้าหรือผู้นำก็เพียบพร้อมด้วย “ดีเก่งกล้าโรจน์” ผลงานก้าวหน้ามีคุณค่าต่อส่วนรวมต่อประเทศชาติ จึงประทับใจและอยู่ในหัวใจประชาชนตลอดไป

ชั่วชีวิตหนึ่งในโลกใบนี้ ใครๆ ก็คงอยากทำดีฝากไว้ในแผ่นดินบ้าง ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะยังมีบางสิ่งกีดขวางไม่ให้ทำดี อย่าท้ออย่าถอย เมื่อบางสิ่งนั้นไม่ให้ทำ เราก็ทำของเราเอง เพราะชีวิตเป็นของเรา ดิน น้ำ ฟ้า ก็ของเรา

แก่นหลัก...1. ทุกข์ 2. สมุทัย 3. นิโรธ 4. มรรค 5. พื้นสูงรอบฐานพระ 6. ฐานพระ 7. ทางเดิน

1-2-3-4 ทำศาลาหรือที่นั่งแบบแท่นคอนกรีตถาวร จารึกคำธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามลำดับ หากพื้นที่กว้างขวางให้ใส่ข้อความในวงเล็บด้วย เช่น ทุกข์ (ควรกำหนดรู้) สมุทัย (ควรละ) นิโรธ (ควรทำให้แจ้ง) มรรค (ควรเจริญ) เป็นการเตือนสติให้รู้หน้าที่อันจะพึงกระทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละอย่างเพื่อตระหนักรู้และตื่นรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป

สวนพุทธ หรือสวนพุทธธรรม ก็จะกลายเป็นสถานที่พักผ่อน และพัฒนากาย-จิตร่วมกันนึกคิดสร้างสรรค์ และเสวนาธรรมอันล้ำเลิศแบบผ่อนคลายสบายๆ

รูปหล่อพระพุทธรูปที่นำมาประดิษฐานควรเป็นสมัยสุโขทัยปางลีลาให้ชื่อว่า “พระธรรมจิต” ก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ “สวนพุทธธรรม”

“สวนพุทธธรรม พระธรรมจิต รูปนามเรืองฤทธิ์ สถิตใจชน”
กำลังโหลดความคิดเห็น