xs
xsm
sm
md
lg

การกระทำ : ตัวกำหนดดีหรือเลว

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในสังคมอินเดียก่อนที่พระพุทธศาสดาเกิดขึ้น ความดีและความเลวถูกกำหนดโดยการเกิดในวรรณะทั้ง 4 คือ

1. กษัตริย์ 2. พราหมณ์ 3. แพศย์ 4. ศูทร ดังที่ปรากฏในเอสุการีสูตร ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โดยมีเนื้อความย่อ 5 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ เชตวนาราม เอสุการีพราหมณ์ได้เข้าเฝ้าทูลถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์บัญญัติการบำเรอ 4 ประการคือ

1. วรรณะทั้ง 4 ควรบำเรอพราหมณ์

2. กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ควรบำเรอกษัตริย์

3. แพศย์ ศูทร ควรบำเรอแพศย์

4. ศูทรเท่านั้น ควรบำเรอศูทร

ในข้อนี้พระสมณโคดมตรัสว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ทั่วโลกยอมรับรองข้อบัญญัตินี้ของพราหมณ์หรือไม่?

เอสุการีพราหมณ์ได้ทูลว่า ไม่รับรอง จึงตรัสว่า พวกพราหมณ์บัญญัติเอาเองเหมือนบางคนไม่กินเนื้อ ให้กินเนื้อแล้ว ยังเรียกร้องมูลค่าของเนื้ออีกด้วย

2. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ทรงกล่าวว่า ควรบำเรอทุกอย่าง แต่ก็ไม่ทรงกล่าวว่า ไม่ควรบำเรอทุกอย่าง เมื่อบำเรอแล้วเกิดความชั่วไม่เกิดความดีงาม ก็ไม่ควรบำเรอ เมื่อบำเรอแล้วเกิดความดีงาม ไม่เกิดความชั่วก็ควรบำเรอ

3. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ทรงกล่าวว่า ความเป็นผู้มีตระกูลสูง ความเป็นผู้มีวรรณะโอฬารหรือความเป็นผู้มีทรัพย์มาก ว่าดีหรือเลว เพราะคนที่มีสกุลสูง มีวรรณะอันโอฬาร (คือวรรณะ 3 ยกเว้นศูทร) และคนมีทรัพย์มาก อาจทำได้ทั้งความชั่วและความดี (ความชั่ว ความดีอยู่ที่การกระทำ มิใช่อยู่ที่สกุลสูง เป็นต้น)

4. เอสุการีพราหมณ์ได้ทูลถามถึงการที่พวกพราหมณ์บัญญัติ 4 ประการคือ 1. ทรัพย์ที่ดีของพราหมณ์คือ การเที่ยวภิกขาจาร (เที่ยวขออาหาร) 2. ทรัพย์ที่ดีของกษัตริย์คือธนู และกระบอกลูกธนู 3. ทรัพย์ที่ดีของแพศย์คือ กสิกรรม และโครักขกรรม 4. ทรัพย์ที่ดีของศูทรคือการเกี่ยวหญ้า การหาบหาม แต่วรรณะทั้ง 4 นั้น ก็ดูหมิ่นทรัพย์ที่ดี ไปทำกิจกรรมอันไม่สมควร (คือไปประกอบอาชีพอื่นนอกจากอาชีพเดิมประจำวรรณะ) ในข้อนี้พระสมณโคดมตรัสอย่างไร? ตรัสว่าเป็นการบัญญัติเอาเองแบบเรื่องการบำเรอ แล้วตรัสว่า ทรงบัญญัติโลกุตรธรรมอันประเสริฐว่าเป็นทรัพย์ที่ดีของคน คนที่เรียกว่า กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็เพราะเกิดขึ้นในสกุลนั้นๆ

5. แล้วทรงแสดงว่า บุคคลทุกวรรณะออกบวชทำตามพระธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว เว้นความชั่ว ก็ย่อมได้บรรลุธรรมะ ที่ถูกต้องเสมอกัน และเมื่อตรัสถามพราหมณ์ก็ยอมรับว่า วรรณะทั้ง 4 สามารถเจริญเมตตาจิตไปในถิ่นที่นั้นๆ ได้เหมือนกัน อาจถือด้ายถูตัวสมานกายได้เท่ากัน อาจก่อไฟให้ติดได้เหมือนกัน

เอสุการีพราหมณ์ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

จากเนื้อหาสาระของพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธบทบัญญัติของพราหมณ์ที่ทำให้คนในวรรณะสูงมีสิทธิพิเศษเหนือคนที่เกิดในวรรณะต่ำ และได้แสดงธรรมเกี่ยวกับความเสมอภาคของคนพร้อมกับเปิดทางให้ทุกวรรณะเข้ามาบวชในพุทธศาสนาได้ ทั้งยังทรงยืนยันถึงผลที่ได้เท่ากัน ถ้าทุกคนไม่ว่ามาจากวรรณะใดปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระองค์ประกาศแล้ว

นอกจากนี้ พระสูตรนี้ยังให้แง่คิดในเชิงตรรกะในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้

1. บทบัญญัติใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากคนกลุ่มใด และเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มนั้นเหมือนคนกลุ่มอื่น โลกหรือคนหมู่มากจะไม่ยอมรับเนื่องจากว่าไม่เป็นธรรมแก่สังคมโดยรวม

2. ในการตอบปัญหาใดๆ ถ้ามีทั้งที่ถูกและผิดรวมกันอยู่ ไม่ควรตอบรับหรือปฏิเสธโดยรวม แต่ควรแยกประเด็นแล้วตอบให้ตรงกับเนื้อหา

3. ในกรณีที่คำถามเป็นได้ทั้งลบและบวก ควรตอบแบบมีเงื่อนไข แม้กระทั่งในการปฏิเสธก็ควรมีเงื่อนไข หรือที่เรียกว่า Semi Negative

4. การที่คนจะทำงานอันใดเป็นอาชีพ ไม่ควรนำไปผูกติดกับการเกิด และอาชีพของครอบครัวเสมอไป แต่การให้โอกาสทุกคนเลือกตามความสมัครใจ และความรู้ ความสามารถ

5. ทุกคนจากทุกวรรณะ และไม่ขึ้นอยู่กับความมี ความจน สามารถเข้ามาบวชในพุทธศาสนาได้ และบรรลุธรรมได้เสมอกัน ส่วนจะได้ขั้นใดนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพและวาสนาของแต่ละบุคคล

ดังนั้น ท่านผู้อ่านสามารถนำเนื้อหาของพระสูตรนี้ไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของคนในระดับผู้ปกครององค์กรได้เป็นอย่างดี ในกรณีที่ออกกฎเกณฑ์ข้อบัญญัติว่าทำเพื่อตนเองหรือส่วนรวม

อีกทั้งยังนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมของคนในสังคมว่าเป็นคนดีหรือคนเลวได้อย่างตรงไปตรงมา โดยยึดถือการกระทำเป็นเกณฑ์ มิใช่การเกิด การมีทรัพย์ หรือแม้กระทั่งมีตำแหน่งแต่ยึดการทำดี และทำเลวเป็นตัวชีวัดเพื่อจะได้ไม่หลงทาง และถูกชี้นำโดยคนเลว ที่อาศัยปัจจัยภายนอกเช่นทรัพย์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น