xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ สูงสุด8%เริ่มเม.ย.ปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ รวม 2.5 ล้านคน เริ่ม 1 เม.ย.ปีหน้า เผยขึ้นสูงสุด 8% ลดหลั่นกันลงมา คาดใช้เงิน 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี สศค.คาดช่วยดันจีดีพีเพิ่ม 0.06% เงินเฟ้อขึ้นเป็น 2.68% ด้านพนักงานมหาวิทยาลัย 1.3 แสนคน วอนคสช.อย่าลืม หลังถูกลืมขึ้นเงินเดือนมากว่า 15 ปี

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้กระทรวงการคลังศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.2558 หรือในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2558 เป็นการปรับเพิ่มเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 8% ลดหลั่นกันลงมา ประกอบด้วยข้าราชการและข้าราชการบำนาญ

"เปอร์เซ็นต์การปรับเพิ่มขึ้น จะไม่เท่ากัน เน้นข้าราชการระดับล่าง รวมถึงการปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพจาก 1,500 บาท เป็น 2,000 บาทต่อเดือน การปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยงให้ข้าราชการหลายส่วน โดยแต่ละหน่วยงานจะมีความแตกต่าง เช่น ทหารจะใช้เป็นเบี้ยเลี้ยง ส่วนข้าราชการครู กระทรวงมหาดไทย หรือส่วนงานอื่นจะใช้เป็นเบี้ยกันดาร และเบี้ยเลี้ยงการออกพื้นที่ จึงต้องปรับให้เหมาะสม คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี"

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กลุ่มข้าราชการทั่วไป กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และผู้ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ หากมีการปรับเพิ่มทุกกลุ่มในอัตราร้อยละ 8 ยอมรับว่าจะเป็นภาระงบประมาณจำนวนมากถึง 40,000 ล้านบาทต่อปี และผูกพันเป็นภาระในอนาคต เมื่อข้าราชการเหล่านี้เกษียญอายุ ภาครัฐจะต้องจ่ายบำนาญในอัตราที่สูงตามเงินเดือนที่ปรับขึ้น จึงต้องนำเสนอ คสช.เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับเพิ่มเงินเดือนเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็จะต้องมีการจำกัดความร่วมกันว่าจะเป็นกลุ่มใดบ้างที่ควรจะได้รับสิทธิ์ดังกล่าว แต่ในส่วนของข้าราชการบำนาญนั้น มองว่าเพิ่งมีการปรับขึ้นบำนาญสำหรับผู้ที่ได้รับบำนาญต่ำกว่า 9,000 บาท ให้ได้รับ 9,000 บาทไปเมื่อไม่นานมานี้

ทั้งนี้ การปรับขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกประเภทในปีงบประมาณ 2558 ในอัตราร้อยละ 8 จะมีผู้ได้สิทธิ์ แบ่งเป็นข้าราชการ 1.7 ล้านคน ลูกจ้างประจำ 160,000 คน พนักงานข้าราชการ 210,000 คน ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ 610,000 คน

"หาก คสช.ตัดสินใจ จะต้องมีการดำเนินการดังนี้ คือ 1.ปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำชั้นผู้น้อย ต้องกำหนดเป็นระเบียบกระทรวงการคลัง 2.การปรับเงินช่วยค่าครองชีพ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และ 3.ปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ต้องออกหนังสือสั่งการกระทรวงการคลัง"นายมนัสกล่าว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค. ได้ประมาณการณ์ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจมหภาคจากกรณีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำตามนโยบายของ คสช. โดยมีการประเมินว่าหากมีการปรับขึ้นเงินเดือนที่ร้อยละ 7 จะส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2558 ตัวเลขจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.59 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.5 และมีเม็ดเงินส่วนใหญ่เพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านทางรายจ่ายประจำของภาครัฐ จำนวน 5.8 พันล้านบาท โดยเฉลี่ยไตรมาสละ 1.5 พันล้านบาท

นอกจากนี้ หากมีการปรับเพิ่มเงินเดือนที่ร้อยละ 8 จะส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2558 ตัวเลขจีดีพีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 และส่งผลให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.68 และจะมีเม็ดเงินส่วนใหญ่เพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านทางรายจ่ายประจำของภาครัฐ จำนวน 1.16 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยไตรมาสละ 3 พันล้านบาท

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า การขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนี้ ฝ่ายกิจการพิเศษของ คสช. จะไม่ลืมปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบอุดมศึกษาคือกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1.3 แสนคน จาก 1.7 แสนคนของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด จึงอยากให้แก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน เพราะปัญหานี้เรื้อรังมานานกว่า 15 ปีแล้ว ตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อปี 2542 ให้จัดจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตรา 1.5-1.7 เท่าของฐานราชการปัจจุบัน เพื่อทดแทนสิทธ์ราชการเดิมที่สูญเสียไปทั้งหมด แต่เงินเดือนก็ยังไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น