เรียกว่ามาถูกทางจริงๆ สำหรับเส้นทางสายนักปั่น ของพิธีกรและนักแสดงสาวสวย “หวานหวาน-อรุณณภา พาณิชจรูญ” หรือ “นางฟ้านักปั่น” (ฉายาที่แฟนคลับตั้งให้) ด้วยความที่เป็นนักกีฬา บวกกับการตกหลุมรักการปั่น ทำให้วันนี้เธอกลายเป็นไรเดอร์สาว ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคนหนึ่งในวงการจักรยาน ทั้งในเรื่องของความมุ่งมั่นขยันฝึกซ้อม แถมเธอมักจะชอบอับเดตภาพสวยๆ ของเธอกับจักรยานคู่ใจผ่านทางแฟนเพจ และอินสตราแกรมอยู่ตลอด จนแฟนๆ ตามกดไลท์ไม่ทันเลยทีเดียว
สนามเขียวสุวรรณภูมิ ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ ทันทีที่ สาวหวานหวานหมุนวงล้อลายสวย เข้ามาในสนาม เรียกความสนใจให้บรรดานักปั่นในสนาม เข้ามาถ่ายรูปด้วย ซึ่งหวานหวานก็ยิ้มแย้ม ทักทายเพื่อนนักปั่นทุกคนอย่างเป็นกันเอง
“หวานจะมาซ้อมปั่นสนามเขียวช่วง 6 โมงเช้า ลักษณะลมของที่นี่จะต่างจากที่อื่น คือเป็นลมเปลี่ยนทิศ 10 กม. แรกตามลม 10 กม. หลังสวนลม เหมือนเราเดินหน้าแล้วมีคนมายัน ฤดูเปลี่ยนลมก็เปลี่ยนด้วย แส่วนใหญ่จะสวนลมเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยฝึกพลังขาได้ดี หวานปั่นที่เชียงใหม่ หรือระยองก็ยังไม่มีเส้นไหนโหดเท่าที่นี่ เพราะว่ามันไม่มีอะไรบังเลย ระยะทาง 23.75 กม. ส่วนมากหวานปั่นสองรอบ ไม่เคยปั่นรอบเดียว หวานจะปั่นยาว ไปแล้วหยุด ไปแล้วหยุด เป็นการซ้อม ยังไม่เคยจับเวลาตัวเองเลยว่าใช้เวลาประมาณเท่าไหร่” หวานหวานเล่าถึงสถานที่ซ้อมปั่นฯ ที่กรุงเทพฯ เธอจะปั่นรอบใหญ่ จึงเลือกสถานที่กว้างๆ โล่งๆ อย่างช็อคโกแลต วิลล์ และสนามเขียว
ที่มาของสุดหล่อ...หลักแสน
สังเกตจักรยานคู่ใจที่ผ่านมาของเธอ แต่ละรุ่นต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ทั้งเรื่องรูปทรง สมรรถนะการใช้งานและราคาที่ค่อนข้างสูง ส่วนจักรยานคันที่เธอใช้วันนี้ เป็นจักรยานเสือหมอบแบรนด์ Specialized (รุ่นท็อบ) สีขาว รูปร่างปราดเปรียว น้ำหนักเพียง 6.13 กก. ราคาขายอยู่ที่ 370,000 บาท ซึ่งคันนี้ได้ชื่อว่าเป็นเสือหมอบที่ดีที่สุด ในเรื่องของความเร็ว ความแรง ความพุ่ง
เห็นเธอมีจักรยานหลายคันแบบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความขยันปั่น ขยันฝึกซ้อม และศึกษาอย่างจริงจัง จนได้รับการแนะนำให้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ บริษัทนำเข้าจักรยานชื่อดังอย่างสปอร์ตไบค์ ซิเคิล “ต้องขอบคุณพี่ตั้ม เวโลซิตี้ เชียงใหม่ แนะนำให้หวานได้คุยกับผู้บริหาร ให้เขาสนับสนุนเด็กคนนี้ ภาระกิจของหวานก็จะมีแข่ง มีจัดทริป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้คนปั่นจักรยานมากขึ้น
ตั้งแต่เริ่มเลย หวานปั่นจักรยานระดับเร็ว แล้วก็พัฒนาขึ้นๆ จนถึงจุดที่ว่า เราต้องลองจักรยานที่มีสมรรถนะในการแข่ง จักรยานคันแรกที่หวานได้ลองปั่นเป็นจักรยาน เสือภูเขา s-work พี่เอก “ดร. ณัฐกฤษณ์ ทิวไผ่งาม” แนะนำให้หวานยืมปั่น เพราะคันนึงก็ไม่ใช่ถูกๆ พอปั่นได้สักระยะหนึ่ง หวานก็อยากจะได้จักรยานที่เร็วขึ้น ก็ไปซื้อที่สปอร์ตไบค์ ซิเคิลเป็นจักรยานเสือหมอบ Colnago แบรนด์ของอิตาลี CLX 3.0 เฟรมคาร์บอน คันนี้จะเน้นขี่สบายและระยะยาวได้ดี ถ้าให้หวานเทียบ โคนาโก้จะเหมือนแบรนด์ชาแนล อออกแนวคลาสสิก”
สำหรับหวานหวานจักรยานเปรียบเสมือนเป็นเพื่อนสุดซี้ที่สามารถพาลุยไปได้ทุกที่ แถมเธอยังตั้งชื่อน่ารักๆ ให้จักรยานคันที่เธอใช้วันนี้ว่า สุดหล่อ “วันแรกที่เขามาคือเขาหล่อมาก โอ้โห! ล้อสวย ชอบมาก เหมือนเราเห่อน่ะค่ะ เหมือนคนที่ชอบอะไรสักอย่าง รู้สึกเหมือนเป็นบัดดี้คู่ใจ
SL4 คันนี้ทางเรียบก็ดี ขึ้นเขาก็ดี ออกแบบมาเพื่อนักแข่ง หวานชอบเรื่องของความพุ่ง สมมติเติมแรงในการปั่นหนึ่งรอบเท่ากัน แต่ตัวนี้จะพุ่งกว่า ยกเว้นไปแข่งกับจักรยานไทม์ไทรอัล คือจักรยานที่เขาแข่งไตรกีฬา ซึ่งท่อแบนกว่า ลู่ลมกว่า เหมือนที่พี่ต้า (นาวิน ตาร์) ใช้ มันจะลดจุดปะทะ”
เคยวิ่งมาราธอน...บาดเจ็บจนเดินไม่ได้
ก่อนที่สาวหวานหวานจะหันมาปั่นจักรยานจริงจังอย่างทุกวันนี้ เธอเล่าว่าเคยเล่นกีฬามาหลายชนิด ทั้งวิ่ง, ว่ายน้ำ, ขี่ม้า ส่วนกีฬาที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เธอหยุดเลยก็คือการวิ่ง เพราะความประมาทในเรื่องของการใช้ร่างกาย จนร่างกายได้รับบาดเจ็บ ถึงขั้นเดินไม่ได้
“หวานชอบกีฬาเอาท์ดอร์อยู่แล้ว เล่นมาเยอะเหมือนกัน แต่มาช่วงหลังๆ ตอนเรียนจุฬาฯ ก็ไม่ค่อยมีเวลากลับไปขี่ม้าเท่าไหร่ หวานก็เลยวิ่ง แต่ด้วยความที่หวานไม่ศึกษาการวิ่งก่อน เจอสนามก็วิ่งเลย ทำให้เราบาดเจ็บ แต่การบาดเจ็บคือไม่ได้เจ็บวันนี้พรุ่งนี้นะ มันสะสมมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง วันหนึ่งเราวิ่งไม่ได้เลย ตอนนั้นแย่มาก เดินไม่ได้อยู่ 3-4 วัน ไปหาหมอ หมอบิดเข่า เจ็บมาก ทุกวันนี้ก็ยังหาหมออยู่ ถ้า วิ่งที่ 9 กม. ต่อชั่วโมงก็ยังเจ็บอยู่ แต่วิ่งปกติไม่เป็นไร ทุกวันนี้ก็ไม่กล้าวิ่ง จริงๆ ควรจะหยุด 1-2 ปีเลย ถึงจะกลับมาวิ่งมาราธอนได้”
จากประสบการณ์ในอดีต ถิอว่าเป็นบทเรียนสำคัญ การเริ่มต้นใหม่กับกีฬาท้าทายชนิดใหม่นี้ เธอจึงเริ่มด้วยการศึกษาอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญตั้งแต่เรื่องการเลือกจักรยาน การฟิตติ้ง ศึกษาเรื่องสรีระของร่างกาย รวมถึงจัดตารางฝึกซ้อมอย่างเหมาะสม ทำให้สาวที่มีพลังกายและพลังใจอย่างเหลือเฟือคนนี้พัฒนาการไปได้เร็วกว่าคนอื่น
“พอพี่เอกแนะนำให้หวานได้ลองปั่นจักรยาน เขาบอกว่าจักรยานมันไม่ส่งผลกับข้อเข่า ตอนแรกหวานก็งง เพราะตอนนั้นหวานไม่รู้ เราคิดว่าคนปั่นจักรยานก็เจ็บเข่าเยอะแยะ เราก็รู้สึกว่ามันก็ใช้เข่านะ แต่พอมาศึกษาดีๆ แล้ว รู้ว่ามันใช้สะโพก พอเริ่มศึกษาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ที่จริงเข่าต้องไม่เจ็บเพราะเราไม่ได้ใช้เข่าเท่าไหร่ ยกเว้นเวลายืนโยกบ้าง
บางคนถามว่าทำไมหวานต้องรู้ลึกขนาดนี้ ทำไมต้องอ่าน หนังสือ cycling anatomy คือหวานรู้ตัวว่าถ้าปั่นแล้วต้องจริงจัง ต้องดันไปให้สุดให้ได้ ถ้าบาดเจ็บอีกหวานก็ไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากจะล้ม ก็เลยศึกษาเยอะเหมือนกัน
หวานต้องระวังตัวเองมาก ตอนแรกๆ ลงเขาก็ไม่กล้า แต่เดี๋ยวนี้ลงจนโค้ชต้องบอกว่าช้าหน่อย ตอนนั้นลง 70 กม.กว่าต่อชั่วโมง
แต่ก็เคยมีอุบัติเหตุครั้งนึง เส้นปั่นจากระยองมาสัตหีบ เราก็ดราฟท์มากับโค้ชสองคน ประมาณทุ่มกว่า มันก็มืดๆ หน่อย แล้วก็เจอรถตักดินคันเล็ก พอเราปั่นไปใกล้ๆ ก็หันหัวมานอกถนน เราก็คิดว่าแย่แล้ว ตายแน่ๆ เลย ก็เบี่ยงขวาทั้งสองคัน พี่เขาออกช้ากว่าหวาน ก็เลยปัดเขา แต่เขาน้ำหนักเยอะกว่า หวานก็ตะแคงตกคูเลย สะโพก ข้อศอก และหัวกระแทกนิดนึง ก็คอเคล็ดไป 2-3 วัน เราก็มึน น้ำตาก็ไหล ก็กลัวการออกถนนไปสองอาทิตย์ อยากฝากนักปั่นให้ระวังด้วย อย่างประตูรถ ไม่รู้เขาจะเปิดเมื่อไหร่ ต้องมีการให้สัญญาณกัน หรือตะโกน”
“ฟิตติ้ง” ลดการบาดเจ็บ
Bike Fitting สำหรับผู้ที่เริ่มต้นจะปั่นจักรยานแบบจริงจัง ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเลือกปรับขนาดและระยะของจักรยานให้เข้ากับสรีระร่างกายของผู้ใช้เสียก่อน เพราะจะช่วยลดอาการบาดเจ็บ อาการปวดจากการปั่นนานนานได้
“หวานให้ความสำคัญกับเรื่องรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่ถุงเท้า, รองเท้า, หมวก, เสื้อผ้า เวลาซื้อรองเท้าก็ต้องทำการฟิตติ้งด้วย หวานจะเลือกหมวกที่เน้นความเร็ว อย่างหมวกแอโรไดนามิก ต้องใส่แล้วไม่รู้สึกหนัก ต้องรู้สึกว่ามันเนียนไปกับตัวเรา แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องพัฒนาก็คือตัวเรา โดยเฉพาะเรื่องความแข็งแรงของขา และความแข็งแรงของร่างกาย หัวใจ
การออกจักรยานทุกครั้งต้องมีฟิตติ้ง คนที่บ่นว่าขี่จักรยานแล้วปวดหลัง ปวดขา อาจเป็นเพราะจักรยานไม่เข้ากับไซส์ สำหรับหวานจะฟิตติ้งระดับแข่งขัน วัดกระดูกทุกส่วน ความสูง น้ำหนัก สองข้างเท่ากันไหม การทำฟิตติ้งไม่จำเป็นต้องทำครั้งเดียว อาจจะทำทุกๆ 2 เดือนก็ได้ เพื่อการพัฒนาของเรา อย่างแฮนด์จักรยานของหวาน เมื่อก่อนจะสูงกว่านี้ เป็นเพราะว่าความยืดหยุ่นของร่างกายเรา บางทีรู้สึกว่าอยากก้มได้มากกว่านี้ เพื่อจะได้เร็วขึ้น ก็จะเข้าไปฟิตติ้งใหม่อีกทีหนึ่ง
ถ้าไปดูการแข่งขันตูร์เดอฟร็องส์จะสังเกตว่าเขาจะก้มสุดๆ เลยเพื่อหลบลม ถ้าเรานั่งตัวตรงมันจะต้านลม เหมือนขี่มอเตอร์ไซต์ก็ต้องก้ม เพื่อที่จะให้ลู่ลมมากที่สุด ไปได้เร็วมากที่สุด”
“แก๊งนางฟ้า”.....ไตรกีฬา
การแข่งขันที่ลงตัวที่สุดสำหรับหวานหวาน ณ ตอนนี้ คงจะเป็น การแข่งขันไตรกีฬา ซึ่งได้นาวิน ตาร์มาช่วยเป็นโค้ชให้ ร่วมทีมกับเพื่อนสองสาว โดยใช้ชื่อ “ทีมนางฟ้านาวิน” หรือ Navin's Angel โดยมีหวาน (ปั่น), เบล (วิ่ง), คิตตี้ (ว่ายน้ำ) เรียกว่าเป็นแก๊งนางฟ้าสุดฮอตที่สร้างแรงใจ แรงเชียร์ให้แก่ผู้ชมในสนามได้ทุกสนาม
“หวานลงแข่งครั้งแรก เป็นการแข่งปั่นขึ้นดอยอินทนนท์ ทุกปีจะมีการแข่ง ใหญ่ มีคนสมัครสองพันกว่าคน แล้วบรรยากาศจะฮึกเหิมมาก เหมือนเราเชียร์บอล ตอนแรกกะว่าจะซ้อมก่อนแข่ง แต่ก็ไม่มีเวลา กลายเป็นวันซ้อม วันจริง วันแรก วันเดียวกันหมดเลย ก็ปั่นขึ้นไป ก็สนุกค่ะ ได้ที่ 13 ของเสือภูเขาผู้หญิง ข้างล่างอุณหภูมิ 28 องศาฯ ขึ้นไป 7 องศาฯ สนุกมาก ชอบ
ต่อมาหวานก็ลงแข่งไตรกีฬา จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หวานกลัวเรื่องการเกี่ยวกัน การล้ม ก็เลยลงไตรกีฬา เพราะกฎของไตรกีฬา ห้ามคันหน้าบังลมให้คันหลัง ไม่มีปั่นจี้กันมากๆ ต้องเว้นกัน 3 เมตร 5 เมตร 7 เมตร แล้วแต่แมตช์
การแข่งขันมันสนุกตรงได้เจอคนฮึกเหิมเหมือนกัน แข่งขันกัน เสียงเชียร์ ลงแข่ง...ได้เหรียญด้วย สนุก
หวานตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่สนามชิงแชมป์ประเทศไทย แต่ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความเก่ง การฝึกซ้อม และก็อะไรอีกหลายๆ อย่าง ถ้าถามว่าเราอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะหวานก็มีฝันที่อยากทำ การเป็นนักกีฬาอาชีพ หวานว่ายาก ไม่ได้ง่ายเลย เรื่องของการซ้อม การพักผ่อนร่างกายด้วย หวานอยากสนุกกับการปั่นจักรยาน”
Feel good ที่ได้ปั่น
หวานหวานเล่าถึงสังคมการปั่นจักรยานในมุมมองของเธอ “การปั่นจักรยานทำให้หวาน feel-good หลายอย่างเลย อย่างแรกเลยคือเรื่องสมาธิ เวลาเราทำงาน เราออกไปข้างนอก เจอคนเยอะๆ บางครั้งทำให้รู้สึกว่าไม่มีเวลาอยู่กับตัวเองจริงๆ แต่พอมาปั่นจักรยาน แล้วเราปั่นจริงจัง ต้องมีการโฟกัส มีความตั้งใจที่แน่วแน่ในการปั่น สโตรกขาเป็นยังไง รอบการปั่นเป็นยังไง มันจะทำให้เราได้อยู่กับตัวเองจริงๆ เรื่องการหายใจ การกำหนดลมหายใจด้วย มันเรื่องนั่งสมาธิเลยแหละ เพียงแต่เราตั้งสมาธิอยู่ที่การปั่น
อย่างที่สอง คือเรื่องของพี่ๆน้องๆนักปั่น ทุกคนน่ารักมาก ไม่ต้องรู้จักกันก็ยกมือทักทาย สวัสดี บางครั้ง ไม่ได้เอาที่สูบลมมาก็แชร์กัน ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุอะไรก็หยุดช่วยกันตอนนั้นเลย หวานว่าเป็นสังคมที่น่ารัก พอทุกคนปั่นจักรยาน เหมือนเท่าเทียมกัน เป็นพี่น้องกัน มีอะไรช่วยเหลือกัน หวานได้เพื่อนใหม่ๆ น่ารักๆ ในวงการจักรยานเพิ่มขึ้นเยอะแยะเลย
เวลาได้ไปปั่นทริปสนุกๆ ก็ชอบ อย่างไปเชียงใหม่ ก็จะคิดว่าคราวนี้ ไปเก็บดอยอะไรดี มันมีความสุข เหมือนเราได้ทำอะไรสำเร็จ นั่นก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ได้ปั่นไปในที่ใหม่ๆ ก็มีความสุข นอกจากนั้นยังได้เรื่องสุขภาพ หัวใจแข็งแรงขึ้นเยอะ ช่วงวัยนี้เราควรสร้างความแข็งแรงของร่างกายให้เยอะที่สุด”
เรื่องทีมข่าว feel-good
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี
ติดตามผลงานได้ทาง หวานหวาน อรุณณภา พาณิชจรูญ Fanclub แฟนเพจhttps://www.facebook.com/Varnvarnsweety