xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คสช.ใส่เกียร์ถอย !! ยกเลิกคำสั่ง ‘ปิดปากสื่อ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คสช. เชิญตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อจาก 4 องค์กร คือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เข้าพูดคุยในเรื่องประกาศ คสช. 97  โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานที่ห้องประชุมกระทรวงกลาโหม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -อุ๊ตะ !! นึกว่าประเทศไทยกลายเป็น ‘เผด็จการทหาร’ สมบูรณ์แบบไปเสียแล้ว เพราะอยู่ๆ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่นำโดย ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกประกาศฉบับที่ 97/2557 เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2557 เรื่องการให้ความร่วมมือกับ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าตกใจ และปฏิเสธไม่ได้ว่านำมาซึ่งเสียงวิจารณ์จากสื่อแทบทุกสำนักว่าการเป็นการออกคำสั่ง 'ปิดปากสื่อ'

เนื่องเพราะ ในข้อ 3 (3) และข้อ 5 ของประกาศฉบับดังกล่าวระบุชัดว่าห้ามวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หากสื่อใดฝ่าฝืนก็มีโทษถึงขั้น 'ถูกปิด' กันเลยทีเดียว โดยข้อ 3 (3) ระบุว่า ..ให้งดเว้นการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ของ คสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ในข้อ 5 ระบุว่า ...ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือ 3 ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย

นอกจากนั้นยัง ประกาศในข้อ 3(4) ยังระบุว่า..ห้ามเผยแพร่ ข้อมูลเสียง ภาพ วิดีทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ ….....ซึ่งบรรดาองค์กรสื่อมองว่าข้อห้ามในลักษณะนี้เป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอข่าวกรณีทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งสื่อจำเป็นต้องมีหลักฐานทางราชการมาประกอบการในการนำเสนอข่าว เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและป้องกันการถูกฟ้องร้องจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าสื่อกลั่นแกล้งทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

แปลกันง่ายๆไม่อ้อมค้อมก็คือ คสช. กำลังสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นองค์กรที่ 'แตะต้องไม่ได้' และหากสื่อสำนักไหนกล้าแตะ ก็อาจถูก คสช.เล่นงานถึงขั้น 'สั่งปิด'

ถามว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงประเทศไทยจะต่างอะไรกับประเทศที่ปกครองด้วยเผ็ดการ ? เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่การ 'ปิดปากสื่อ' เท่านั้น แต่ยังเป็นการ 'ปิดหูปิดตาประชาชน' อีกด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการทุกเรื่อง ทุกองค์กร ทุกโครงการ ในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายและการจัดสรรงบประมาณ หนำซ้ำยังสามารถเรียกบุคคลใดมารายงานตัวก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นไปได้ อย่างไรที่ คสช.ซึ่งล้วนแต่เป็นทหารในกองทัพจะรู้ลึกรู้จริงและสามารถพิจารณาตัดสินใจในทุกเรื่องได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไร้ข้อผิดพลาด และ คสช.ต้องไม่ลืมว่าสื่อไม่ได้มีหน้าที่พีอาร์หรือเชลียร์ผู้มีอำนาจ หากแต่มีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริงและติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้ที่อาสามารับใช้บ้านเมือง ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะมาจากกลไกการเลือกตั้ง หรือการปฏิวัติรัฐประหาร หาก คสช.ไม่รับฟังข้อท้วงติงของสื่อ คสช.จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่พวกท่านกำลังทำนั้นก่อให้เกิดปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ ? หรือกำลังพาประเทศไทยดิ่งเหวหรือเปล่า ? ขณะเดียวกันประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศจะรู้ได้อย่างไรว่า คสช.กำลังทำอะไรกับบ้านนี้เมืองนี้ ? และจะส่งผลดีผลเสียอย่างไร ?

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หาก คสช. ตั้งใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง มุ่งมั่นทำดี โปร่งใส เหตุใดต้องกลัวการตรวจสอบ ? และเหตุใดจึงรับไม่ได้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ?

เป็นธรรมดาที่ทันทีที่มีประกาศดังกล่าวออกมา บรรดาสื่อทุกสำนักจึงออกมาคัดค้านกันถ้วนหน้า กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำเอา คสช.นั่งไม่ติด ต้องส่งเทียบเชิญตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อจาก 4 องค์กร อันประกอบด้วย นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย , นายวิสุทธ์ คมวัชรพงษ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย , นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย , นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ในฐานะตัวแทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มาพบปะหารือเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คสช.เป็นตัวแทนฝ่ายกองทัพมาเจรจาไกล่เกลี่ย

งานนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กระแอมกระไออ้างว่าเป็นเรื่องของการเข้าใจผิด เนื่องจากสื่อสารไม่ตรงกัน เนื่องจากประกาศฉบับที่ 97 ของ คสช.นั้น เกิดจากการรวมประกาศฉบับที่ 14 และ 18 เข้าด้วยกัน ด้วยเจตนาที่ต้องการให้ 'องค์กรสื่อเข้มแข็ง' และอยากให้ 'สื่อคุมกันเอง' แต่ภาษาที่ใช้ในประกาศดังกล่าวอาจทำให้เกิดความใจผิด

“ ผมเป็นหัวหน้าโครงการรับผิดชอบการสร้างความปรองดองของ คสช. สืบเนื่องจากมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 ทราบดีว่าพี่น้องสื่อไม่สบายใจบ้าง แต่ผมเป็นคนรับฟังความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่มีปัญหาในการปฏิรูปประเทศจึงเชิญองค์กรสื่อมาพูดคุยกันว่า มันเป็นประเด็นปัญหาอะไรตรงไหน ทั้งนี้อยากฟังความคิดเห็นว่า คิดเห็นอย่างไรกับประกาศฉบับดังกล่าว ตัวหนังสือมันออกมาแล้วตรงกับเจตนาหรือไม่อย่างไร ”

หลังการหารือระหว่างตัวแทนวิชาชีพสื่อกับฝ่าย คสช. สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปที่พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดย คสช. ตัดสินใจใส่เกียร์ถอย ยอมแก้ไขประกาศฉบับที่ 97/2557 โดยเฉพาะรายละเอียดในข้อ 3 และข้อ 5

โดยในช่วงดึกของวันที่ 21 ก.ค.2557 ได้มีประกาศฉบับที่ 103/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97/2557 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ยกเลิกความในข้อ 3 (3) ซึ่งจากเดิมคือ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก็ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ”

และข้อ 5 ที่กำหนดบทลงโทษถึงขั้นปิดสื่อ ก็เปลี่ยนมาเป็น “ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือข้อ 3 พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ”

ส่วน ข้อ 3(4) ที่ระบุว่า..ห้ามเผยแพร่ ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ นั้น ในประกาศฉบับที่ 103/2557 นั้นไม่ได้มีการกล่าวถึง ซึ่งก็แปลว่าให้คงไว้เช่นเดิม

ดังนั้น การออกประกาศ ฉบับที่ 103/2557เพื่อแก้ไขประกาศฉบับที่ 97/2557 จึงได้ข้อสรุปว่า หาก คสช. ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอข่าวของสื่อสำนักไหน หรือมองว่าสื่อใดนำเสนอข่าวไม่ต้องกับข้อเท็จจริง คสช. ก็จะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสื่อที่เป็นสมาชิกสอบสวน โดยใช้มาตรการให้สื่อควบคุมกันเอง แทนการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นปิดสื่อ

อย่างไรก็ดี ด้าน นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หนึ่งในตัวแทนที่เข้าหารือกับ คสช. ระบุว่า

“ แม้การแก้ไขประกาศฉบับที่ 97/2557 ในครั้งนี้ จะเป็นการแก้ไขบางส่วนเท่านั้น แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้แก้ไข เพราะองค์กรสื่อเสนอว่าควรยกเลิกข้อ 5 ในประกาศ เพราะอันเดิมคือ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งระงับการจำหน่ายจ่ายแจกหรือปิดสื่อได้ แต่ที่แก้ไขใหม่จะเป็นภาระขององค์กรวิชาชีพ ทั้งนี้ หากย้อนไปดูในข้อยกเว้นในข้อ 3 เดิม ตั้งแต่3 (1) ถึง 3 (7) เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่มีอยู่ด้วย ซึ่งผมมองว่าในส่วนความผิดทางกฎหมายนั้น ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายดำเนินการแทน ดังนั้น สภาการหนังสือพิมพ์ และองค์กรวิชาชีพต้องกลับมาดูกันใหม่ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า สภาการฯ ควรรับพิจารณาเฉพาะกรณีจริยธรรมสื่อเท่านั้น ซึ่งการแก้ไขใน ข้อ 3 (3) เป็นการแก้ไขเพื่อให้มีความชัดเจน เพราะหากยังคงไว้ สื่อจะไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ คสช.ได้เลย ซึ่งนอกจากกระทบสื่อมวลชนแล้วยังกระทบประชาชนที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เลยด้วย ขณะที่ข้อ 3 (4) ที่เป็นการห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความลับนั้น องค์กรสื่อแจ้งว่าควรแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น เพราะเอกสารความลับทางราชการเป็นสิ่งที่สื่อใช้ทำข่าวการสืบสวนสอบสวน หรือทำข่าวการทุจริตคอร์รัปชั่น”

อย่างไรก็ดี แม้สุดท้าย คสช. จะยอมยกเลิกประกาศที่ให้อำนาจตนเองในการ 'ปากสื่อ' ที่หาญกล้ามาวิพากษ์วิจารณ์เพราะทนกระแสต้านไม่ไหว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประกาศที่ออกมาในครั้งแรกนั้นทำให้ประชาชนอดเคลือบแคลงใจไม่ได้ว่า เหตุใด คสช.จึงกลัวการตรวจสอบ ? ถึงขั้นที่จะลุกขึ้นมาใช้อำนาจ 'ปิดสื่อ' ?



กำลังโหลดความคิดเห็น