xs
xsm
sm
md
lg

ชง5ข้อ “กรอ.” หวังดันฟื้นศก. ขยายตัวได้2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- 5 องค์กรภาคเอกชนเตรียมเสนอ 5 เรื่อง14ประเด็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวที""กรอ."ที่มีหัวหน้าคสช.เป็นประธาน ถกนัดแรก 16 ก.ค.นี้ หวังผลักดันเศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้ 2% หนุนเศรษฐกิจไทยปี2558 โตได้3.5-4.5% ชงทั้งส่งเสริมการลงทุนไทยและต่างประเทศ ภาคอุตสาหกกรรม การท่องเที่ยว ระบบโลจิสติกส์ และแก้ไขอุปสรรคธุรกิจ

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ประกอบด้วยสมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กกร.และอีก 2 องค์กรภาคเอกชนได้แก่สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 5 เรื่อง 14 ประเด็น เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่จะประชุมครั้งแรกวันที่ 16 ก.ค.นี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 4.2% และทั้งปีจะโตได้ 2%

" เราได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจเชื่อว่าไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและแนวโน้มจะดีขึ้นหลังการเมืองมีความชัดเจนและภาวะการส่งออกที่คาดว่าทั้งปีจะโตได้ 3-5% ก็มองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ 4.2% ทั้งปีจะโตได้ 2% ในปีนี้และจะกลับไปขยายตัวได้ในปี 2558 ระหว่าง 3.5-4.5% ซึ่งมาตรการที่เสนอให้เร่งขับเคลื่อนจะมีส่วนสำคัญในกรผลักดันแต่ปีนี้คงจะไม่ได้มากไปกว่านี้เพราะครึ่งปีแรก เศรษฐกิจเราติดลบ 1%"นายบุญทักษ์กล่าว

สำหรับ 5 เรื่อง 14 ประเด็นได้แก่ 1. ข้อเสนอด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งเป็น 5 ประเด็นคือ ขอให้ขยายเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้,ขอให้แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแรงงานแห่งชาติ,ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน,เร่งรัดเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและให้จัดตั้งคณะกรรมการวางโรดแมปสินค้าเกษตร อาหารและพลังงานทดแทน

2. ข้อเสนอด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม 2 ประเด็นได้แก่ โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถเอสเอ็มอีไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะที่2(2557-2559) และการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขปัญหาจากการวางและจัดทำผังเมือง 3.ข้อเสนอด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว 2 ประเด็น ได้แก่ ขอให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน 1-3 เดือนก่อนเข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น และขอให้สนับสนุนบทบาทของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ

4.ข้อเสนอด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 3 ประเด็น ได้แก่ ขอให้ปรับแนวทางการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ของไทย ขอใช้กองทุนระบบสาธารณูปโภคเป็นทางเลือกในการระดมทุน และให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาน้ำภาคตะวันออก 5. ข้อเสนอด้านการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ 2 ประเด็น คือ ขอให้ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และให้สนับสนุนงบประมาณการขยายระดับการค้าประกันความสูญเสียของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกไทยปีนี้น่าจะเติบโตได้ระดับ 3-5% โดยครึ่งหลังน่าจะขยายตัวได้ในระดับ3.5-4% เนื่องจากสินค้าเกษตรสำคัญเช่น ข้าวและน้ำตาลที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากไทยสามารถรักษาระดับค่าเงินบาทไว้ในช่วงครึ่งปีหลังไม่ให้ผันผวนและอยู่ในระดับไม่เกิน33 บาทต่อเหรียญสหรัฐก็จะมีผลดีต่อการส่งออกไทยในรูปของเงินบาทอย่างมาก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท.กล่วว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือการขยายมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนหรือ Solf loan สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 ปี คือตั้งแต่มกราคม 2558- ธันวาคม 2560 จากที่จะสิ้นสุดธันวาคม 2557 การปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงานโดยแยกระหว่างนักธุรกิจและแรงงานต่างด้าว ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน และจะเสนอขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่ากับจีนและไต้หวันเป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น

" กรณีที่คสช.จัดทำร่างธรรมนูญฉบับปกครองชั่วคราวถือเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะส่งผลดีโดยรวมต่อเศรษฐกิจประเทศ "นายสุพนธ์กล่าว

นายศักดิชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เสนอแผนพัฒนาSMEsต่อที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชติ (คสช.) เป็นประธานฯ ที่ได้เห็นด้วยกับแผนที่เสนอแนวทางการพัฒนาที่มีเป้าหมายเพิ่มรายได้และสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือGDP ของ SMEs ให้ถึง 50% ของ GDP ประเทศ และ ส่งเสริมให้ SMEs ไทยก้าวสู่สากล สำหรับแผนพัฒนาแบ่งเป็น3ระยะได้แก่ระยะสั้น (ภายใน 1 ปี)ยกระดับSMEsให้เป็นวาระแห่งชาติ ย้ายหน่วยงานหลักในการส่งเสริมSMEsได้แก่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(สสว.)จากกระทรวงอุตสาหกรรมมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อบูรณาการการส่งเสริม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น