xs
xsm
sm
md
lg

“คสช.”ต้องคายอำนาจ ไม่ยุ่งตั้ง “สภาปฏิรูป”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ยืนยันร้อยเปอร์เซนต์ ถึงสูตร “ที่มาสมาชิกสภาปฏิรูป”(สปร.) จากการถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นทางการจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ”เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา
สิ่งที่ บิ๊กตู่ เปิดเผยเรื่องนี้ ก็เป็นไปอย่างที่คาดเดากันไว้ก่อนหน้านี้โดยสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ จะมีทั้งสิ้น 250 คน แยกเป็นดังนี้
1. มาจากตัวแทนจังหวัดทั้งหมด โดยให้แต่ละจังหวัดคือ 77 จังหวัด ส่งชื่อมา จังหวัดละ 5 คน แล้วคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน ก็จะได้ สปร.ในสัดส่วนจังหวัดคือ 77 รายชื่อ
2. มีที่มาจากการคัดเลือกของ 11 กลุ่ม ที่จะอยู่ในกลุ่มปฏิรูป ที่ใช้วิธีการรับสมัครทั่วไป จนได้รายชื่อมา 550 คน จากนั้น คัดเลือกให้เหลือตัวแทนแต่ละกลุ่ม รวมกันแล้วให้ได้ 173 คน
แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดจากพล.อ.ประยุทธ์ ว่า 11 กลุ่มดังกล่าว ร่างรธน. ดังกล่าวจะเขียนบัญญัติไว้ว่าให้เป็นกลุ่มไหนยังไงบ้าง มีหลักเกณฑ์อย่างไร แต่หากดูจากที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปประเทศ ที่คุมทีมโดย "บิ๊กเต่า" พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้รวบรวมความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ไปจำนวนมากก่อนหน้านี้ ตลอดจนการเปิดเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่าย เช่น นักวิชาการ ที่ทำไปแล้วหลายครั้ง
มีข่าวว่า คณะทำงานได้กำหนดกรอบปฏิรูปออกมาเป็น 11 แท่ง ดังนี้ 1. การปฏิรูปทางการเมือง 2. การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้บริหารประเทศโดยเฉพาะการเข้าสู่อำนาจรัฐ 3. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 4. การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 5. การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 6. การปฏิรูปการศึกษา 7. การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ 8. การปฏิรูปสื่อมวลชนและการจัดการด้านข้อมูลข่าวสาร 9. การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 10. การจัดสรรทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ และน้ำ 11. ด้านอื่นๆ เช่น การปฏิรูปพลังงาน เชื่อว่า ที่พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า จะมีการรับสมัครบุคคลจากกลุ่มต่างๆเพื่อไปจัดสรรคนลงใน 11 กลุ่ม ก็คงไม่น่าจะพ้น 11 กลุ่มดังกล่าวที่ทางทหารได้ทำการจัดเก็บข้อมูลแต่ละด้านใน 11 แท่งดังกล่าว ไปก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อรวมที่มาสมาชิกสภาปฏิรูปที่พล.อ.ประยุทธ์ บอกไว้ จากทั้ง 2 ทางก็จะได้สมาชิกสภาปฏิรูปรวม 250 คน อันนี้คือสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดในรายการ โดยมีการขยายความไว้ ซึ่งยังไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวมากนักก็คือ เมื่อได้ชื่อมา 250 คนแล้ว ก็ยังจะเอา 250 ชื่อดังกล่าว ส่งกลับเข้าไปอยู่ในกลุ่มงานต่างๆที่เกี่ยวกับการปฏิรูป ที่ตั้งไว้ 11 กลุ่มให้ได้ โดยหากบางกลุ่มมีคนอยู่มากเกินไปเช่นกลุ่มปฏิรูปการเมือง ก็จะส่งไปอยู่ในกลุ่มอื่นต่อไปเพื่อเป็นการเฉลี่ยๆ กันไป
โดยหน้าที่หลักของสภาปฏิรูปที่หัวหน้า คสช.บอกก็คือ ให้ไปวางกรอบแนวคิดการปฏิรูปด้านต่างๆ แล้วพอได้ข้อสรุปก็ส่งไปยังสองส่วนเพื่อไปเอาไปทำต่อคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ปี 58 ซึ่งแม้พล.อ.ประยุทธ์ไม่บอก แต่ก็ชัดแล้วว่ามี 35 คน
เห็นชัดว่า หัวหน้า คสช.ค่อนข้างให้ความหวังไว้มากกับข้อเสนอของสภาปฏิรูป ที่จะส่งไปยังกมธ. ยกร่างรธน.ปี 58 โดยบอกไว้ว่าข้อเสนอที่สภาปฏิรูปจะส่งไปให้กมธ.ยกร่างรธน. จะนำไปสู่การยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อจะนำไปใช้ในการเลือกตั้งในโอกาสต่อไป เพื่อให้เกิดความชอบธรรม และเป็นธรรมแก่ทุกพวกทุกฝ่าย เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันอีกต่อไปในอนาคต
เนื้อหาข้างต้น คือสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อประชาชน แต่สิ่งที่ไม่ได้พูด ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจกระบวนการว่าสุดท้าย ชื่อที่ส่งมาทั้งสองทางคือ จากทางจังหวัด และจาก11 แท่งปฏิรูป ที่รวมกันแล้วหลายร้อยรายชื่อ แล้วมาเคาะให้เหลือ 250 คน
** คือสุดท้ายใครจะเป็นผู้คัดเลือกให้เหลือ 250 รายชื่อ ประเด็นสำคัญดังกล่าว น่าแปลกใจที่ทำไม หัวหน้า คสช.ไม่ยอมบอก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ที่ไม่พูดเพราะรู้ดีว่าพูดลำบาก ใช่หรือไม่ ?
เนื่องจากมีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า รายชื่อทั้งหมด ที่ส่งมาจากแต่ละจังหวัด รวมเป็น 385 รายชื่อ และ จากกลุ่มปฏิรูป 11 กลุ่ม อีกร่วมๆ เกือบ 500 กว่ารายชื่อ สุดท้ายคนที่จะบอกว่าจะให้คนไหนไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป
**ก็อยู่ที่ คสช. เพียงไม่กี่คนเท่านั้น
ถ้า คสช.จะเป็นผู้พิจารณาเองว่า จะให้ใครได้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูป ก็เท่ากับว่า หากรายชื่อที่ส่งกันมา ต่อให้มาจากตัวแทนของแต่ละจังหวัดที่ผู้สมัครคัดเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน หรือตัวแทนองค์กรวิชาชีพต่างๆ ส่งชื่อไปอยู่ในกลุ่มๆต่างเช่น กลุ่มปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยมีการเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมอย่างไรในการทำงานด้านการปฏิรูป แต่หากบิ๊กคสช.ดูแล้ว บางรายชื่ออาทิ รายชื่อที่แต่ละจังหวัดส่งมา ถ้าคนไหน ไม่ถูกชะตา ก็ไม่เลือกให้เป็นสปร.
หรือพวกที่มาจากสายการรับสมัครในแต่ละกรอบปฏิรูป หากไม่ใช่คนที่พอคุยได้ หรือไม่ใช่คนที่จะคอนโทรลได้ ก็จะไม่เคาะให้เป็น สปร.
แบบนี้จึงเท่ากับว่า คสช. ก็คุมสภาปฏิรูป ไว้ในกำมือทั้งหมดตั้งแต่แรกตั้งไข่ปฏิรูปกันแล้ว ทั้งที่ ทางที่ดีกว่าคือควรให้กระจายอำนาจในการเลือกคนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป ไม่ใช่ให้อยู่ในการตัดสินใจของ คสช.ทั้งหมด
อย่างที่แต่ละจังหวัด คัดเลือกกันมาจนเหลือจังหวัดละ 5 คน ทำไมไม่ให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน ก็ดูจะเป็นแนวทางที่ดูดีกว่า หรือจะตั้งเป็นรูปแบบคณะกรรมการคัดเลือกโดยมีบุคคลหลากหลายมาร่วมเช่น ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทอป.) –ประธานกรรมการการเลือกตั้ง แบบนี้ยังจะเข้าท่ากว่าอีก
** คสช.ไม่ควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปเลยแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปที่มาจากจังหวัด หรือจากกรอบปฏิรูป 11 แท่ง
**คสช. ต้องคลายอำนาจตรงนี้ออกจากตัวเอง เพื่อให้เป็นการปฏิรูปที่แท้จริง เพราะหาก คสช. มีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูป ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม มันก็ทำให้สภาปฏิรูป ตั้งต้นก็ไม่สวยแล้ว
** มันจะปฏิรูปประเทศ กระจายอำนาจ อะไรกันได้ ถ้าเริ่มต้นก็รวบอำนาจกันแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น