ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โลหะที่มีความหนาแน่นมากกว่า 3.5 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร และได้ถึงมากกว่า 7 กรัม ต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ตัวอย่างโลหะหนักได้แก่ อลูมิเนียม สารหนู แคดเมียม โคบอลต์ โครเมียม ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว มังกานิส ปรอท นิเกิล ดีบุก สังกะสี นี่คือสิ่งที่เรียกว่าโลหะหนักที่หากมีมากเกินไปจะก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายได้อย่างมากมาย
ถ้าเรามีโลหะหนักมากเกินไปในร่างกาย โลหะหนักเหล่านั้นก็จะไปรบกวนการทำงานของเอนไซม์ของเซลล์ และยึดกับเยื่อหุ้มเซลล์ ก่อให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมลำเลียงสารต่างๆของเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคต่อร่างกายได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะโลหะหนักชนิดนั้นๆ
บางทีการที่เรารับสารโลหะหนักอยู่ทุกๆวันโดยไม่รู้ตัว อาจก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิดโดยที่เราหาสาเหตุไม่ได้ และไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการระงับปลายอาการดังนั้นการตรวจเลือดเพียงไม่กี่หยดก็จะทำให้เราได้รู้ข้อมูลเพื่อหาทางในการปรับพฤติกรรม หรือแม้กระทั่งหาทางลดปริมาณโลหะหนักในกระแสเลือดในโอกาสต่อไปได้อย่างตรงประเด็นที่สุด
ตัวอย่างเช่น สังกะสี (Zinc :Zn) สามารถพบได้ในการทำแบตเตอรี่ ภาชนะในครัว เหล็กหล่อ แม่พิมพ์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมยางรถยนต์ การผสมสีขาว การเคลือบเงาเซรามิค เครื่องถ่ายเอกสาร และการใช้เครื่องสำอางค์ ดังนั้นสังกะสีสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการรับประทาน การสัมผัส และการสูดดม
หากเรามีสังกะสีมากเกินไปในกระแสเลือด พิษที่เกิดขึ้นจากสังกะสีจากการสูดดม การสัมผัส จะทำให้มีอาการคอแห้ง ไอ มีรสหวานในปาก และอาจเกิดไข้ควันโลหะ คือมีอาการมีไข้ เหงื่อออก หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว และเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น คลื่นไส้น อาเจียน และปวดศีรษะ ในบางรายจะทำให้ภูมิต้านทานทำงานลดลง และหากรับประทานในปริมาณมากเกินไปก็จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน
อลูมิเนียม (Aluminium : Al) พบได้ในวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยางรถยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า สี ผลิตภัณฑ์ขจัดกลิ่นกายไปจนถึงภาชนะใส่อาหาร (ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้) สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน การสูดดม และการซึมผ่านทางผิวหนัง โดยอวัยวะที่มักจะเป็นเป้าหมายต่อพิษของอลูมิเนียมคือ ปอด กระดูก และระบบประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม (Dementia), โรคเนื้อเยื่อแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) ได้
พิษของการได้รับอลูมิเนียมจากการรับประทานคือ คลื่นไส้-อาเจียน ท้องร่วงและเป็นแผลร้อนใน ส่วนหากได้รับจากการสูดดมคือหายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด มีภาวะหอบหืด COPD (Chronic obstructive pulmonary disease) ภาวะปอดอักเสบ โรคพังผืดในปอด และปอดรั่ว และหากได้รับการสัมผัสทางผิวคือเกิดผื่นคืน เกิดแผลเปื่อย ส่วนหากเกิดการสัมผัสทางดวงตาคือเกิดการระคายเคืองดวงตา
สารหนู (Arsenic:As) ซึ่งเป็นที่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นสารก่อมะเร็ง พบได้จากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยสะสมในดิน และแหล่งน้ำที่เป็นห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เช่น พืชผลทางเกษตรที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง ในอาหารเลี้ยงสัตว์ รวมถึงยาแผนโบราณบางชนิด ยาต้ม หรือยาหม้อ
พิษของการได้รับสารหนูคือ จากการสูดดม จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก คออักเสบ ปอดบวมน้ำ และอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้ พิษจากการสัมผัสทางผิวหนังคือ ระคายเคือง กัดกร่อนผิวหนังทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ พิษจากการสัมผัสทางดวงตาคือ ระคายเคือง กัดกร่อนอย่างมาก ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ และอาจมีอาการตาสู้แสงไม่ได้ พิษจากการรับประทานคือ แสบริมฝีปาก ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายกระเทียม กลืนลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ -อาเจียน และถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นสีน้ำซาวข้าว มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่หรือเลือด อาจถึงขั้นช็อคได้ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงขั้นโคม่าและเสียชีวิตได้
นิกเกิล (Nickel : Ni) เป็นที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็ง สามารถพบได้ในอุตสาหกรรมการผลิตเหรียญกษาปณ์ สแตนเลสสตีล โลหะอัลลอยด์ แบตเตอรี่นิกเกิล วัสดุฉนวนไฟฟ้า เครื่องประดับ เซรามิค หมึก อุตสาหกรรมปิโตรเลียม พลาสติก และยาง เข้าสู่ร่างกายโดยการสูดดมมากที่สุด รองลงมาคือการสัมผัส และการรับประทาน และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในโพรงจมูก ไซนัส และปอด
พิษของการได้รับการนิกเกิลมาเกินไป จากการสูดดม คือระคายเคืองคอ หอบหืด และเสียงแหบ พิษจากการสัมผัสทางผิวหนัง คือ มีอาการแสบร้อน ระคายเคือง และตามด้วยเกิดรอยโรคสีคล้ำที่ผิวหนัง และหากสัมผัสเมื่อเข้าตาคือ ทำให้เกิดการระคายเคืองดวงตา พิษจากการกิน คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเกิดการทำลายท่อไตส่วนต้น
ดีบุก (Tin :Sn) พบได้ในอุตสาหกรรมชุบดีบุก เคลือบแผ่นเหล็ก อัลลอย งานเชื่อมโลหะ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หล่อโลหะ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมพลาสติก ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งโลหะดีบุกสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการกิน การสัมผัส และการสูดดม
พิษของการที่ได้รับดีบุกมากเกินไป ได้แก่ การสัมผัสในปริมาณสูจะทำให้ระคายเคืองตา ผิวหนังบวมแดงและมีผื่น พิษจากการสูดดมคือทำให้ระคายเคืองคอ ระบบหายใจ ปวดศีรษะ มึนงง ความจำเสื่อม ไม่มีแรง มีอาการผิดปกติในการมองเห็น รวมถึงอาจรุนแรงถึงขั้นชักหรือหมดสติได้ ส่วนการสัมผัสดีบุกแบบเฉียบพลันพิษจะทำให้เกิดอาการทางไต ตับ และสมองร่วมด้วย
แมงกานิส (Manganese : Mn) พบได้ในหิน ทราย ตะกอนดิน แหล่งน้ำ สิ่งมีชีวิตทั่วไปตามธรรมชาติ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักใบเขียว ถั่ว และน้ำชา พบว่ามีปริมาณแมงกานิสอยู่มาก
พิษของการรับแมงกานิสมาเกินไป สามาถเกิดได้จากการสูดดม ไอระเหย จากการหลอม เชื่อมโลหะ ทำให้เกิดโรคไข้โลหะ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ ลิ้นรู้สึกรสชาติโลหะ คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก หายใจขัด และหอบเหนื่อย หากสะสมในประมาณมากอาจทำให้เกิดปอดอักเสบ ตับอักเสบ และไตวายได้ พิษจากการสัมผัสโดยตรง ทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบร้อน แมงกานิสจะเกิดพิษที่ระบบประสาทมากที่สุด คือทำให้มีอาการสั่นคล้ายคนเป็นพาร์กินสัน อาการเรื้อรัง คือจะทำให้เกิดอาการทางสมอง โดยระยะแรกจะอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น กระวนกระวาย พูดมากผิดปกติ และกระตุ้นความรู้สึกทางเพศมากขึ้น
ปรอท (Mercury : Hg) ปัจจุบันยังไม่ยืนยันว่า ปรอทจะเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ปรอทพบได้ในดิน และน้ำทั่วไป ปรอทจึงสามารถพบได้ในการสะสมของสัตว์น้ำขนาดเล็กและมนุษย์บริโภคเข้าสู่ร่างกาย ปรอทสามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสูดดมมากกว่าการรับประทาน แต่พบในสารปรอทในอะมัลกัมที่ใช้ในการอุดฟันได้ด้วย
การสัมผัสผ่านทางผิวหนังทำให้เกิดผื่นแพ้ได้ ปรอทที่มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทเป็นหลัก คือ ชา และเป็นเหน็บที่ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปาก เดินเซ มือสั่น กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก พูดไม่ชัด การได้ยินผิดปกติ ลานสายตาแคบลง อาการทางจิตจะทำให้พฤติกรรมเปลียนแปลง สติปัญญาเสื่อม ผิวหนังแดงลอก ไตวาย อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการพิษจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับปรอทเพียง 2-3 สัปดาห์ถึงเดือน ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ เด็กที่คลอดออกมาจะได้รับผลกระทบทางระบบประสาท และทำให้เด็กปัญญาอ่อนได้
แคดเมียม (Cadmium :Cd) เป็นที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็ง พบได้ในสารกำจัดเชื้อรา สารกำจัดศัตรูพืช ถ่านไฟฟ้า ใช้ทำเป็นตัวกระตุ้นในปฏิกิริยาเคมี เม็ดสี ผงสี แก้ว โลหะชุบ ใช้ในอุตสาหกรรมการถ่ายภาพ การเคลือบมัน แล้วยังเป็นตัวปนเปื้อนในปุ๋ยชนิดซูเปอร์ฟอสเฟตอีกด้วย แคดเมียมจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยการหายใจเอาฝุ่น หรือควันของแคดเมียม หรือโดยการรับประทานเข้าไป
พิษของการได้รับแคดเมียม หากสูดดมไอระเหยและฝุ่นของแคดเมียม ก่อให้เกิดภาวะปอดอักเสบ ปอดบวมน้ำ และเลือดออกในปอด หรืออาจทำให้เกิดมะเร็งในปอดได้ พิษจากการกินทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร และเมื่อมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แคดเมียมจะทำลายท่อไต เกิดภาวะโรคไตได้ แล้วหากมีการสะสมของแคดเมียมในกระดูกในปริมาณมาก ทำให้เกิดโรคอิไต-อิไต ส่งผลทำให้กระดูกเปราะ และหักง่าย พิษจากการสัมผัสโดยตรง จะทำให้ระคายเคืองผิวหนังและตาได้
โคบอลท์ (Cobalt :Co) เป็นโลหะหนักที่ใช้ในการทำแม่เหล็กเป็นหลัก ซึ่งมีความทนต่อการสึกหรอ และมีความแข็งแรงสูง พบในโรงโม่บดโลหะหนัก เจียระไนเพชรหรือเครื่องประดับ(เนื่องจากผิวของโคบอลท์มีความเงาและใสเหมือนแก้ว) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า สารเคมีในร้านเสริมสวย และโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ ฯลฯ
พิษของการได้รับโคบอลท์จากการสูดดม ทำให้เกิดโรคหอบหืด พิษจากการสัมผัสโดยตรงทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง หรือผิวหนังอักเสบ โคบอลท์เป็นสาเหตุหลักสำคัญของการเกิดโรคผิวหนัง ซึ่งหากมีการสะสมโคบอลท์ในปริมาณมาก จะทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม และมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด
โครเมียม (Chromium :Cr) เป็นที่ยืนยันแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งตับ สามารถพบได้ในงานโลหะที่ป้องกันการกัดกร่อน และทำให้เกิดความมันวาว ใช้เป็นส่วนผสมของมีดสแตนเลส งานเคลือบโลหะ สี ผงขัดโลหะ และเป็นเกลือสำหรับฟอกหนัง โครเมียมจะถูกดูดซึมหลังจากการรับประทาน สูดดม หรือสัมผัสโดยตรง
พิษของการได้รับโครเมียม จากการรับประทานจะทำให้เกิดกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบเฉียบพลัน ร่วมกับอาเจียนออกมาเป็นสีเหลือง-เขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด เกิดมะเร็งตับ เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ท่อไตอักเสบเฉียบพลัน เกิดภาวะไตวาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด พิษจากการสัมผัสโดยตรง จะเกิดการระคายเคือง และเป็นแผลในบริเวณนั้นๆ พิษจากการสูดดม ทำให้เกิดปอดอักเสบและหอบหืด ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้
ทองแดง (Copper : Cr) ส่วนใหญ่พบอยู่ในสายไฟฟ้า หลังคา ระบบน้ำประปา เครื่องจักรอุตสาหกรรม และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้กระทั่งในอาหารเสริม และสารเคมีทางการเกษตร ทองแดงสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการสูดดมเอาฝุ่น หรือฟูมของทองแดงเข้าไป การสัมผัสโดยตรงทางผิวหนังหรือดวงตา และการรับประทาน
พิษของการได้รับทองแดง จากการสูดดม ทำให้เกิดการระคายเคืองระบบหายใจส่วนบท และเกิดแผล มีการทะลุของเยื่อกั้นจมูก ปากมีรสหวาน หรือรสโลหะ พิษจากการสัมผัสโดยตรง บางครั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงของสีผิว และสีผม หากเข้าตาอาจมีการระคายเคืองเล็กน้อย พิษจากการกิน จะมีอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสียได้ หากสะสมในปริมาณมาก อาจทำให้แน่นจมูก ระคายคอ เคืองตา ปอดเป็นพังผืด มะเร็งปอด วัณโรค และจะมีอาการแน่นหน้าอกทันทีที่มีการสัมผัส
เหล็ก (Iron : Fe) พบได้ในการรักษาภาวะโลหิตจาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุตสาหกรรม และเป็นส่วนสำคัญของเลือด กล้ามเนื้อ และน้ำย่อยต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้โดยการรับประทาน และการสัมผัสเป็นหลัก
เหล็กมีฤทธิ์กัดกร่อนเยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อเป็นจ้ำเลือด และทางเดินอาหารทะลุ ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำโดยเฉียบพลัน และทำให้ช็อกได้ เหล็กที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเกินไปจะจับกับโปรตีน ส่งผลทำให้ภาวะเลือดเป็นกรด และระบบอวัยวะล้มเหลว จากการสัมผัสทางผิวหนังหรือเข้าตา รับประทาน หรือสูดดมเข้าปอดจะทำให้ระคายเคือง ฝุ่นเหล็กจากการทำงานที่สะสมในปอด ทำให้เกิดโรคปอดฝุ่นเหล็ก หากมีเหล็กสะสมในดวงตา เช่น มีเศษเหล็กฝังเข้าในดวงตาเนื่องจากอุบัติเหตุเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนสี และเนื้อเยื่อตาเสื่อม หากมีการสะสมในปริมาณสูง ทำให้เซลล์ตับ หัวใจ และต่อมไร้ท่อต่างๆทำงานผิดปกติ และตายได้
ตะกั่ว (Lead : Pb) เป็นที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ตะกั่วอาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสูดดม และการรับประทาน
ตะกั่วจะรบกวนการทำงานของเอนไซม์ในร่างกาย เช่น รบกวนสารสื่อประสาท ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบโลหิต เมื่อมีตะกั่วในเลือดมาก จะเกิดการสะสมในกระดูก และเมื่อตะกั่วในเลือดต่ำลง ก็จะออกจากกระดูกเข้าสู่กระแสเลือด พิษของการได้รับตะกั่วคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง เลือดจาก ตับอักเสบ หรือสมองอักเสบได้ หากมีการสะสมตะกั่วเป็นระยะเวลานาน จะอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ น้ำหนักลด ปวดกล้ามเนื้อตามข้อ ปวดเกร็งท้อง ท้องผูก สมาธิไม่ดี ปวดหัว สั่น เดินเซ ซึม ชัก พฤติกรรมเปลี่ยนไป ปลายประสาทอักเสบ ข้อมือตก เกิดภาวะโลหิตจาก ท่อกรวยไตอักเสบ เกิดพังผืด ทำให้เป็นหมัน ทำให้คลอดก่อนกำหนด และส่งผลให้พัฒนาการของสมองเด็กไม่ดี
อาการของหลายโรคที่กล่าวมาข้างต้นไม่สามารถหาสาเหตุได้ นอกจากจะใช้ยาเคมีเพื่อระงับปลายอาหารเท่านั้น แต่ถ้าตรวจเลือดเพียงไม่กี่หยดสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากโลหะหนักได้จากต้นเหตุ
อย่างไรก็ตามถึงแม้มีข้อมูลว่าพบโลหะหนักในร่างกายมากเกินไปแล้วก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภคและสิ่งแวดล้อมไม่ให้โลหะหนักเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งยังสามารถหาหนทางในการขับพิษโลหะหนักในร่างกายให้ลดปริมาณลงได้ด้วย
ตัวอย่างเช่น จากงานวิจัยของ Carl-Gustaf Elinder และ Maud Pannone นักวิชาการจากภาควิชาสุขลักษณะสิ่งแวดล้อม สถาบันคาโรลินสกา ประเทศสวีเดน ตีพิมพ์ในวารสาร "Environmental Health Perspectives" ฉบับที่ 28 หน้า 123-126 เมื่อปี พ.ศ.2522 ได้ทำการศึกษาในหัวข้อ Biliary Excretion of Cadmium เพื่อศึกษาการขับแคดเมียมซึ่งเป็นโลหะหนักที่ก่อมะเร็งผ่านทางน้ำดีในหนู พบว่าการขับสารแคดเมียมสามารถขับถ่ายออกมาทางอุจจาระผ่านระบบลำไส้มากที่สุด และรองลงมาคือการขับทางน้ำดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบการขับถ่ายผ่านทางปัสสาวะเป็นอย่างชัดเจน ดังนั้นการล้างพิษตับที่เน้นการล้างลำไส้และการขับน้ำดีมากกว่าปกติน่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการลดปริมาณโลหะหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
ท่านใดสนใจสามารถตรวจโลหะหนักที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดได้ โดยเข้าโครงการตรวจเลือดเปลี่ยนชีวิตได้ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 น. -18.00 น. ที่อาคารบี บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 096-065-3684 และ 096-065-3685