xs
xsm
sm
md
lg

คดีอาวุธสงคราม-จาบจ้วงก่อเหตุปี 53 จับปี 57 คำถามตำรวจ-อดุลย์ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

** หากจะพูดว่า ต้องชื่นชมการทำหน้าที่ของตำรวจในช่วงนี้คงไม่ได้ เพราะหากมองในอีกมุมหนึ่งกลับกลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความไร้มาตรฐานในการทำหน้าที่ได้อย่างชัดเจน และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการปฏิรูป รื้อโครงสร้างการบริหารองค์กรกันอย่างขนานใหญ่ ไม่แพ้การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่กำลังเกิดเรื่องอื้อฉาวครึกโครมอยู่ในเวลานี้
หากเริ่มจากกรณีที่ญาติของผู้เสียหายที่ถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมบนขบวนรถไฟ โดยเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ มีการเปิดโปงแบบ "ทะลุกลางปล้อง" ว่าตำรวจ (นายตำรวจ) มีการ "จัดฉาก" ให้แม่ของผู้เสียหายท่องสคริปต์ชมเชยการทำคดีของตำรวจ ระหว่างที่มีการมอบเงินเยียวยาจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม ตามสิทธิ์พึงมีพึงได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นคำถามก็คือ ตำรวจต้องทำแบบนั้นทำไม หรือว่านี่คือวิถีการทำงานแบบฉาบฉวยเอาหน้า จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้วหรือ
**เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นตำรวจที่วิ่งเต้น เดินตามหลังนักการเมือง รับใช้การเมืองได้ดิบได้ดีได้ตำแหน่งใหญ่โต ทำได้แม้กระทั่งรับใช้โจร ที่บอกว่า "ได้ดีเพราะพี่(โจร)ให้"
ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วในการติดตามค้นหาศพเด็กหญิงคนนั้นในตอนต้น จากปากคำของญาติใกล้ชิดก็ยืนยันว่า ตำรวจไม่ค่อยใส่ใจนัก กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างฯ และเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ในพื้นที่ ที่ต้องเสี่ยงภัยช่วยกันค้นหากันกลางดึกจนพบศพ และกลายเป็นเรื่องเศร้าสลดคนทั้งสังคมต่างหากจึงเกิดการตื่นตัว เร่งคลี่คลายคดีตามหน้าที่
การจับกุมคนร้าย การคลี่คลายคดี สมควรต้องทำไปตามหลักฐานข้อเท็จจริง แต่นี่กลายเป็นว่าตำรวจ (บางนาย) กำลังใช้เป็นช่องทางพิเศษเพื่อสร้างความดีความชอบจนเกินพอดีหรือไม่ และบังเอิญว่าบรรดาญาติๆ ของผู้เสียหายรับไม่ได้จึงต้องเปิดโปงออกมา
นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น และรับรองว่ามีเรื่องในทำนองเดียวกันนี้ต่างกรรม วาระอยู่ตลอด ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นแบบนี้หากระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล การให้ความดีความชอบ เลื่อนยศตำแหน่งยังเป็นแบบนี้อยู่ต่อไป
อีกเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของตำรวจ ที่หากมองอีกมุมหนึ่งกลับเป็นการสร้าง "ความไม่เชื่อมั่น" กับตำรวจได้ชัดเจนที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคำถามที่พุ่งตรงไปถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุด ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงมาเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
คดีการจับกุมผู้ต้องหาเกี่ยวกับอาวุธสงคราม ที่มีการขยายผลจับกุมได้หลายคน มีของกลางจำนวนมาก และผู้ต้องหาในจำนวนนั้น คือ พล.ท.มนัส เปาริก อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ ทักษิณ ชินวัตร ล่าสุดเพิ่งมีการเข้ามอบตัว แต่ตำรวจคัดค้านการประกันตัว อ้างว่ายังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น อีกคดีหนึ่งก็คือ จับกุมผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีความผิดตาม มาตรา 112 ผู้ต้องหาตามหมายจับวันที่ 6 กรกฎาคม คือ นายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี โดยผู้ต้องหารายนี้สารภาพว่า ได้ปราศรัยจาบจ้วง เมื่อปี 53 ซึ่งไม่ต่างจากความผิดของ พล.ท.มนัส เปาริก ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 53 เช่นเดียวกัน
ส่วนคดีล่าสุดก็คือ การออกหมายจับและจับกุมมือปืนที่ก่อเหตุยิง สุทิน ธราทิน แกนนำกลุ่ม คปท. ที่วัดศรีเอี่ยม ย่านถนนศรีนครินทร์ บางนา จนเสียชีวิต โดยเหตุเกิดมานานนับปีแล้ว มีพยานหลักฐาน ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวชัดเจน แต่ตำรวจไม่มีการจับกุม ซึ่งไม่ต่างกับอีกหลายคดี
**คำถามตรงๆ ก็คือ เมื่อทำผิดมาตั้งแต่ปี 53 เป็นเรื่องใหญ่แล้วทำไมไม่มีการจับกุม เป็นเพราะตำรวจในยุคนั้นไม่มีความสามารถ เพิ่งจะมาเก่งในด้านการค้นหาหลักฐาน การจับกุมเอาในยุคนี้ ก็ไม่น่าจะใช่ และในยุคนั้นเป็นยุคที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น
ขณะเดียวกันการแสดงออกแบบเอาจริงเอาจังในการติดตามคดีดังกล่าวในยุคของ สองรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อาจมองในแง่บวก แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ยังมั่นใจไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากการทำหน้าที่ที่ผ่านมาของตำรวจโดยรวมยังไม่มีมาตรฐานให้ชื่นใจได้เลย ทุกอย่างถูกมองว่าเชื่อมโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ ทั้งเรื่องตำแหน่งและอื่นๆ
**ดังนั้นหากจะให้องค์กรตำรวจเป็นที่พึ่ง และไว้ใจได้จนเกิดความศรัทธาได้เต็มร้อย ก็ต้องมีการปฏิรูปการทำหน้าที่ มีการอบรมจริยธรรม มีการตรวจสอบถ่วงดุลในการโยกย้ายแต่งตั้งกันอย่างโปร่งใส และที่สำคัญ การปฏิรูปดังกล่าวต้องผลักดันจากภายนอกที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากภายในตำรวจด้วยกันเอง เป็นหลัก เพราะนั่นไม่เกิดประโยชน์ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น