ผ่าประเด็นร้อน
หากจะพูดว่าต้องชื่นชมการทำหน้าที่ของตำรวจในช่วงนี้คงไม่ได้ เพราะหากมองในอีกมุมหนึ่งกลับกลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นให้เห็นถึงความไร้มาตรฐานในการทำหน้าที่ได้อย่างชัดเจน และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการปฏิรูป รื้อโครงสร้างการบริหารองค์กรกันอย่างขนานใหญ่ ไม่แพ้การรถไฟแห่งประเทศไทยที่กำลังเกิดเรื่องอื้อฉาวครึกโครมอยู่ในเวลานี้
หากเริ่มจากกรณีที่ญาติของผู้เสียหายที่ถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมบนขบวนรถไฟ โดยเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯมีการเปิดโปงแบบ “ทะลุกลางปล้อง” ว่า ตำรวจ (นายตำรวจ) มีการ “จัดฉาก” ให้แม่ของผู้เสียหายท่องสคริปต์ชมเชยการทำคดีของตำรวจระหว่างที่มีการมอบเงินเยียวยาจากกรมคุ้มครองสิทธิฯกระทรวงยุติธรรม ตามสิทธิ์พึงมีพึงได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นคำถามก็คือตำรวจต้องทำแบบนั้นทำไม หรือว่านี่คือวิถีการทำงานแบบฉาบฉวยเอาหน้าจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้วหรือ
เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นตำรวจที่วิ่งเต้น เดินตามหลังนักการเมือง รับใช้การเมืองได้ดิบได้ดีได้ตำแหน่งใหญ่โต ทำได้แม้กระทั่งรับใช้โจร ที่บอกว่า “ได้ดีเพราะพี่ (โจร) ให้”
ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วในการติดตามค้นหาศพเด็กหญิงคนนั้นในตอนต้นจากปากคำของญาติใกล้ชิด ก็ยืนยันว่าตำรวจไม่ค่อยใส่ใจนัก กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างฯ และเจ้าหน้าที่การรถไฟฯในพื้นที่ที่ต้องเสี่ยงภัยช่วยกันค้นหากันกลางดึกจนพบศพ และกลายเป็นเรื่องเศร้าสลดคนทั้งสังคมต่างหากจึงเกิดการตื่นตัว เร่งคลี่คลายคดีตามหน้าที่
การจับกุมคนร้าย การคลี่คลายคดีสมควรต้องทำไปตามหลักฐานข้อเท็จจริง แต่นี่กลายเป็นว่าตำรวจ (บางนาย) กำลังใช้เป็นช่องทางพิเศษเพื่อสร้างความดีความชอบจนเกินพอดีหรือไม่ และบังเอิญว่าบรรดาญาติๆ ของผู้เสียหายรับไม่ได้จึงต้องเปิดโปงออกมา
นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น และรับรองว่ามีเรื่องในทำนองเดียวกันนี้ต่างกรรมต่างวาระอยู่ตลอด ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นแบบนี้หากระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล การให้ความดีความชอบ เลื่อนยศตำแหน่งยังเป็นแบบนี้อยู่ต่อไป
อีกเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของตำรวจ ที่หากมองอีกมุมหนึ่งกลับเป็นการสร้าง “ความไม่เชื่อมั่น” กับตำรวจได้ชัดเจนที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคำถามที่พุ่งตรงไปถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงมาเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
คดีการจับกุมผู้ต้องหาเกี่ยวกับอาวุธสงคราม ที่มีการขยายผลจับกุมได้หลายคน มีของกลางจำนวนมาก และผู้ต้องหาในจำนวนนั้น คือ พล.ท.มนัส เปาริก อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ ทักษิณ ชินวัตร ล่าสุด เพิ่งมีการเข้ามอบตัว แต่ตำรวจคัดค้านการประกันตัว อ้างว่ายังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น อีกคดีหนึ่งก็คือจับกุมผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีความผิดตามมาตรา 112 ผู้ต้องหาตามหมายจับวันที่ 6 กรกฎาคม คือ นายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี โดยผู้ต้องหารายนี้สารภาพว่าได้ปราศรัยจาบจ้วงเมื่อปี 53 ซึ่งไม่ต่างจากความผิดของ พล.ท.มนัส เปาริก ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 53 เช่นเดียวกัน
ส่วนคดีล่าสุดก็คือการออกหมายจับและจับกุมมือปืนที่ก่อเหตุยิง สุทิน ธราทิน แกนนำกลุ่ม คปท. ที่วัดศรีเอี่ยม ย่านถนนศรีนครินทร์ บางนา จนเสียชีวิต โดยเหตุเกิดมานานนับปีแล้ว มีพยานหลักฐานทั้งภาพยิ่งภาพเคลื่อนไหวชัดเจน แต่ตำรวจไม่มีการจับกุม ซึ่งไม่ต่างกับอีกหลายคดี
คำถามตรงๆ ก็คือ เมื่อทำผิดมาตั้งแต่ปี 53 เป็นเรื่องใหญ่แล้วทำไมไม่มีการจับกุม เป็นเพราะตำรวจในยุคนั้นไม่มีความสามารถ เพิ่งจะมาเก่งในด้านการค้นหาหลักฐาน การจับกุมเอาในยุคนี้ ก็ไม่น่าจะใช่ และในยุคนั้นเป็นยุคที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น
ขณะเดียวกัน การแสดงออกแบบเอาจริงเอาจังในการติดตามคดีดังกล่าวในยุคของสองรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อาจมองในแง่บวก แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ยังมั่นใจไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากการทำหน้าที่ที่ผ่านมาของตำรวจโดยรวมยังไม่มีมาตรฐานให้ชื่นใจได้เลย ทุกอย่างถูกมองว่าเชื่อมโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ ทั้งเรื่องตำแหน่งและอื่นๆ
ดังนั้น หากจะให้องค์กรตำรวจเป็นที่พึ่งและไว้ใจได้จนเกิดความศรัทธาได้เต็มร้อย ก็ต้องมีการปฏิรูปการทำหน้าที่ มีการอบรมจริยธรรม มีการตรวจสอบถ่วงดุลในการโยกย้ายแต่งตั้งกันอย่างโปร่งใส และทีสำคัญการปฏิรูปดังกล่าวต้องผลักดันจากภายนอกที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากภายในตำรวจด้วยกันเองเป็นหลัก เพราะนั่นไม่เกิดประโยชน์ !!