xs
xsm
sm
md
lg

รู้และเข้าใจ ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย (4)

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

        ปฏิรูปพลังงานต้องอยู่บนข้อเท็จจริง
อย่า “มโน” หรือยัดเยียดให้เลือกข้างอย่างที่เป็นอยู่

การปฏิรูปพลังงานเป็นประเด็นการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยที่มีข้อโต้แย้งถกเถียงมากที่สุดประเด็นหนึ่งก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างแนวคิดของกลุ่มที่นำโดยนายปิยสวัสดิ์และกลุ่มที่มีนางรสนาเป็นแกนนำ

มีประเด็นความแตกต่างที่พอจะประมวลได้คือ

1. ความแตกต่างด้านข้อมูลว่าไทยมีน้ำมันหรือไม่

ฝ่ายนางรสนาเชื่อว่าไทยมีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่มากและกล่าวหาว่าทางการไทยปกปิดข้อมูล ประเด็นนี้น่าจะหาข้อยุติได้ไม่ยากหากทางการไทยดำเนินการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และหาข้อยุติในตัวเลขที่แตกต่างกันดังเช่นตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันเพราะนี่คือเรื่องข้อเท็จจริงมิใช่ความเห็นที่สามารถมองต่างได้ รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบตัวเลขที่ตนใช้ในการตัดสินใจ

หากได้ข้อยุติ ประเด็นที่ติดตามมาเรื่องการวิเคราะห์และนัยแห่งนโยบายที่เกี่ยวกับพลังงาน เช่น การให้สัมปทานแบบแบ่งผลผลิตหรือการเก็บค่าสัมปทานก็จะชัดเจนไม่แตกต่างอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2. โครงสร้างการผลิตและการตลาด

สมมติว่าสามารถหาข้อยุติที่ตรงกันด้านข้อมูลได้ ทั้ง 2 ฝ่ายในขณะนี้ก็เห็นในข้อเท็จจริงเหมือนกันว่าโครงสร้างการผลิตและการตลาดถูกผูกขาดโดยหน่วยงานของรัฐคือ ปตท.ที่กึ่งแปรสภาพเป็นเอกชนเพราะมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสูงถึงเกือบกึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน

ในส่วนความเห็นนั้น ฝ่ายนางรสนามองในมุมที่ว่า ปตท.สมควรที่จะต้องนำกลับมาเป็นของรัฐ ไม่สมควรที่จะแปรรูปให้เป็นของเอกชนไป แต่มิได้มีมุมมองเกี่ยวกับสาเหตุที่มาของการผูกขาดว่าเกิดมาจากปัจจัยอะไรนั่นคือละเลยมิได้มองถึงการผูกขาดในระบบเครือข่าย เช่น ท่อที่ใช้ลำเลียงก๊าซจากแหล่งผลิตมาสู่ผู้ใช้ (ดูเรื่องปฏิรูปพลังงาน ของผู้เขียน) ในขณะที่นายปิยสวัสดิ์เสนอให้มีการแก้ไขมิให้ ปตท.เป็นเจ้าของท่อก๊าซและแปรรูปให้เป็นของเอกชน รวมถึงให้อยู่ในการกำกับและตรวจสอบของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

การแยกหรือมิให้เกิดการผูกขาดจากปัจจัยเครือข่ายจึงเป็นประเด็นสำคัญต่อนัยแห่งการจะเป็นเจ้าของ ปตท.ของรัฐไทยหรือไม่

หากท่อก๊าซรัฐเป็นเจ้าของทั้งหมด ปตท.จะเป็นของเอกชนหรือรัฐก็มิใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป ว่าไปแล้วไม่สมควรจะเป็นของรัฐด้วยซ้ำจะขายให้เอกชนไปทั้งหมดก็ได้ เหตุก็คืออำนาจในการผูกขาดของ ปตท.ไม่มีแล้วนั่นเอง

การนำเอา ปตท.กลับคืนมาเป็นของรัฐ 100% ในขณะที่ยังคงเป็นเจ้าของปัจจัยแห่งการผูกขาด เช่น ท่อก๊าซ ก็มิใช่แนวทางแก้ไขที่ดีเพราะการผูกขาดยังอยู่ ปตท.ก็อาจกลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดประสิทธิภาพไปโดยง่าย ขณะที่ความฉ้อฉลด้านนโยบายพลังงานที่รัฐต้องเข้ามาควบคุมอย่างใกล้ชิดเพราะมีอำนาจผูกขาดอยู่ในมือก็จะทำให้รัฐต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปโดยใช่เหตุและมิได้มีหลักประกันว่าจะดีกว่าการแปรรูปให้เป็นเอกชน

3. กลไกราคา

การไม่ใช้หลักวิชาก็เป็นเสมือน “ชีวิตนี้มีแต่หมานำ” เพราะคนตาบอดต้องมีหมานำทาง การปฏิรูปพลังงานก็เช่นกัน

หลักคิดในการตั้งราคาพลังงานจึงต้องอาศัยหลักวิชามากกว่าความเห็นร่วมของคนส่วนใหญ่ในสังคมอันเป็นข้ออ้างของนโยบายประชานิยมอันเป็นสันดานดิบของคนทั่วไปที่โกงไม่ว่าแต่ขอแบ่งด้วยนั่นเอง

ประเด็นรูปธรรมที่เห็นต่างกันชัดเจนก็คือการตั้งราคาน้ำมันหรือก๊าซสมควรใช้ราคาตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาจากโรงกลั่นที่สิงคโปร์มาเป็นพื้นฐานหรือไม่หรือควรคิดแค่ต้นทุนในการนำเอาน้ำมันหรือก๊าซขึ้นมาจากใต้ดิน

หลักคิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่คิดจากต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) นั้นมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ อะไรคือประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับจากน้ำมันหรือก๊าซนั่นคือต้นทุนค่าเสียโอกาส หากน้ำมันที่ขุดขึ้นมาไม่ใช้เองประโยชน์สูงสุดคือการเอาไปขาย ดังนั้นราคาที่ขายก็ไม่ควรต่ำกว่าที่ขายกันที่อื่นๆ อย่างเช่น สิงคโปร์ ใช่หรือไม่

แต่หากไปใช้หลักคิดอื่นที่ส่วนใหญ่คิดเข้าข้างตนเอง เช่น เป็นทรัพยากรที่อยู่ในแผ่นดินไทยคนไทยจึงควรได้ใช้ในราคาถูก หรืออาจคิดเฉพาะต้นทุนการขุดขึ้นมา ทั้งหมดจึงไม่ถูกต้อง คิดง่ายๆ ว่าหากไทยไม่มีน้ำมันหรือก๊าซก็ต้องซื้อเข้ามาในราคาตลาด(โลก)มิใช่หรือ หากไม่ชอบสิงคโปร์จะใช้ราคาตลาดที่ลอนดอนหรือตะวันออกกลางเพื่ออ้างอิงก็ได้เพราะยังอยู่ในโลก แต่ก็จะแพงเวอร์เพราะอยู่ไกลกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ราคาสิงคโปร์เป็นราคาอ้างอิง

ทำไมเมื่อมีน้ำมันหรือก๊าซแล้วจึงจงใจ(บังคับ)ให้คิดต้นทุนในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด(โลก)โดยข้ออ้างว่าใช้เพื่อบริโภคภายในประเทศไม่ส่งออก หากเป็นเช่นนี้แล้วสู้เก็บไว้ใต้ดินให้ลูกหลานรุ่นต่อไปจะดีกว่านำมาล้างผลาญแบบไม่คุ้มค่าเช่นนี้หรือไม่

การเก็บรักษาทรัพยากรที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเก็บเป็นตัวน้ำมันหรือเก็บเป็นเงินก็ควรจะคิดให้มีมูลค่าไม่แตกต่างกัน หากคนในปัจจุบันคิดต้นทุนเข้าข้างตนเองด้วยหลักคิดอื่นเพียงเพื่อหวังให้ได้ราคาที่ถูกกว่าราคาขายในตลาด(โลก)เช่นนี้เป็นการเอาเปรียบลูกหลานในอนาคตหรือไม่ เพราะหากปัจจุบันตั้งราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นการส่งเสริมให้มีการบริโภคในปัจจุบันมากกว่าไม่เหลือเก็บให้คนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสใช้

ที่ยกมาอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า วิวาทะเรื่องพลังงานในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่เลอะเทอะ มุ่งสร้างกระแสเพื่อต่อต้านหรือโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งภายใต้วาทกรรมของการปกป้องทวงคืนทรัพยากรด้านพลังงาน โดยใช้ความเชื่อความเห็นในมุมมองของตนเองเป็นสำคัญ มิได้ใช้วิชาเป็นหลักคิดแต่อย่างใด

วาระซ่อนเร้นที่มิได้กล่าวถึงแต่ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิมคือการได้ใช้พลังงานในราคาถูกในปัจจุบัน มิได้มองให้ไกลไปกว่านั้นเลย เป็นเหมือนกับเรื่องการใช้แรงงานราคาถูกกับแรงงานต่างด้าวในการผลิตของประเทศ ซ้ำร้ายยังเป็นการยัดเยียดผลักไสให้ต้องเลือกข้าง (Dichotomy) อีกด้วย

อย่างนี้จะปฏิรูปพลังงานเพื่อปฏิรูปประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าไปได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น