xs
xsm
sm
md
lg

แห่ร้องทุกข์คสช. จี้ใช้ศาลยุติธรรม แทนศาลทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ ( 26 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.)ตามปกติ ซึ่งไม่ได้มีการประชุม คสช.แต่อย่างใด โดยมีนายทหารระดับสูงของกองทัพบกเข้าร่วม อาทิ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ พล.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก
ขณะที่บรรยากาศด้านหน้าบก.ทบ. มีประชาชน และตัวแทนกลุ่มต่างๆ จำนวนมากเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหัวหน้า คสช.อย่างต่อเนื่อง อาทิ นายนรินทร์ วรรณมหินทร์ นายอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง มายื่นหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาเร่งรัดออกโฉนดที่ดินให้ชาวบ้านจำนวน 600 กว่าแปลง หลังจากที่ชาวบ้านไม่มีโฉนดที่ดินมาว่า 25 ปี โดยนายนรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินเรื่องตามขั้นตอน และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของครม. เพื่อดำเนินการอนุมัติ แต่มีการยุบสภาก่อน ทำให้เรื่องชะงักจึงขอให้ คสช.เร่งดำเนินการแทน
นอกจากนี้ยังมีชาวบ้าน ต.ลำพญากลาง, ต.ลำสมพุง และ ต.ทรัพย์สนุ่น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี กว่า 40 คน เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ หลังบริษัทเอกชนยื่นเรื่องขอสำรวจพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อขอสัมปทานทำเหมืองแร่ โดยในหนังสือร้องเรียนระบุว่า หากมีการทำเหมืองแร่เกิดขึ้น จะทำให้ชาวบ้านกว่า 1 หมื่นครัวเรือน ซึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงโคนม และทำการเกษตร ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการสำรวจพื้นที่ทำเหมืองแร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล มากกว่า 60,000 ไร่
จากนั้นได้มีตัวแทนของชาวบ้าน ม.4 ต.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 20 คน นำโดย นางประณอ พุ่มศิริ เดินทางมายื่นหนังสือขอให้คสช. แก้ปัญหานายทุนบุกรุกสร้างบ้านพักและรีสอร์ทบนชายหาดสาธารณะ ที่มีความยาว 7 กม. โดยนางประณอ กล่าวว่า ทางอบต.ออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบ ซึ่งชาวบ้านต้องการให้ชายหาดกลับคืนเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อไม่ให้มีน้ำเสียปล่อยลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบต่อการทำประมง
ขณะที่กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน(กนส.) นำโดย นายปกาสิต ไตรยสุนันท์ หัวหน้ากลุ่ม เดินทางมายื่นหนังสือ เสนอแนวทางแห่งความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ต่อคสช. โดยนายวิญญัติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 63/2557 เรื่องนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ เราเห็นว่า คสช. ต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อประชาชน โดยผู้ที่มีรายชื่อถูกดำเนินคดีเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึก มีขอบเขตจำกัด ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ คสช. จึงขอให้คสช.พิจารณาโอนคดีทั้งหมดไปพิจารณาที่ศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลพลเรือน ที่ไม่ใช่ศาลทหาร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ มีสิทธิอุทธรณ์ และฎีกา ให้นำไปสู่การปรองดองที่ยั่งยืน

**มท.พร้อมปราบโกงตามนโยบาย คสช.

ที่วิทยาลัยการปกครอง นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการประชุมร่วมรับทราบแนวทางการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ 69/57 ในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตว่า กระทรวงมหาดไทยต้อทำงานร่วมกับอีกหลายองค์กร โดยต้องเน้นย้ำหลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส การไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งสิ่งที่คนจะมองกันมากคือการใช้จ่ายงบประมาณ และด้วยความที่กระทรวงมหาดไทยเป็นองค์กรใหญ่จึงมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในกระทรวงมหาดไทย และเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมมาตลอด ซึ่งไม่ได้มุ่งเฉพาะระดับข้าราชการทั้งชั้นผู้น้อยและชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น แต่จะมุ่งไปถึงทุกหน่วยงาน และจะมีความร่วมมือเพื่อพร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบจากทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการเรื่องนี้ให้กระชับมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติตามนโยบายของ คสช. ในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันทั้งโครงการใหญ่และโครงการเล็ก การใช้จ่ายงบประมาณต้องประหยัดที่สุดแต่เกิดประโยชน์สูงสุด

**เคลียร์แรงงานต่างด้าวใน 1 เดือน

ส่วนเรื่องการดูแลเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าว นายวิบูลย์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในส่วนของความมั่นคงและการทะเบียนราษฎร รวมทั้งกฎหมายคนเข้าเมือง ขณะนี้อย่างน้อยเราจะต้องทำในเรื่องการรับแรงงานต่างด้าว โดยแต่ละจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าดูแลในเรื่องการรับคืนแรงงานจากกัมพูชากลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย หลังจากที่แรงงานได้เดินทางกลับต่างประเทศเพราะเกิดความตกใจ ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงานเข้ามาประมาณ 1 แสนคน โดยในวันนี้ก็จะเริ่มรับแรงงานที่ จ.สระแก้ว ตราด จันทบุรี และสุรินทร์ ซึ่งเป็นจุดใหญ่ ทั้งนี้ทาง คสช. เองก็ได้ประสานงานพูดคุยกับทางกัมพูชาแล้ว
นอกจากนั้นกระทรวงมหาดไทย จะทำงานร่วมกันกับทางกัมพูชา และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน อย่างก็ตามในเบื้องต้นจะให้เวลาในการดำเนินการดังกล่าวจนถึงวันที่ 26 ก.ค. เป็นเวลา 1 เดือน และเมื่อมีการดำเนินการสำเร็จแล้ว นายจ้างก็จะเข้ามาแสดงตนรับแรงงานไป ก็เชื่อว่าหากมีการดำเนินการไปแนวทางนี้ปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงานก็จะดีขึ้น
นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 30 มิ.ย. จะมีโครงการไพล็อตโปรเจกต์ ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่องให้แรงงานเพื่อนบ้านจากทั้ง 3 ประเทศ ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้นายจ้างพามาขึ้นทะเบียน โดยจะมีการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งนี้จะใช้เวลาดำเนินโครงการดังกล่าว 1 เดือน และหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะได้นำไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆต่อไป

** ยันไม่ยุบกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสที่ไปเป็นประธานเปิดงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ ให้กับกงสุลต่างประเทศ และชาวต่างประเทศที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อร่างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาให้ทุกอย่างกลับคืนสู่ความสันติสุข ซึ่งในวันพุธหน้า จะมีการประชุมมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารราชการทุกกระทรวง เพื่อเดินหน้าตามโรดแมปของการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าข้าราชการจะไม่ปล่อยให้มีเกียร์ว่าง ซึ่งหลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่า ที่ทำเพราะกลัวทหารหรือไม่ ซึ่งที่จริงแล้วความกลัวไม่ได้ยั่งยืน ความสมัครสมานสามัคคีต่างหากที่จะเป็นคำตอบของประเทศ
ส่วนกระแสข่าวลือเรื่อง จะยุบเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้น ยืนยันว่า ตามโรดแมป จะไม่มีการยกเลิกอย่างแน่นอน เพราะเป็นสถาบันพระราชทานในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงต้องการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดูแลทุกข์สุขของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น