xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ปัดลิดรอนสิทธิสื่อฯ-ส.นักข่าวยื่นแจงวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีที่สมาคมนักข่าวหนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีความกังวล ต่อกรณีที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช. ฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธาน มีคำสั่งแต่งตั้ง 5 คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อด้านต่างๆ ว่า ไม่อยากให้องค์กรสื่อกังวลในเรื่องนี้ ยืนยันไม่ได้เป็นการปิดกั้น แต่ที่ผ่านมาคสช. จะใช้แนวทางขอความร่วมมือ เพื่อให้การรับข่าวสารที่เป็นจริง ไม่อยากให้มีการสร้างข่าวลือ โดยแสวงผลอันมิชอบจากสื่อ ดังนั้นต้องร่วมมือกันในการใช้วิจารณญาณ เลือกนำเสนอข่าวที่มีความเหมาะสม ไม่ใช่เป็นการลิดรอนการทำงานสื่อแต่อย่างใด
"ยืนยันว่า คสช.คงไม่ใช้การปิดกั้น และกระทบสิทธิการรับรู้ โดยเฉพาะในข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรรู้ นอกจากข่าวที่เป็นเพียงการจินตนาการ การคาดเดา หรือการสร้างกระแสข่าวลือ เพื่อหวังแสวงประโยชน์อันมิชอบผ่านสื่อ ก็อาจต้องขอความร่วมมือให้พิจารณาในการวางน้ำหนักพื้นที่ข่าวให้เหมาะสม" พ.อ.วินธัย กล่าว
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า การทำงานร่วมกับสื่อมวลชนนั้น จะอยู่ในลักษณะของการแลกเปลี่ยน และรับฟังกันด้วยหลักเหตุผลข้อเท็จจริงภายใต้ผลประโยชน์ของประเทศชาติที่ควรเป็นไปอย่างเหมาะสม พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่มาตราการบังคับเพื่อริดรอนเสรีการทำงานใดๆ อย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมายังต้องขอขอบคุณสื่อ จากการได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสื่อมีความเข้าใจตรงกันที่ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคมประเทศชาติปัจจุบัน ถือว่าทุกสื่อเป็นส่วนร่วมสำคัญที่ทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาจนถึงวันนี้ ขณะเดียวกันยังไม่ทราบข้อมูล กรณีมีทหารเข้าไปควบคุมกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง โดยขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน
ส่วนการนำเสนอข่าวของ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และ นายจักรภพ เพ็ญแข ที่ตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทำงานของ คสช.นั้น พ.อ.วนธัย กล่าวว่า ขอให้เป็นดุลพินิจของแต่ละสื่อเอง ทาง คสช.ไม่ได้บังคับว่านำเสนอได้หรือไม่ เพราะไม่ให้น้ำหนักกับข่าวในเรื่องนี้ และจากข้อมูลที่มีอยู่ชี้ว่า ไม่ส่งผลกระทบในภาพรวมเท่าไร อีกทั้งความเคลื่อนไหวของทั้งนายจารุพงศ์และนายจักรภพ ก็เข้าข่ายขัดกับกฎหมายความมั่นคงหลายเรื่อง จึงเชื่อว่าต่างประเทศก็คงไม่ให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบในการติดตามการเคลื่อนไหวต่อไป
พ.อ.วินธัย ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า คสช.ส่งทหารเข้าไปยังกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางฉบับ หลังนำเสนอข่าว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ข่าวจัดตั้งองค์กรเสรีไทยของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ กับ นายจักรภพ เพ็ญแข ว่า ยังไม่ได้รับข้อมูล นโยบายทำงานโดยร่วมกับสื่อ เป็นการสื่อสารขอความร่วมมือในรูปแบบของการส่งหนังสือ พูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ ไลน์ หรือส่งข้อความทางอีเมล์ ไม่ได้เป็นการบังคับ ส่งให้ทหารบุกไปยังสำนักพิมพ์อย่างที่เป็นข่าว
เมื่อถามว่า สื่อยังเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของนายจารุพงศ์ และนายจักรภพ ได้อยู่ใช่หรือไม่ พ.อ.วินธัย ตอบว่า ต้องอยู่ในดุลพินิจของสื่อ ไม่ได้มีมาตรการบังคับ หรือปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรรู้ นอกจากว่าเป็นข่าวจินตนาจากการคาดเดา สร้างกระแสข่าวลือเพื่อหวังแสวงประโยชน์อันมิชอบผ่านสื่อ อาจต้องขอความร่วมมือให้พิจารณาในการวางน้ำหนักพื้นที่ข่าวให้เหมาะสม
**ส.นักข่าวฯยื่นจดหมายเปิดผนึก"อดุลย์"

วันเดียวกัน (26มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า วันนี้ (26มิ.ย.) มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม ตามวาระปกติ แต่ฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ได้เสนอกรณีที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ตั้งคณะทำงาน 5 ฝ่าย เพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เป็นวาระด่วน ซึ่งภายในที่ประชุมได้มีการหารือกันกว้างขวาง ก่อนจะมีมติที่ประชุม ให้ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก แก่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ เพื่อชี้แจง เรื่องหลักสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เนื่องจาก ตามหลักการสื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อข่าวที่นำเสนอเองอยู่แล้ว รวมถึงยังมีกฏหมายควบคุมดูแลอย่างชัดเจน ส่วนกรณีที่เมื่อวันที่ 25มิ.ย.มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เบื้องต้นสมาคมมีการประสานงานร่วมกับคณะทำงานของคสช.แล้วทราบว่าทางคสช.เองก็รู้สึกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคาดว่าการกระทำดังกล่าวอาจเกิดจาความเข้าใจที่ไม่ชัดเจน เนื่องจาก คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะไม่มีนโยบายคุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน
กำลังโหลดความคิดเห็น