xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิกิริยาโต้ตอบจาก“อียู” โทษที่ “คสช.”ไม่พูดถึง ความเลวรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ในขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. กำลังเพลิดเพลินกับการใช้“อำนาจรัฏฐาธิปัตย์”ไปกับการจัดระเบียบสังคม
ไม่ว่าจะเป็น การจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้ รถแท๊กซี่ บ่อนการพนัน การค้าไม้เถื่อน แรงงานต่างด้าว ไล่จับคนชูสามนิ้ว โชว์จับอาวุธสงคราม แต่ไม่เคยสาวถึงตัวผู้บงการไปจนถึงการออกหมายจับพวกหมิ่นสถาบันฯ
**ดูเหมือนว่า จะเรียกกระแสนิยมจากคนในประเทศได้ไม่น้อย
โดยลืมนึกไปว่า สาเหตุที่ คสช. เข้ามาทำรัฐประหาร คือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังจะบานปลาย จนอาจกลายเป็นสงครามกลางเมือง แต่น่าเสียดายที่ 1 เดือนของคสช. กลับไม่ให้ความสนใจให้ความจริงแก่สังคม
จุดผิดพลาดยิ่งใหญ่ที่สุดของ คสช. คือการไม่พูดถึงความเลวร้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และยังปิดปากสื่อทางเลือกที่พูดความจริง ไม่ให้มีพื้นที่ในการเสนอข้อมูลบนเงื่อนไขของความปรองดองอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน คสช.ก็สนุกสนานกับการสร้างผลงานที่มีผลในเชิงภาพลักษณ์ การใช้อำนาจที่เด็ดขาดของ คสช. จนลืมคิดไปว่า “อำนาจที่มาพร้อมกระบอกปืนและกฎหมายพิเศษนั้น ตามมาด้วยการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนเสมอ”
จึงไม่น่าแปลกใจที่ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป หรือ อียู ออกแถลงการณ์จากประเทศลักเซมเบิร์ก ประณามรัฐประหารในไทย พร้อมกับออกมาตรการลงโทษด้วยการระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือและหุ้นส่วนระหว่างอียูกับไทย รวมทั้งระงับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีจากประเทศอียูด้วย
มีหลายคนพยายามจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศที่ประสบความสำเร็จของนักโทษหนีคดีทักษิณ ชินวัตร แต่หากพิจารณาถึงบทบาทของอียู เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยมาโดยตลอด จะเห็นว่าการมองเช่นนั้นอาจเป็นการวิเคราะห์ที่ถูก แต่อาจจะละเลยความจริงบางด้าน จนอาจทำให้การกำหนดนโยบายของชาติ ผิดทางในที่สุด
**ที่ผ่านมานักโทษหนีคดีทักษิณ ได้ใช้เงินจำนวนไม่น้อยในการว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์เพื่อบิดเบือนข้อมูล ยกตัวเองเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยที่ถูกโค่นล้มโดยเผด็จการทหาร ซึ่งได้ผลอย่างยิ่งต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
**แต่ไม่ใช่สำหรับอียู
โดยสามารถมองย้อนดูได้ จากเหตุการณ์หลังการรัฐประหารปี 49 อียูไม่ได้ถึงขั้นคว่ำบาตรประเทศไทย แต่ยังเปิดโอกาสให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ คมช.ใช้เวลา 11 วันหลังยึดอำนาจ แต่งตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศ ประสานงานกับอียูได้ แต่ชะลอการลงนามความร่วมมือจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ในขณะนั้น อียู ระบุว่า ไม่ประสงค์จะเข้าไปก้าวก่ายในแนวทางที่ประชาชนชาวไทยต้องการที่จะปกครองตนเอง แต่ต้องเป็นความต้องการของประชาชนชาวไทยโดยส่วนรวม ไม่ใช่กลุ่มคนไทยบางกลุ่ม เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองปี 52-53 แกนนำคนเสื้อแดงพยายามอย่างยิ่งที่จะดึง อียู เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย แต่อียู ก็ยังคงรักษาระยะห่างไม่เข้ามาก้าวก่ายการแก้ปัญหาภายในประเทศไทย นอกจากการออกแถลงการณ์เตือนให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทน อดกลั้น โดยยึดหลักกฎหมาย
จะเห็นได้ว่า กว่าที่ อียู จะออกแถลงการณ์ประนามการรัฐประหารในครั้งนี้นั้น ใช้เวลาถึง 1 เดือน ซึ่งเป็นห้วงเวลามากพอที่จะบอกได้ถึงทิศทางการยึดกุมอำนาจของ คสช. ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ ประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีโรดแมป 3 ระยะ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนมากพอว่า
**ทหารจะไม่สืบทอดอำนาจ
เพราะท่วงท่าของ คสช. ชัดเจนว่า ไม่ได้แค่เข้ามาควบคุมการบริหารประเทศเพื่อให้มีรัฐบาลคนกลาง แต่กลับวางบทบาทเป็นรัฐบาลเองมาตั้งแต่ต้น แตกต่างจากการทำรัฐประหารในยุค คมช. ที่มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างรวดเร็ว มีธรรมนูญการปกครองประเทศ และกำหนดแผนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อันเป็นกติการสูงสุดภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ในขณะที่ คสช. กลับไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องนี้ นอกจากกรอบกว้างๆ พร้อมคำสำทับของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะอยู่ในอำนาจยาวนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏภาพการใช้อำนาจผ่านประกาศ คสช. ฉบับแล้วฉบับเล่า อย่างเต็มที่ ทั้งการปิดสื่อ ให้ศาลทหารพิจารณาคดีการกวาดล้างแรงงานต่างด้าว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งสิ้น
**โดย คสช.ไม่มีทีท่าที่จะยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก ทั้งๆที่ภาพรวมถือว่า ประเทศอยู่ในความสงบระดับที่ควรจะใช้กฎหมายปกติหรือมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์จากการใช้กฎหมายพิเศษ ลงได้แล้ว
แตกต่างจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ประกาศอยู่ในอำนาจไม่เกินสองสัปดาห์ จากนั้นเพียงแค่ 11 วัน ก็มีการจัดตั้งรัฐบาล จากนั้นในวันที่ 28 พ.ย.49 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ก็ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกใน 41 จังหวัด รวมกทม. คงไว้เฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่นิ่งเท่านั้น
นอกจากนี้ คมช.ในปี 2549 ก็ไม่ได้สาละวนอยู่กับการหาคะแนนเสียงกับประชาชน เหมือนที่คสช. กำลังทำอยู่ในขณะนี้ โดย คมช.ใช้เวลาสองเดือนออกสมุดปกขาว ชี้แจงถึงสาเหตุของการทำรัฐประหาร และความเลวร้ายของรัฐบาลทักษิณ แต่ คสช. ซึ่งนอกจากไม่พูดถึงความเลวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้วยังปิดปากคนอื่นห้ามพูดด้วย กลับเตรียมที่จะแถลงผลงานครบรอบ 1 เดือน ของการทำรัฐประหารแทน
ถ้า คสช. ยังไม่ทบทวนตัวเอง เพื่อวางบทบาทให้ถูกที่ถูกทาง แต่ยังใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แบบเหวี่ยงแห ไม่มีความชัดเจนว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อใด โดยยังเดินหน้าตามความปรารถนาเดิม คือ ถืออำนาจไว้ใช้เอง ด้วยการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สภาที่ตัวเองตั้ง เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ จากนั้นนายกฯ ตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อได้ว่าจะเป็น ครม.นายพลได้ไม่ยากนัก เพราะบรรดา ผบ.เหล่าทัพ ที่ตบเท้าเกษียณพร้อมๆ กัน ย่อมมีตำแหน่งแห่งหนอยู่ในครม.อย่างแน่นอน โดยมีการซ้อมบริหารงานในแต่ละด้านกันมาแล้วตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ก็จะยิ่งทำให้ไทยถูกกดดันจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้น
อย่าลืมว่า แม้คนไทยจะยอมรับการรัฐประหารโดย คสช. เพราะเห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่น และมีคนจำนวนไม่น้อย พอใจต่อการปฏิบัติของคสช. แต่ไม่ได้หมายความว่า ความนิยมเหล่านี้จะอยู่ยงคงกะพัน และ คสช. ถือว่าได้รับความนิยมในจุดที่สูงสุดแล้ว ต่อจากนี้จะมีแต่ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆไม่เชื่อให้ดูบทเรียนจาก รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีประชาชนสนับสนุนกว่า 90% ในช่วงแรก
**สุดท้ายก็ปิดฉากลงด้วยเสียงก่นด่า ว่าไปไม่สุด
**แต่ คสช.อาจปิดฉากด้วยคำสาปแช่งที่รุนแรงกว่า หากมีการสืบทอดอำนาจ และใช้อำนาจนั้นแก้ปัญหาความขัดแย้งประเทศไปในทางที่ไม่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น