xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิกิริยาโต้ตอบจาก “อียู” โทษที่ “คสช.” ไม่พูดถึงความเลวรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รายงานการเมือง

ในขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช. กำลังเพลิดเพลินกับการใช้ “อำนาจรัฏฐาธิปัตย์” ไปกับการจัดระเบียบสังคม

ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้ รถแท็กซี่ บ่อนการพนันการค้าไม้เถื่อน แรงงานต่างด้าว ไล่จับคนชูสามนิ้วโชว์จับอาวุธสงครามแต่ไม่เคยสาวถึงตัวผู้บงการ ไปจนถึงการออกหมายจับพวกหมิ่นสถาบัน

ดูเหมือนว่าจะเรียกกระแสนิยมจากคนในประเทศได้ไม่น้อย

โดยลืมนึกไปว่าสาเหตุที่ คสช.เข้ามาทำรัฐประหาร คือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังจะบานปลายจนอาจกลายเป็นสงครามกลางเมือง แต่น่าเสียดายที่ 1 เดือนของ คสช. กลับไม่ให้ความสนใจให้ความจริงแก่สังคม

จุดผิดพลาดยิ่งใหญ่ที่สุดของ คสช.คือ การไม่พูดถึงความเลวร้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และยังปิดปากสื่อทางเลือกที่พูดความจริงไม่ให้มีพื้นที่ในการเสนอข้อมูลบนเงื่อนไขของความปรองดองอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน คสช.ก็สนุกสนานกับการสร้างผลงานที่มีผลในเชิงภาพลักษณ์การใช้อำนาจที่เด็ดขาดของ คสช.จนลืมคิดไปว่า “อำนาจที่มาพร้อมกระบอกปืนและกฎหมายพิเศษนั้นตามมาด้วยการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนเสมอ”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป หรืออียู ออกแถลงการณ์จากประเทศลักเซมเบิร์ก ประณามรัฐประหารในไทย พร้อมกับออกมาตรการลงโทษด้วยการระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือและหุ้นส่วนระหว่างอียูกับไทย รวมทั้งระงับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีจากประเทศอียูด้วย

มีหลายคนพยายามจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศที่ประสบความสำเร็จของนักโทษหนีคดีทักษิณ แต่หากพิจารณาถึงบทบาทของอียูเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยมาโดยตลอดจะเห็นว่า การมองเช่นนั้นอาจเป็นการวิเคราะห์ที่ถูก แต่อาจจะละเลยความจริงบางด้านจนอาจทำให้การกำหนดนโยบายของชาติผิดทางในที่สุด

ที่ผ่านมานักโทษหนีคดีทักษิณได้ใช้เงินจำนวนไม่น้อยในการว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์เพื่อบิดเบือนข้อมูลยกตัวเองเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยที่ถูกโค่นล้มโดยเผด็จการทหาร ซึ่งได้ผลอย่างยิ่งต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

แต่ไม่ใช่สำหรับอียู

โดยสามารถมองย้อนดูได้จากเหตุการณ์หลังการรัฐประหารปี 49 อียูไม่ได้ถึงขั้นคว่ำบาตรประเทศไทยแต่ยังเปิดโอกาสให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ที่ คมช.ใช้เวลา 11 วันหลังยึดอำนาจแต่งตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศ ประสานงานกับอียูได้แต่ชะลอการลงนามความร่วมมือจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ในขณะนั้น อียูระบุว่าไม่ประสงค์จะเข้าไปก้าวก่ายในแนวทางที่ประชาชนชาวไทยต้องการที่จะปกครองตนเองแต่ต้องเป็นความต้องการของประชาชนชาวไทยโดยส่วนรวม ไม่ใช่กลุ่มคนไทยบางกลุ่ม เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองปี 52-53 แกนนำคนเสื้อแดงพยายามอย่างยิ่งที่จะดึงอียูเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย แต่อียูก็ยังคงรักษาระยะห่างไม่เข้ามาก้าวก่ายการแก้ปัญหาภายในประเทศไทย นอกจากการออกแถลงการณ์เตือนให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นโดยยึดหลักกฎหมาย

จะเห็นได้ว่า กว่าที่อียูจะออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารในครั้งนี้นั้นใช้เวลาถึง 1 เดือน เป็นห้วงเวลามากพอที่จะบอกได้ถึงทิศทางการยึดกุมอำนาจของ คสช.ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ปประชาธิปไตยจะเห็นได้ว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีโรดแมป 3 ระยะแต่ก็ไม่มีความชัดเจนมากพอว่า

ทหารจะไม่สืบทอดอำนาจ

เพราะท่วงท่าของ คสช.ชัดเจนว่าไม่ได้แค่เข้ามาควบคุมการบริหารประเทศเพื่อให้มีรัฐบาลคนกลางแต่กลับวางบทบาทเป็นรัฐบาลเองมาตั้งแต่ต้นแตกต่างจากการทำรัฐประหารในยุค คมช.ที่มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างรวดเร็วมีธรรมนูญการปกครองประเทศและกำหนดแผนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อันเป็นกติการสูงสุดภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ในขณะที่ คสช.กลับไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องนี้ นอกจากกรอบกว้างๆ พร้อมคำสำทับของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะอยู่ในอำนาจยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏภาพการใช้อำนาจผ่านประกาศ คสช.ฉบับแล้วฉบับเล่าอย่างเต็มที่ ทั้งการปิดสื่อ ให้ศาลทหารพิจารณาคดีการกวาดล้างแรงงานต่างด้าว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งสิ้น

โดย คสช.ไม่มีทีท่าที่จะยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก ทั้งๆ ที่ภาพรวมถือว่าประเทศอยู่ในความสงบระดับที่ควรจะใช้กฎหมายปกติหรือมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์จากการใช้กฎหมายพิเศษลงได้แล้ว

แตกต่างจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลินประกาศอยู่ในอำนาจไม่เกิน 2 สัปดาห์ จากนั้นเพียงแค่ 11 วันก็มีการจัดตั้งรัฐบาล จากนั้นในวันที่ 28 พ.ย. 49 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ก็ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกใน 41 จังหวัด รวม กทม.คงไว้เฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่นิ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ คมช.ในปี 2549 ก็ไม่ได้สาละวนอยู่กับการหาคะแนนเสียงกับประชาชนเหมือนที่ คสช.กำลังทำอยู่ในขณะนี้ โดย คมช.ใช้เวลาสองเดือนออกสมุดปกขาวชี้แจงถึงสาเหตุของการทำรัฐประหารและความเลวร้ายของรัฐบาลทักษิณ แต่ คสช.ซึ่งนอกจากไม่พูดถึงความเลวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้วยังปิดปากคนอื่นห้ามพูดด้วยกลับเตรียมที่จะแถลงผลงานครบรอบ 1 เดือนของการทำรัฐประหารแทน

ถ้า คสช.ยังไม่ทบทวนตัวเองเพื่อวางบทบาทให้ถูกที่ถูกทางแต่ยังใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์แบบเหวี่ยงแหไม่มีความชัดเจนว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อใดโดยยังเดินหน้าตามความปรารถนาเดิม คือ ถืออำนาจไว้ใช้เองด้วยการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สภาที่ตัวเองตั้ง เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกฯ จากนั้นนายกตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อได้ว่า จะเป็น ครม.นายพลได้ไม่ยากนัก เพราะบรรดา ผบ.เหล่าทัพที่ตบเท้าเกษียณพร้อมๆ กันย่อมมีตำแหน่งแห่งหนอยู่ใน ครม.อย่างแน่นอน โดยมีการซ้อมบริหารงานในแต่ละด้านกันมาแล้วตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาก็จะยิ่งทำให้ไทยถูกกดดันจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้น

อย่าลืมว่า แม้คนไทยจะยอมรับการรัฐประหารโดย คสช.เพราะเห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่น และมีคนจำนวนไม่น้อยพอใจต่อการปฏิบัติของ คสช.แต่ไม่ได้หมายความว่าความนิยมเหล่านี้จะอยู่ยงคงกะพัน และ คสช.ถือว่าได้รับความนิยมในจุดที่สูงสุดแล้ว ต่อจากนี้จะมีแต่ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ไม่เชื่อให้ดูบทเรียนจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีประชาชนสนับสนุนกว่า 90% ในช่วงแรก

สุดท้ายก็ปิดฉากลงด้วยเสียงก่นด่าว่าไปไม่สุด

แต่ คสช.อาจปิดฉากด้วยคำสาปแช่งที่รุนแรงกว่าหากมีการสืบทอดอำนาจและใช้อำนาจนั้นแก้ปัญหาความขัดแย้งประเทศไปในทางที่ไม่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น