xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ค้านนักการเมืองนั่งสภาปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุถึงแนวทางการตั้งสภาปฏิรูป ที่จะมาจากตัวแทนฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือ รวมถึงเชิญตัวแทนพรรคการเมืองพูดคุยว่า เรื่องนี้จริงๆ แล้วตนคิดว่า หลักการของสภาปฏิรูป คนที่เข้าไปทำหน้าที่ไม่ควรจะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองในอนาคต เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น คงไม่พ้นคำครหา ว่าเข้าไปแก้กฎหมายและปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่ก็เข้าใจว่าต้องการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า แนวทางที่เหมาะสมที่สุด ต้องไม่ให้นักการเมืองเข้าไปนั่งในสภาปฏิรูปด้วยตัวเอง แต่สามารถให้ความเห็นต่อประเด็นที่สนใจต่างๆ ได้ และเราก็ยินดีให้ความร่วมมือ หากมีการตั้งสภาปฏิรูป และหากมีการเชิญ หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ไปพูดคุยหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป ก็ยินดีและพร้อมเข้าไปให้ข้อมูลในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ที่ผ่านมาพรรคก็ได้เสนอไปบ้างแล้ว เช่น พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ กฎหมายที่ดิน เพื่อลดความเลื่อมล้ำ รวมถึงการแก้ปัญหาเกษตรกร
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้าปฏิรูปใน 11 ข้อ และอาจจะมีการเชิญพรรคการเมืองเข้าไปรับฟังความคิดเห็น ว่า ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ ไม่มีการหารือกันในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่พรรคมีกรอบการปฏิรูปอยู่แล้ว และพรรคได้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูป ทั้งการปฏิรูปพรรค และการปฏิรูปประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศที่เป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้ อย่างไรก็ตามหาก คสช. มีการเรียกพรรคการเมืองเพื่อไปรับฟังข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ คงจะเสนอเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากกรอบปฏิรูปพิมพ์เขียวที่พรรคเคยเดินมาตลอด และคาดว่าหากมีการหารือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นผู้ไปหารือด้วยตนเอง
**ภท.หนุนนักการเมืองเข้าร่วม
นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีการรวบรวมความเห็นจากหลายฝ่าย และจะดำเนินการโดยสภาปฏิรูปเพื่อจะนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ว่า พรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้รับการประสานเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่พร้อมจะให้การสนับสนุนแนวทางปฏิรูปประเทศของหัวหน้า คสช. โดยเฉพาะควรนำนักการเมือง และพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น สนช. หรือ สภาปฏิรูป เพราะตนมอง ว่าเป็นประโยชน์มากกว่ามีโทษ และที่ผ่านมานักการเมืองก็มีบทบาทคู่กับการเมืองไทยมาตลอด จึงรับทราบปัญญาข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนทุก ๆ มิติ
อีกทั้งนักการเมืองส่วนใหญ่ก็เป็นคนดีมากกว่าคนไม่ดีด้วย จึงอยากขอความเป็นธรรมให้แยกแยะเป็นรายคนไป ส่วนโมเดลสัดส่วนของนักการเมืองจะเป็นเช่นใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจความเหมาะสมของคณะ คสช.เห็นชอบ อย่างไรก็ตามส่วนตัวที่พูดไม่ได้หวังจะเข้าไปร่วมคณะปฏิรูป แต่ที่แสดงความคิดเห็นเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์
รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางปฏิรูปประเทศอย่างเร่งด่วน คือเรื่องการศึกษา เรื่องแก้ปัญหาปากท้องและความเท่าเทียมของประชาชน จัดหาที่ดินทำกินให้ชาวบ้านอย่างทั่วถึง เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีที่ดินทำมาหากิน รวมทั้งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคเพื่อไม่ให้คนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ “ส่วนการปฏิรูปทางด้านการเมืองนั้น เนื่องจากประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ดังนั้นการตัดใจใด ๆ ควรยึดโยงกับประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเป็นสำคัญและนานาชาติยอมรับด้วย”

**ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ ถึงการการหารือกับ พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ หัวหน้าคณะทำงานเตรียมการปฎิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ กระทรวงกลาโหม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้รับเชิญให้ไปพูดคุยเพื่อเสนอแนวทาง ที่กระทรวงกลาโหมในพุธที่ 18 มิ.ย. โดยตัวแทนพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย ประกอบด้วย พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค, นายชูศักดิ์ ศิรินิล และนายชวลิต วิทยสุทธิ์
พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอและมอบเอกสารของคณะทำงานเพื่อการปฎิรูปประเทศของพรรค ที่มีนายโภคิน พลกุลเป็นประธานและพรรคได้เคยจัดเตรียมไว้ ขณะที่ตนได้เสนอข้อคิดต่อ คสช.เพิ่มเติมว่าหลังจากจัดการปัญหาต่างๆ เสร็จขอให้เร่งคืนประชาธิปไตยกลับสู่สังคมไทยโดยเร็ว และต้องสร้างกรอบคิดให้คู่ขัดแย้งยอมรับ สังคมประชาธิปไตยที่เคารพในความเห็นที่แตกต่างและยอมรับในความขัดแย้งและเชื่อมั่นว่าอยู่ร่วมกันได้
ขณะที่ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ปัญหาคลี่คลายลงได้คือการอำนวยให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายและการขจัดความรู้สึกเรื่องสองมาตรฐานให้ลดลง ทำให้ทุกฝ่ายมีที่ยืน ประนีประนอมและอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพในความแตกต่างของกันและกัน และต้องแสวงหาทุกทางออกโดยสันติวิธี ตนเองอยากเห็นประเทศมีทางออก เป็นนิติรัฐ มีนิติธรรม ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเท่าเทียมกัน เชื่อว่าปัญหาต่างๆจะคลี่คลาย
ส่วนแนวทางด้านเศรษฐกิจ หลักคิด "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส". ให้คนไทยทุกคนยังเป็นหลักคิดที่นำไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้คนในสังคมไทย ยังเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ และต้องมุ่งสร้างศักยภาพประเทศและแก้ปัญหาพร้อมสร้างโอกาสให้คนจนและคนด้อยโอกาสซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไปพร้อมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น