xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ค้านนักการเมืองนั่งเก้าอี้ในสภาปฏิรูป ชี้มีส่วนได้เสียในอนาคต แนะหยิบค้ามนุษย์วาระชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษก ปชป.ค้านนักการเมืองนั่งในสภาปฏิรูป ชี้ไม่ควรจะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองในอนาคต แต่สามารถเสนอความเห็นได้ แนะทำเรื่องค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เชื่อไทยถูกลดอันดับเพราะมีข่าวด้านลบ

วันนี้ (22 มิ.ย.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุถึงแนวทางการตั้งสภาปฏิรูปที่จะมาจากตัวแทนฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือ รวมถึงเชิญตัวแทนพรรคการเมืองพูดคุยว่า เรื่องนี้จริงๆ แล้วตนคิดว่าหลักการของสภาปฏิรูป คนที่เข้าไปทำหน้าที่ไม่ควรจะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองในอนาคต เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคงไม่พ้นคำครหาว่าเข้าไปแก้กฎหมายและปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่ก็เข้าใจว่าต้องการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ต้องไม่ให้นักการเมืองเข้าไปนั่งในสภาปฏิรูปด้วยตัวเอง แต่สามารถให้ความเห็นต่อประเด็นที่สนใจต่างๆ ได้ และเราก็ยินดีให้ความร่วมมือ หากมีการตั้งสภาปฏิรูป และหากมีการเชิญหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคไปพูดคุยหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปก็ยินดีและพร้อมเข้าไปให้ข้อมูลในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพรรคก็ได้เสนอไปบ้างแล้ว เช่น พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ กฎหมายที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการแก้ปัญหาเกษตรกร

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้าปฏิรูปใน 11 ข้อ และอาจจะมีการเชิญพรรคการเมืองเข้าไปรับฟังความคิดเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ไม่มีการหารือกันในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่พรรคมีกรอบการปฏิรูปอยู่แล้ว และพรรคได้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูป ทั้งการปฏิรูปพรรคและการปฏิรูปประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศที่เป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม หาก คสช.มีการเรียกพรรคการเมืองเพื่อไปรับฟังข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ คงจะเสนอเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากกรอบปฏิรูปพิมพ์เขียวที่พรรคเคยเดินมาตลอด และคาดว่าหากมีการหารือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นผู้ไปหารือด้วยตนเอง

นายชวนนท์ ในฐานะอดีตเลขาธิการ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริการายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทีไอพี) ประจำปี 2014 พบว่าอันดับของไทยโดนปรับลดมาอยู่ในอันดับเทียร์ 3 อันดับต่ำที่สุดว่า ในฐานะที่ตนเคยทำงานกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลมีความเอาจริงเอาจังในเรื่องการปราบปรามปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาสำคัญ คือ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำกับประเทศเพื่อนบ้านจึงทำให้มีการอพยพเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนมาก และยังมีการใช้วัตถุดิบรวมถึงผลผลิตต้นน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน บางครั้งมีปัญหาเรื่องของกฎหมาย และการใช้แรงงานทาส เรื่องดังกล่าวตนเชื่อว่าประเทศไทยไม่มีเจตนาจะไปกระทำการให้เกิดความสูญเสียหรือทำอะไรที่ผิดหลักการ แต่เรื่องของการบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรม และปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะมีอยู่บ้าง เชื่อว่าหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตั้งแต่ประเทศที่มาของแรงงาน การควบคุมวงจรการผลิตอย่างครบถ้วน รวมทั้งปราบปรามกลุ่มที่หาผลประโยชน์กับการใช้แรงงานอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายทำเรื่องดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา ก่อนที่ประเทศไทยจะเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

“การที่เราอยู่อันดับเทียร์ 2 แล้วถูกปรับลงมาอยู่ที่เทียร์ 3 เนื่องจากข่าวที่ออกไปดูเหมือนไทยไม่เอาจริงเอาจังกับการค้ามนุษย์ จึงคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจและเอาจริงเอาจังกับการเผยแพร่ข่าวสาร และน่าจะมีการเชิญหน่วยงานด้านแรงงาน และสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริง โดยไม่ยึดถือข่าวด้านลบอย่างเดียวก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง” นายชวนนท์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น