xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯรฟม. กดดัน”รัชนี"ออก ปธ.กฟผ.ไขก๊อก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดวิสาหกิจลาออกเพิ่มอีก 3 คนล่าสุดพนักงานรฟม.แต่งดำ ไล่"รัชนี" จนยอมลาออกจากประธานบอร์ด เปิดทางคสช.ตั้งบอร์ดชุดใหม่ ระบุทำงาน 3 ปี ไม่แก้ปัญหาในองค์กร ผลักดันโครงการไม่คืบ เอาแต่ดูงานต่างประเทศแถมขึ้นเบี้ยประชุมบอร์ด แต่ไม่ยอมขึ้นเงินเดือนพนักงาน “อัญชลี ชวนิชย์” ยื่นใบลาออกจากประธานบอร์ดกฟผ.แล้ว เปิดทางคสช.ปฏิรูปพลังงานทั้ง ขณะที่ อสมท จี้บอร์ดลาออกทั้งหมด พร้อมเสนอ คสช. ดัน อสมท เป็นโมเดลต้นแบบปฎิรูปและขจัดทุจริต

วานนี้ (19 มิ.ย.) เวลา 13.00 น.สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รวมกันบริเวณชั้น 9 สำนักงานใหญ่ เพื่อกดดันให้นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ลาออกจากตำแหน่ง โดยบอร์ดรฟม.ได้มีวาระนัดประชุม และนางสาวรัชนีได้แจ้งต่อที่ประชุมบอร์ด ขอลาออกจากประธานบอร์ดรฟม. และออกจากรฟม.ไปทันที ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของพนักงานในขณะที่บอร์ดรฟม.คนอื่นๆ ได้ทยอยออกจากห้องประชุม โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒนกุล ประธานบอร์ดรฟม.กล่าวว่า ได้ตรวจสอบงานต่างๆ แล้วทุกอย่างเรียบร้อยดี จึงแจ้งต่อประชุม เรื่องการลาออกจากประธานบอร์ด โดยงานที่อยากให้ช่วยผลักดันให้สำเร็จคือ การทดสอบเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ให้แล้วเสร็จในปี 2558 ซึ่งได้เจรจากับผู้ผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วว่าพน้อมที่จะเร่งรัดการผลิตรถไฟฟ้าให้เพื่อให้ทดสอบและเปิดเดินรถในปลายปี 2558

นายยุทธศักดิ์ ชื่นใจ ประธานสหภาพฯรฟม. กล่าวว่า พนักงานได้นัดแต่งชุดดำเพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้นางสาวรัชนีลาออกจากประธานบอร์ด ซึ่งตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการปรับปรุงโครงสร้างบอร์ดรัฐวิสาหดิจ ซึ่งในส่วนของสหภาพรฟม.เห็นด้วย เนื่องจากตลอดเวลา3 ปีที่ผ่านมา การทำงานของประธานบอร์ด ไม่สามารถผลักดันโครงการ และแก้ปัญหางานให้เป็นเป็นรูปธรรมได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะปัญหาของพนักงานที่ไม่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือน และสวัสดิการมานานแล้ว พนักงานรฟม.ได้รับเงินเดือนต่ำมาก ที่ผ่านมา 2 ปี เรื่องไม่คืบหน้าแต่อย่างใด ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้คสช.บอร์ดชุดใหม่ และไม่มีเหตุผลที่ประธานบอร์ดจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป รวมถึงต้องการเรียกร้องให้บอร์ดที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิลาออกด้วย

โดยบรรยากาศในการชุมนุมของพนักงานนั้น ได้แสดงให้เห็นว่าไม่ พอใจการทำงานของนางสาวรัชนีอย่างมาก โดยระบุว่า มักเดินทางไปดูงานต่างประเทศหลายครั้ง สิ้นเปลืองงบประมาณ มีการปรับขึ้นเบี้ยประชุมบอร์ด แต่ไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน โดยอ้างว่าต้องเสนอขออนุมัติกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.รฟม. ซึ่ง รฟม.ได้แจ้งไปยังกระทรวงการคลังแล้วแต่คลังไม่พิจารณาจึงถอนเรื่องกลับมา ทำให้การปรับเงินเดือนพนักงานล่าช้า

**“อัญชลี”ไขก๊อกลาออกประธานบอร์ดกฟผ.

นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมาตนได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(บอร์ดกฟผ.) แล้วเพื่อเปิดทางให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทำการปฏิรูปพลังงานทั้งระบบตามนโยบาย โดยยืนยันว่าไม่ได้ถูกกดดันแต่อย่างใด

ทั้งนี้นางอัญชลี ได้รับการแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 โดยเข้ามาเป็นประธานบอร์ดแทนนายพรชัย รุจิประภา ซึ่งได้ลาออกไปเพื่อเปิดทางการเมืองในขณะนั้นคือพรรคเพื่อไทยที่มีนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรมว.พลังงานเข้ามาแต่งตั้งแทน อย่างไรก็ตามกรรมการอื่นๆ ขณะนี้ได้ยื่นทยอยลาออกแล้วเช่นกัน

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้ติดตามสถานการณ์การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติแหล่งพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA)ระหว่าง 13 มิ.ย.-10ก.ค.นั้นล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีก)ของภาคใต้เท่ากับ 2,326.83 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 19.27 น. นับเป็นพีกมากที่สุดตั้งแต่JDAปิดซ่อมซึ่งโรงไฟฟ้าทุกโรงสามารถเดินเครื่องได้โดยไม่มีเหตุขัดข้องซึ่งการใช้เริ่มถึงจุดที่น่าเป็นห่วงจึงต้องขอความร่วมมือประชาชนภาคใต้ร่วมมือกันประหยัด

“ที่ผ่านมากฟผ.บริหารโดยสั่งซื้อไฟฟ้าจากมาเลซียเข้าเสริมระบบตามแผน 150 เมกะวัตต์ การใช้ไฟฟ้าที่เริ่มเกินจุดที่น่าเป็นห่วงที่กำลังผลิตไฟฟ้าและการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงใต้ที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 2,300 เมกะวัตต์ คาดว่าการใช้ไฟฟ้าเกิดจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและการจัดกิจกรรมตามโรงแรมต่างๆในช่วงค่ำเพิ่มมากขึ้น. ซึ่งต้องขอความร่วมมือประชาชนในภาคใต้ลดใช้ไฟฟ้าช่วง18.30-22.30 น. เพราะแม้การจ่ายไฟฟ้าจะเป็นปกติเมื่อเกิน 2,300. เมกะวัตต์แต่ผลกระทบจะมีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าเพราะต้องผลิตจากดีเซล. 9บาทต่อหน่วยและซื้อจากมาเลเซีย 8.50 บาท/หน่วย

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า นปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้า 164,341 กิกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟสูงสุด 44% เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มอุตสาหกรรม ทาง สนพ. จึงได้ดำเนินโครงการ “สาธิตระบบ Demand Response ในพื้นที่อุตสาหกรรม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเช่นกรณี JDA จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก

***ประธานบอร์ด อคส. ยื่นใบลาออกแล้ว

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ไพโรจน์ ปัญจประทีป เป็นประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด อคส. ต่อนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์แล้ว ส่วนกรรมการบอร์ดคนอื่นๆ ยังไม่มีการลาออกแต่อย่างใด

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ไพโรจน์ เข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด อคส. เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2555 ในช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเป็นคนใกล้ชิด พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เพื่อน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำงานเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลปี 2550-51

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (19 มิ.ย.) ได้มีการนัดประชุมบอร์ด อคส. แต่ต้องยกเลิกการประชุม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

**** ตั้งกก.สอบโกงจัดซื้ออุปกรณ์ดิจิตอล

วานนี้ (19 มิ.ย.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท และประชาคม MCOT ได้พบพนักงาน อสมท เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพนักงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ องค์กรในเรื่องที่ผ่านมา โดยมีมติดังนี้

1. เรียกร้องให้กรรมการ บมจ.อสมท ที่เหลืออยู่ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถพิจารณาตัดสินใจเรื่องการดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งระบบ และอุปกรณ์สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร
2. เสนอต่อ คสช. เพื่อพิจารณาให้ บมจ.อสมท เป็นหน่วยงานต้นแบบในการปฏิรูปองค์กรและขจัดปัญหาการทุจริตภายในองค์กร
3. สหภาพฯ จะเป็นผู้แทน บมจ.อสมท ในการยื่นหนังสือที่มีรายละเอียดตามข้อ 1. และ 2. ต่อ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฎิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 10.00 น. และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ต่อไป
4. เรียนเชิญ นางกมลาสิริ อิศรางกูร ณ อยุธยา รอง กก.ผอ.ใหญ่ และ รก. ในตำแหน่ง กก.ผอ.ใหญ่ แสดงวิสัยทัศน์และแนวทางในการบริหารองค์กรแก่พนักงาน

ทั้งนี้ในเวลา 14.00 น. ณ โถงชั้น 1 อาคารอำนวยการ 1 นางกมลาสิริ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้เดินทางมาพบพนักงานและชี้แจงโดยสรุปได้ว่า

1.จะดำเนินการปรับโครงสร้างตำแหน่งและเงินเดือน เพื่อให้พนักงานมีความก้าวหน้าในการทำงาน
2.จะเสริมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในองค์กรเพื่อทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. เรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริต ต่างๆ ในองค์กร โดยเฉพาะการดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งระบบและอุปกรณ์สำหรับการให้บริการ โครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล โดยจะดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบ และนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 10.00 น. ประธานสหภาพฯ อสมท พร้อมผู้แทนประชาคม MCOT จะเข้ายื่นหนังสือและสนับสนุนนโยบาย คสช. ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อ หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล

*****“กรณ์”แนะคสช.ใช้“Super Holding”

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Korn Chatikavanij” โดยให้ชื่อหัวข้อว่า “แก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ - ถึงเวลาของ Super Holding” มีข้อความตอนหนึ่งว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเป็นแหล่งผลประโยชน์สำคัญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ควรตั้งหลักในการแก้ปัญหาให้ดี เพราะที่ผ่านมา เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ จะมีการเปลี่ยนกรรมการรัฐวิสาหกิจเกือบทุกครั้ง จนสังคมมองว่า เป็นลักษณะ สมบัติผลัดกันชม จึงไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิม เพราะอีกสักพัก เราจะเห็นการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เข้าไป ซึ่งอาจจะเป็นคนเก่ง คนดี แต่ก็คงไม่หนีระบบเดิม คือ ตั้งคนใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในแต่ละยุค เราจึงไม่ควรทำแค่โยกย้าย แต่ต้องยกเครื่อง ด้วยการคัดสรรกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่ใครมีอำนาจ ก็เอาพวกของตนเข้ามาทำงานได้ และข้าราชการที่เข้าไปเป็นกรรมการ เหมาะสมที่จะยังรับเงิน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในฐานะกรรมการมากมาย และมีมูลค่ามากกว่าเงินเดือนข้าราชการหลายเท่า หรือไม่ ทุกรัฐวิสาหกิจ ได้ทำหน้าที่ตามวัตถุประ สงค์ ที่ควรหรือไม่ ควรเอาจริงกับบทบัญญัติใน (อดีต) ที่ห้ามรัฐทำธุรกิจแข่งกับเอกชน และควรทำในเรื่องที่เป็นสาธารณประโยชน์ ที่เอกชนไม่พร้อมทำเท่านั้น

"จึงอยากเสนอให้คสช. แก้ปัญหารัฐวิสาหกิจด้วยการควบรวมการดูแลและการกำหนดนโยบายไว้ที่องค์กรกลาง คือองค์กรที่เราเรียกกันที่กระทรวงการคลังว่า Super Holding วันนี้กระทรวงคลัง ถือหุ้นใหญ่ใน รัฐวิสาหกิจก็จริง แต่อำนาจที่แท้จริงจะอยู่นอกระบบ คืออยู่กับรัฐมนตรีกระทรวง ที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจตามประเพณี เช่น พรรคการเมืองอยากดูแลกระทรวงพลังงาน ก็เพราะจะได้ดูแลปตท. ดังนั้นเราควรตัดระบบแบ่งเค้ก รัฐวิสาหกิจออกไปด้วยการวางระบบ การกำกับดูแลที่โปร่งใสและตรวจส อบได้ ภายใต้องค์กรกลางที่ขอเรีย กว่า Super Holding ที่มีอำนาจแท้จริง ซึ่งแม้จะเป็นการรวมศูนย์ แต่ในความเป็นจริงทางการเมือง รัฐวิสาหกิจสำคัญ จะมีการดูแลโดย พรรคร่วมรัฐบาล หรือไม่ก็เป็นการแบ่งแบบของใครของมัน ไม่มีคนอื่นเข้าไปยุ่ง เหมือนเป็นขุมทรัพย์ของรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบเท่านั้น ทำให้ควบคุมยาก และเราจะแทบไม่เห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคเล็ก เพราะพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค ต้องพึ่งพาพรรคเล็กในการตั้งรัฐบาล เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีการตรว จสอบพฤติกรรมของพรรคเล็กที่มี ในการใช้อำนาจกับรัฐวิสาหกิจที่ตน กำกับดูแล

นายกรณ์ กล่าวว่า ประโยชน์ของ Super Holding คือ การกำหนดนโยบายที่สอดคล้อง มีความต่อเนื่องข้ามรัฐบาล หรือการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐานเดียวกันทุกรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้เห็นความรับผิดชอบที่ชัดเจน และโปร่งใสมากขึ้น นี่คือการแก้ปัญหาที่แท้จริง ส่วนรายละเอียดนั้น กระทรวงการคลัง มีพร้อมอยู่แล้ว และ คสช. สามารถถามจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพราะในสมัยที่ นายสมคิด เป็นรมว.คลัง เคยมีแนวคิดเดียวกันนี้ และมีประสบการณ์ ในการฝ่าด่านการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญนนี้ไม่ได้ ตอนนี้ไหนๆ ก็เผด็จการแล้ว ใช้อำนาจนี้ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องสำคัญ จะเป็นคุณประโยชน์ในระยะยาวต่อสังคม และเศรษฐกิจอย่างมาก และจะเป็นตัวยืนยันว่า คสช. ไม่สนใจที่จะแบ่งสมบัติ ให้ใครชม
กำลังโหลดความคิดเห็น