xs
xsm
sm
md
lg

แนะคสช.ใช้กม.พิเศษแก้ไฟใต้ หนุนฟื้นเจรจาลดความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ว่า ขณะนี้เครือข่ายความไม่สงบในภาคใต้ เสมือนเครือข่ายก่อความไม่สงบในหลายประเทศ รวมทั้งตะวันออกกลาง ที่มีความเข้มแข็งขึ้น และมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนขึ้น มีความร่วมมือจากภายใน และต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำในการแก้ไขปัญหาคือ การเปิดนโยบายเชิงรุก มากกว่าการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ซึ่งนโยบายเชิงรุกทางการเมืองในเรื่องการเจรจาก็ถือว่าเคยเริ่มทำมาบ้างแล้ว ฉะนั้นควรต่อยอดการเจรจาในรูปแบบที่อาจจะเปิดโอกาสในมีความร่วมมือกันมากขึ้น
ขณะเดียวกัน เห็นว่าในโอกาสนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีอำนาจในการใช้กฎหมายพิเศษมากขึ้น สามารถนำอำนาจตรงนี้ไปใช้ในพื้นที่ภาคใต้ได้ เช่น การดึงเอาผู้ต้องหาที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีอาญา ออกมาจากกระบวนการปกติ และเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง ที่เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่เดิมไม่สามารถทำได้ ซึ่งถือว่าโอกาสเปิด ส่วนการเจรจาก็ต้องต่อยอดเอา เอาทีมเก่า ทีมใหม่ มาผสมกันให้ดี
"ต้องนำทีมเจรจากลับมาบางส่วน มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเจรจาในรอบเดิมๆ อาจจะไม่ครอบคลุมถึงกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะขบวนการที่ปฏิบัติการในพื้นที่ แต่ทีมงานก่อนหน้านั้น ในช่วงที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาธิการ สมช. ในช่วงแรก ควรดึงกลับมา เข้าใจว่าขณะนี้ได้กลับเข้ามาบ้างแล้วบางส่วน อาจจะเชื่อมกับพื้นที่มากขึ้น แล้วหาทางเจรจารอบใหม่ โดยมีองค์ประกอบใหม่ และเก่ารวมกัน " นายปณิธาน กล่าว

ด้านนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีที่นายปณิธาน สนับสนุนให้ใช้นโยบายเชิงรุกใรการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ โดยเรื่องการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น ให้ใช้ทีมงานเก่าและใหม่ผสมผสานกันทำงาน ว่า เป็นเรื่องดีเพราะท่านมีประสบการณ์ มีความชำนาญจึงเห็นด้วย ส่วน สมช.จะเสนอให้มีการปรับบุคลากรใหม่ หรือเก่า เข้ามาช่วยในทีมเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบและ บูรณาการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้น เรื่องนี้ต้องลองเสนอทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก่อน แต่วันนี้ขอให้คสช.ได้ทำงาน เพราะที่ผ่านมา สมช.ได้เสนอนโยบายไป คสช.ก็ไม่ขัดข้อง เพียงแต่ข้อแม้ของคสช. คือ นโยบายนั้นๆต้องไม่กระทบชีวิตประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราหยุดกระบวนการเจรจาไป 6-7 เดือน เพราะปัญหาในประเทศ การเจรจากับกลุ่มก่อการนั้น ถ้าคุยแล้วเกิดผลดี ก็กระทำอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ สมช. ขอเวลานำสิ่งที่ได้ดำเนินการแล้วมาประเมินอย่างรอบคอบ ว่ามีจุดอ่อน จุดด้อยอย่างไร เพื่อเสนอ คสช.ว่าจะมีการเจรจาเกิดขึ้นด้วยวิธีการเเบบไหน อย่างไร เพื่อความสงบในพื้นที่อย่างแท้จริง ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น