“ปณิธาน” หนุน คสช.จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ระบุมีถึง 3 ล้านคนเศษ เชื่อมีศักยภาพในการดำเนินการให้สำเร็จ แนะชี้แจงต่างชาติให้เข้าใจ เชียร์ลุยปราบคอร์รัปชัน พร้อมรณรงค์ป้องกัน ส่วนการแก้ปัญหาภาคใต้ ควรใช้นโยบายเชิงรุก มุ่งเจรจาโดยดึงทีมเก่าผสมทีมใหม่ ขณะเดียวกันนำกฎหมายพิเศษมารับใช้ในการดับไฟใต้
นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศว่า เรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยมีมติ ครม.รักหลักการให้มีการจัดระเบียบตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาแล้ว และขณะนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ คสช.จะได้ดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อย เพราะปัจจุบันมีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคนเศษ โดยกลุ่มที่เข้ามานานแล้วประมาณ 200,000 คนนั้นไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ กลุ่มที่เฝ้าระวังเป็นแรงงานจากพม่า ลาว เวียดนามประมาณ 2 ล้านคน รวมทั้งกลุ่มโรฮิงญาซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีปัญหา เข้าใจว่าเริ่มมีการเปิดให้ทยอยลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อจะทะเบียนจัดระเบียบเข้าสู่ระบบปกติ แรงงานเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานด้วย และจะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติดึขึ้นในการดูแลแรงงาน
ดังนั้น ถือเป็นเรื่องปกติของการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แต่จำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารกับต่างชาติ ทั้งประเทศต้นทาง และนานาชาติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะที่ผ่านมายังมีความเข้าใจผิดและเกิดการตื่นตระหนกอยู่ ทั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จเพราะมีศักยภาพในการดำเนินการมากขึ้น เพราะมีสายบังคับบัญชาในเรื่องการดูแลพรมแดนและดูแลแรงงานชัดเจนขึ้น
“ผมเข้าใจว่า คสช.พยายามเร่งรัดกระตุ้นให้เอกอัครราชทูตชี้แจงทำความเข้าใจ และต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นการกวาดล้างกดดันประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการเอาเข้าระบบ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเข้าใจว่ามีอยู่ประมาณเกือบ 2 ล้านคน ต้องอาศัยความร่วมมือจากนายจ้าง ประเทศต้นทางในการระบุตัวตน ซึ่งกระบวนการค่อนข้างจะซับซ้อน แต่ผมว่าน่าจะพลิกวิกฤติตรงนี้ให้เป็นโอกาส เอาแรงงานที่กลับไปแล้วกลับเข้าระบบอย่างถูกกฎหมาย และใช้โอกาสนี้ชี้แจงต่อต่างประเทศด้วยว่าเรากำลังจัดระเบียบใหม่ ผมถือว่าถ้าทำได้จะเป็นโอกาสของประเทศไทย และทางทหารก็มีกำลังมาก สามารถจัดจุดตรวจ จุดลงทะเบียนได้”
นายปณิธานกล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวคือเรื่องนายหน้า หรือมีเรื่องความไม่เข้าใจในการกรอกเอกสาร ซึ่งเคยเป็นช่องโหว่ในอดีตที่ต้องแก้ไขด้วย
นายปณิธานยังกล่าวสนับสนุนนโยบายในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของ คสช. แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการป้องกัน เพราะพบในงานวิจัยว่าการป้องกันจะมีผลระยะยาวมากกว่าการปราบปราบที่เท่ากับเป็นเสมือนการตั้งรับ โดยควรเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างค่านิยม เพิ่มทัศนคติที่ไม่เห็นด้วยกับการคอร์รัปชัน เพิ่มแรงต้านทานในภาคประชาชนมากขึ้นก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ซึ่งการปราบปรามที่ผ่านมาอาจจะมีช่องว่าง โดยภาคเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณา ตามที่มีข้อเสนอให้มีกฎหมายที่ครอบคลุมถึงสามารถตรวจสอบภาคเอกชนที่สงสัยว่าจ่ายเงินสินบนด้วย ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าขณะนี้ความต้องการของประชาชนคือการจัดระเบียบการเมืองและแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งของข้าราชการและนักการเมือง
“ไปแก้ปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหาในแหล่งต้นตอของปัญหา รวมถึงค่านิยม ทัศนคติ การลงโทษจากสังคม และมาตรฐานแรงงาน มาตรฐานวิชาชีพที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ไม่เปิดโอกาสให้ไปทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องเหล่านี้ต้องทำควบคู่กันไป ไม่ใช่จะปราบปรามอย่างเดียวแล้วจะแก้ไขปัญหาได้”
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ว่า ขณะนี้เครือข่ายความไม่สงบในภาคใต้เสมือนเครือข่ายก่อความไม่สงบในหลายประเทศ รวมทั้งตะวันออกกลางที่มีความเข้มแข็งขึ้นและมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนขึ้น มีความร่วมมือจากภายในและต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำในการแก้ไขปัญหา คือ การเปิดนโยบายเชิงรุกมากกว่าการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ซึ่งนโยบายเชิงรุกทางการเมืองในเรื่องการเจรจาก็ถือว่าเคยเริ่มทำมาบ้างแล้ว ฉะนั้นควรต่อยอดการเจรจาในรูปแบบที่อาจจะเปิดโอกาสในมีความร่วมมือกันมากขึ้น ขณะเดียวกันเห็นว่าในโอกาสนี้ คสช.จะมีอำนาจในการใช้กฎหมายพิเศษมากขึ้น สามารถนำอำนาจตรงนี้ไปใช้ในพื้นที่ภาคใต้ได้ เช่น การดึงเอาผู้ต้องหาที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีอาญาออกมาจากกระบวนการปกติ และเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง ที่เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่เดิมไม่สามารถทำได้ ซึ่งถือว่าโอกาสเปิด ส่วนการเจรจาก็ต้องต่อยอดเอา เอาทีมเก่า ทีมใหม่มาผสมกันให้ดี
“ต้องนำทีมเจรจากลับมาบางส่วน มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเจรจาในรอบเดิมๆ อาจจะไม่ครอบคลุมถึงกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะขบวนการที่ปฏิบัติการในพื้นที่ แต่ทีมงานก่อนหน้านั้น ในช่วงที่นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาธิการ สมช.ในช่วงแรก ควรดึงกลับมา เข้าใจว่าขณะนี้ได้กลับเข้ามาบ้างแล้วบางส่วน อาจจะเชื่อมกับพื้นที่มากขึ้น แล้วหาทางเจรจารอบใหม่ โดยมีองค์ประกอบใหม่และเก่ารวมกัน”