xs
xsm
sm
md
lg

ตัดสินเสรีพิศุทธ์แพ้คดี ถมหินรุกล้ำแควน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 18 มิ.ย.) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคม, สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม รองปลัดกระทรวงคมนาคม, กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี, อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี, และ หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 3 สาขากาญจนบุรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-6 ตามลำดับ กรณีหน่วยงาน ผู้ถูกฟ้อง มีคำสั่งให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ที่ได้ถมหิน ดิน และทราย ลงในแม่น้ำแควน้อย รุกล้ำลำธารสาธารณประโยชน์ บริเวณรีสอร์ทภูไพรธารน้ำ หรือ ไรจิตตรี หน้าโฉนดที่ดินเลขที่ 7783 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี หลังพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้มีอำนาจในการพิจารณามีคำสั่งยกอุทธรณ์ เป็นเหตุให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง และผลการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุว่า การทิ้งหินกันน้ำกัดเซาะล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำแควน้อยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นพื้นที่ 1500 ตารางเมตร อยู่นอกแนวเขตที่ดินตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 7783 และต่อมาพื้นที่ส่วนดังกล่าวได้มีการปลูกต้นไม้ จัดพื้นที่เป็นสวน และทางเท้าปูด้วยหินแผ่นไปตามแนวแม่น้ำแควน้อย อันเป็นการกระทำไม่อาจอนุญาตให้กระทำได้ จึงถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 117 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2456
ส่วนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 มีหนังสืออนุญาตให้ทิ้งหินกันน้ำกัดเซาะบริเวณดังกล่าวได้ เห็นว่า ตามหนังสืออนุญาต ผู้ถูกฟ้องที่ 6 ได้ระบุเงื่อนไขในการทิ้งหินดังกล่าวจะต้องไม่ยื่นล้ำเกินกว่าแนวขอบเขตที่ดินในสิทธิครอบครอง แต่เมื่อการทิ้งหินกันน้ำเซาะของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ใช่บริเวณที่ดินที่ตนมีสิทธิครอบครอง หรือกรรมสิทธิ์ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างก็ไม่ได้มีลักษณะตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 63 ซึ่งออกตามความ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยให้อนุญาตกระทำได้ และที่อ้างว่า การทิ้งหินถมดินลงในแม่น้ำแควน้อยตามแนวเขตสีแดงด้านนอกที่ติดกับลำน้ำในภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อปี 2538 มิได้รุกล้ำเข้าไปในเขตของแม่น้ำ แต่เนื่องจากกระแสน้ำได้พุ่งตรงเข้ามายังที่ดินบริเวณที่พิพาทของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และกัดเซาะเอาเนื้อที่ดินให้หายไปตามกระแสน้ำ ตั้งแต่ก่อนสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ มาจนกระทั่งปัจจุบันเป็นจำนวนมากนั้น ก็ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากพบว่า เขื่อนฯสร้างในเดือน มี.ค. 22 แล้วเสร็จในปี 2528 แต่ที่ดินแปลงดังกล่าว มีการซื้อขายกันภายหลังเขื่อนสร้างเสร็จแล้วถึง 6 ปี ซึ่งไม่พบว่าได้มีการทำการหวงกันแนวเขตที่ดินที่ถูกแม่น้ำแควน้อยกัดเซาะแต่อย่างใด จนปี 2535 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำใดๆ ที่แสดงถึงการหวงกันแนวเขตที่ดิน ซึ่งถูกแม่น้ำแควน้อยกัดเซาะแต่อย่างใด
ดังนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่ถูกน้ำเซาะหายไปในแม่น้ำแควน้อย อันเป็นทางสัญจรทางน้ำของประชาชน หรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้วตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ดังนั้นคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 6 ที่สั่งให้รื้อถอน จึงชอบแล้วด้วยกฎหมายแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น