xs
xsm
sm
md
lg

รู้และเข้าใจ ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย (2)

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

ปฏิรูปเศรษฐกิจ . . . ปฏิรูปบทบาทของรัฐ

เมื่อรู้และเข้าใจแล้วว่า ความจำเป็นในเชิงเศรษฐกิจที่ต้องมีรัฐบาลอยู่ก็เนื่องมาจากเหตุผลในการเข้ามาแก้ไขปัญหากลไกตลาดล้มเหลวอันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การผูกขาด หรือสินค้าสาธารณะ ดังนั้นการกำหนดบทบาทของรัฐบาลในสังคมก็สามารถทำได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

ประเด็นเรื่องทุนสามานย์ก็ดี นโยบายประชานิยมก็ดี ก็เกิดขึ้นได้ยากหากคนในสังคมรู้และเข้าใจบทบาทของรัฐบาล

ตัวอย่างที่ดีในขณะนี้คือเรื่องเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจทั้งหลายที่คณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนในฐานะเจ้าของก็ดีหรือผู้บริหารก็ดีหากไม่ถูกโละทิ้งก็ต้องถูกลดผลประโยชน์ที่ตนเองเคยได้รับไปตามๆ กัน

การบินไทยเคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่อาศัยอำนาจผูกขาดที่รัฐมอบให้ผ่านทาง “เครือข่าย” เช่น เส้นทางการบินของการบินไทยทั้งในและนอกประเทศ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้อยู่รอดได้

การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจึงเป็นผลผลิตที่การบินไทยผลิตขึ้นมาซึ่งมิได้เป็นสินค้าสาธารณะแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามความอยู่รอดของการบินไทยกลับตั้งอยู่บนเงื่อนไขของการเป็นผู้รับสัมปทานอำนาจผูกขาด

เมื่อการเปิดเสรีการบินในสมัยทักษิณ ทำให้การบินไทยไร้อำนาจผูกขาด การไร้ซึ่งประสิทธิภาพจึงสะท้อนออกมาทำให้ไร้ซึ่งความสามารถในการแข่งขัน การขาดทุนจึงเป็นอาการของโรคไร้ประสิทธิภาพที่สำแดงออกมาให้เห็น

อย่าได้โทษเหตุอื่นใดอีกเลย ลองนั่งตรึกตรองดู หากไม่ลำเอียงเข้าข้างตนเองลองบอกซิว่า มีอะไรบ้างที่การบินไทยเป็นความได้เปรียบเหนือสายการบินคู่แข่ง เครื่องบินก็ซื้อแพงกว่าเพราะทุกครั้งที่ซื้อค่านายหน้ามิได้เข้าการบินไทย ค่าจอดในสนามบินก็ต้องจ่ายเท่ากับสายการบินอื่นๆ เช่นเดียวกับค่าน้ำมันที่ต้องซื้อในราคาเดียวกันทั่วโลก อาจมีค่าจ้างแรงงานที่คิดราคาไทยๆ ที่อาจต่ำกว่าแต่ก็สูญเสียความได้เปรียบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะโครงสร้างกิจการที่ใหญ่โตเทอะทะมีคนทำงานมากกว่างานหรือจ่ายเงินเดือนเกินความสามารถ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ต้นทุนต่อที่นั่งต่อกม.จะสูงกว่าสายการบินอื่นๆ ถ้าเป็นอย่างนี้จะเข้าไปขายแข่งสู้ได้อย่างไร หากราคาแพงกว่าต้องตอบคำถามที่คนโดยสารผู้ซื้อจะถามว่าขึ้นการบินไทยแล้วมีอะไรดีกว่าสายการบินอื่น แอร์ฯสวยกว่าบริการดีกว่า เวลาบินดีกว่า เครื่องใหม่กว่า อาหารอร่อยกว่า ฯลฯ มีไหม? หากมีมันคุ้มค่ากับราคาที่สูงกว่าหรือไม่ อย่าลืมราคายังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ

การขาดทุนที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งจึงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าหากไม่ได้ผูกขาดและต้องแข่งขันการบินไทยไม่มีความได้เปรียบดังกล่าวเหลืออยู่แต่อย่างใด

อสมท ก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีอำนาจผูกขาดเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุโทรทัศน์ที่รัฐให้และต้องไปประมูลจ่ายค่าสัมปทานการใช้คลื่นฯ เช่นเดียวกับช่อง 3 หรือ 7 จะสามารถอยู่รอดอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่? หากอยากได้เงินก็เปิดให้เอกชนมาประมูลคลื่นฯ ไปทำประโยชน์ ทำไมต้องมาทำเองและเปิดให้เอกชนคนส่วนน้อยมาร่วมแบ่งกำไรจากอำนาจผูกขาดที่รัฐมีอยู่?

รัฐบาลจึงไม่ควรจะต้องปวดหัวหามือดีไปเป็นผู้บริหารไปเป็นกรรมการฯ ในเมื่อมิได้เป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำ เอกชนก็ทำได้และน่าจะทำได้ดีกว่าเพราะกิจการที่เอกชนเป็นเจ้าของนั้นมีตัวเป็นตนคอยดูแลกิจการที่ตนเองเป็นเจ้าของ กิจการเอกชนจึงมีน้อยหรือไม่มีโอกาสเกิดคอร์รัปชัน

ต่างกับรัฐวิสาหกิจที่แม้จะเป็นของรัฐที่ประชาชนเป็นเจ้าของก็จริง แต่จะให้ประชาชนทุกคนไปดูแลได้หรือ การตั้งตัวแทน หรือ Agent ไปทำหน้าที่บริหารแทนเจ้าของ หรือ Principal มีโอกาสอย่างมากที่ตัวแทนจะทำหน้าที่ที่เจ้าของไม่อยากให้ทำหรือบิดเบี้ยวไปจากที่เจ้าของต้องการ หรือ Principal-Agent Problem เกิดขึ้นโดยง่าย

การคงไว้ซึ่งความเป็นเจ้าของหรือหุ้นใหญ่ในการบินไทยหรือ อสมท จึงไม่ใช่แนวนโยบายที่ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน หากขณะนี้ไม่มีสายการบินของไทยเปิดดำเนินการอยู่เลยเหมือนเช่นในอดีตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คสช.คงต้องคิดดูระหว่างการเป็นผู้กำกับดูแลกับการเข้าไปบริหารในการบินไทย หรือ อสมท นั้นอะไรเป็นบทบาทหน้าที่ที่รัฐพึงกระทำ

ขายความเป็นเจ้าของออกไปให้หมดเถอะ ตอนนี้อาจจะยังมีโอกาสได้หลายสิบบาทต่อหุ้น แถมไม่ต้องปวดหัวมาดูแลมิให้เกิดคอร์รัปชัน จะรอให้เหลือหุ้นละไม่กี่บาทแล้วจึงคิดขายออกไปหรืออย่างไร เอาเวลาและคนไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่าดีไหม?
กำลังโหลดความคิดเห็น