ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หนึ่งในเป้าหมายหลักของการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ก็คือการ “สลายสีเสื้อ” หรือการลดความขัดแย้งของคนกลุ่มต่างๆ ภายในชาติที่ดำเนินมาตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ระบุเหตุผลของการเข้ายึดอำนาจการปกครอง ว่า “เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย”
หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวคณะ คสช.ได้แถลงต่อสื่อมวลชนครั้งแรก ภายหลังรับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นหัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ว่า ภาระสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ “การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เตรียมข้อกฎหมายในเรื่องต่างๆ ทุกเรื่อง เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการปฏิบัติงานในทุกมิติ ทั้งปัจจุบันและเตรียมการสู่อนาคต จัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลและรับผิดชอบภาคปฏิรูปในทุกเรื่องที่เป็นปัญหาข้อขัดแย้ง และกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อให้สามารถเดินหน้าประเทศไทยไปสู่อนาคตได้ และนำสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างสันติวิธี และถาวร ปราศจากความขัดแย้ง”
สอดรับโดยการแถลงของทีมโฆษก คสช.เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่บอกว่า ในการประชุม คสช. ณ กองบัญชาการทหารบก ถนนราชดำเนินนอก ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้มอบหมายให้กองทัพภาคต่างๆ จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ประชาชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเป็นศูนย์ให้ข้อมูลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายต่างๆ นำข้อมูลไปบิดเบือนให้เกิดความไม่เข้าใจ โดยได้สั่งการให้เร่งตั้งศูนย์และแนวทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป” จะประกอบด้วย ศูนย์ส่วนกลาง และศูนย์ประจำพื้นที่กองทัพภาคที่ 1-4 ทำหน้าที่เพื่อสร้างความรักความสามัคคี สลายสีเสื้อ เตรียมการไปสู่แนวทางปฏิรูปในอนาคต โดยอาจให้มีการคัดผู้นำหรือแกนหลักแต่ละกลุ่ม เข้าประชุมหารือหรือเสวนาต่างๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
รายงานข่าวบอกว่า ในที่ประชุมคณะทำงาน คสช. พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเป็นห่วงกลุ่มสีต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยได้ให้แนวทางกับคณะทำงานไปหาวิธีในการสลายสีเสื้อต่างๆ ด้วยการตั้ง “สภาสมานฉันท์” ขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเร่งดำเนินการให้ดีที่สุด เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมกันนี้หัวหน้า คสช. ยังจะเดินหน้าในการตั้งสภาปฏิรูปและสภานิติบัญญัติเพื่อเร่งหาทางทางออกนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
นั่นพอจะทำให้เห็นแนวทางพอเลาๆ ว่า ตามมาตรการสลายสีเสื้อนั้น คสช.จะเปิดเวทีกลางให้ตัวแทนกลุ่มต่างๆ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับประเด็นที่ยังขัดแย้งกันอยู่ เพื่อหาข้อยุติและนำไปสู่การสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในที่สุด
แนวทางนี้ นับเป็นเจตนาดีของ คสช.ที่ต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างทุกกลุ่มทุกสีเพื่อนำไปสู่การเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยต่อไป
แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่า กระบวนการ“สภาสมานฉันท์”จะได้รับความร่วมมือจากกลุ่มต่างๆ ครบถ้วนทุกกลุ่มหรือไม่ และได้มุ่งไปสู่การขจัดปัญหาอันเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือไม่
หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกสีทุกกลุ่มอย่างครบถ้วน ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ก็จะไม่ได้มุมมองความคิดที่ครบถ้วนจากทุกกลุ่ม และหากมีข้อสรุปหรือมติใดๆ ออกมา กลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธที่จะทำตามข้อสรุปหรือมติดังกล่าว
และหากกระบวนการของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ไม่ได้มุ่งไปสู่การขจัดปัญหาอันเป็นรากเหง้าและต้นตอของความขัดแย้งให้หมดให้สิ้น หวังเพียงแค่ให้ฝ่ายต่างๆ มาจับมือคืนดีกัน นำความสงบกลับมาให้บ้านเมืองก็พอ เมื่อเวลาผ่านไปและปัญหาที่เป็นต้นตอความขัดแย้งนั้นปะทุขึ้นมาอีก ความขัดแย้ง วุ่นวาย ไร้เสถียรภาพ จะกลับมาเหมือนเดิม และการรัฐประหารครั้งทีี่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ก็จะสูญเปล่าอีกครั้ง
ก่อนที่จะเดินหน้ากระบวนการปรองดองสมานฉันท์นั้น สิ่งที่ คสช.ต้องทำอันดับแรก คือต้องระบุออกมาให้ชัดเจนว่า ปัญหาอันเป็นรากเหง้าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น คือ อะไรกันแน่ และคู่ขัดแย้งมีใคร กลุ่มไหนบ้าง
หลังการรัฐประหาร กลุ่มไหนที่หยุดการเคลื่อนไหวแล้ว กลุ่มไหนที่ยังเคลื่อนไหวและยังสร้างความขัดแย้งอยู่
ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น มีมูลเหตุมาจากความฉ้อฉลในกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐโดยกลุ่มทุนสามานย์ ที่ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง
หากจะย้อนประวัติศาสตร์ การเข้ามาฉ้อฉลอำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยกลุ่มทุนสามานย์นั้น เกิดขึ้นมานานตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และมีระดับที่เข้มข้นขึ้นเรืื่อยๆ หลังจากฝ่ายทหารได้ถอยออกไปจากอำนาจทางการเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเข้มข้นถึงขั้นสูงสุดในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่ปี 2544 โดยมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 เปิดช่องไว้ให้ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”ขึ้นมา
เมื่อมีประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการฉ้อฉลอำนาจดังกล่าว นักการเมืองทุนสามานย์ ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวแทนสูงสุด ก็ใช้เงินทุนที่ตนเองได้มาจากการฉ้อฉลอำนาจนั้น จัดตั้งมวลชนของตนเองขึ้นมา เคลื่อนไหวต่อสู้กับมวลชนที่ออกมาต่อต้าน
นี่คือที่มาของภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ถึงเวลานี้ หลังจากการเข้ามายึดอำนาจของ คสช. ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ ถือว่าหยุดเคลื่อนไหวในด้านมวลชนเกือบจะสิ้นเชิงแล้ว เมื่อการรัฐประหาร ทำให้รัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเป็นหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องสิ้นสุดลง ซึ่งมวลชนกลุ่มนี้ได้หันมาสนับสนุน คสช.อย่างชัดเจน พร้อมกับตั้งความหวังว่า คสช.จะทำให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศ
ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ยังเคลื่อนไหวต่อเนื่องอยู่ขณะนี้ ก็คือมวลชนจัดตั้งของระบอบทักษิณ ที่ออกมาชุมนุมตามท้องถนน
ประปราย ด้วยข้ออ้างเรื่องการต่อต้านการรัฐประหาร และพยายามขัดขวางการดำเนินงานของ คสช.
คนกลุ่มนี้ถูกฝังหัวมาตลอดด้วยข้อมูลที่บิดเบือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หัวขบวนทุนสามานย์ที่คอยโยนเศษชิ้นผลประโยชน์ให้พวกเขาด้วยโครงการประชานิยมนั้น ถูกกลั่นแกล้งจาก“อำมาตย์”ที่ไม่ต้องการให้คนยากจนได้ลืมตาอ้าปากได้
วาทกรรมเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำ และฝังลงไปในหัวของมวลชนเหล่านี้มาตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา นั่นก็เพื่อหล่อเลี้ยงมวลชนกลุ่มนี้ที่รู้จักกันในนาม “คนเสื้อแดง” เอาไว้คอยปกป้องการฉ้อฉลอำนาจของนักการเมืองทุนสามานย์ให้ดำรงอยู่ต่อไป
หาก คสช.ต้องการสลายสีเสื้อให้หมดไปโดยสิ้นเชิง ก็จะต้องหาทางไม่ให้เกิดการฉ้อฉลอำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวโดยนักการเมืองทุนสามานย์ขึ้นอีก และจะต้องลบหน่วยความจำของคนเสื้อแดงที่อัดแน่นด้วยวาทกรรมบิดเบือนออกไปให้
นี่คือโจทย์สำคัญที่ คสช.ต้องแก้ให้ตก ภายในช่วง 1 ปีครึ่งหรือ 2 ปี ที่จะอยู่ในอำนาจเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศ