xs
xsm
sm
md
lg

เทพต่างจากอสูร : มีศีลกับทุศีล

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบภาวะผู้นำ และภาวะผู้ตามที่ดีและเลว โดยการนำเทพมาเปรียบกับอสูร ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 หมวดที่ 50 วรรค 2 ดังนี้

1. อสูรที่มีอสูรเป็นบริวารได้แก่ บุคคลผู้ทุศีลมีบริษัทเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม

2. อสูรที่มีเทพเป็นบริวารได้แก่ บุคคลผู้ทุศีล แต่มีบริษัทเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม

3. เทพที่มีอสูรเป็นบริวารได้แก่ บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่มีบริษัทเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม

4. เทพที่มีเทพเป็นบริวารได้แก่ บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทั้งมีบริษัทเป็นเช่นนั้นด้วย

พุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น มีเนื้อหาเป็นอุปมาโวหาร โดยการนำเอาอสูรกับเทพมาเปรียบเทียบกับคนมีศีลและทุศีล ทั้งในฐานะเป็นผู้นำ และในฐานะเป็นผู้ตาม เป็นการสะท้อนความจริงซึ่งมีอยู่ในโลกแห่งปุถุชนในทุกยุคทุกสมัยจากอดีตถึงปัจจุบัน

จากพุทธพจน์ในเชิงเปรียบเทียบดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าประเภทที่ 1 เลวทั้งผู้นำและผู้ตาม เรียกได้ว่าประเภทเลวล้วนหรือล้วนแต่เลว พูดเป็นภาษาคณิตศาสตร์ได้ว่าเลว 100 เปอร์เซ็นต์ ประเภทที่ 4 ดีทั้งผู้นำและผู้ตาม พูดได้ในทำนองเดียวกันกับประเภทที่ 1 แต่โดยนัยตรงกันข้ามคือดีล้วนหรือดี 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วนประเภทที่ 2 และ 3 ดีกับเลวผสมกัน โดยมีประเภทที่ 2 ผู้นำเลว แต่ผู้ตามดี และประเภทที่ 3 ผู้นำดี แต่ผู้ตามเลว ทั้งประเภทที่ 2 และ 3 มีเนื้อหาผสมกัน

แต่ถ้ามองในแง่การบริหาร ประเภทที่ 3 ย่อมดีกว่าประเภทที่ 2 ทั้งนี้ด้วยเหตุว่า ผู้นำเป็นผู้คิดกำหนดนโยบาย และวางแผนแล้วสั่งการให้ผู้ตามหรือลูกน้องทำ

ดังนั้น ถ้าผู้นำเลวดังเช่นประเภทที่ 2 ก็จะคิดเลว และเมื่อสั่งการให้ผู้ตามซึ่งเป็นคนดี ถ้าผู้ตามทำตามที่ได้รับคำสั่งก็จะเกิดความเสียหายแก่องค์กร และตนเองก็จะรับในสิ่งที่ทำด้วย แต่ถ้าไม่ทำตามคำสั่งก็จะถูกกดดัน บีบคั้นรังแก หรือถึงกับโยกย้ายให้พ้นทางก็เป็นไปได้

ประเภทที่ 3 ผู้นำดี ผู้ตามเลว ถ้ามองในแง่ของการบริหารย่อมดีกว่าผู้นำเลว ผู้ตามดี เพราะผู้นำคิดสั่งการให้ทำ และรับผิดชอบในสิ่งที่สั่งการไป

ดังนั้น ถ้าผู้ตามทำตาม ผลประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นแก่องค์กร และถ้าผู้ตาม ไม่ทำตามผู้นำก็มีความชอบธรรมที่จะลงโทษตามความเหมาะสม

บุคคล 4 ประเภทจากคำสอนในเชิงเปรียบเทียบเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถ้ามองในแง่ของสังคมศาสตร์ และจริยศาสตร์ควบคู่กันไป ก็จะอธิบายเหตุแห่งการเกิดขึ้นได้ดังนี้

ประเภทที่ 1 และ 4 เกิดขึ้นได้ง่าย คนเลวย่อมเลือกคนเลวด้วยกันเป็นบริษัทบริวาร เนื่องจากมีความสะดวกและคล่องตัวในการทำสิ่งเลว เพราะคนเลวย่อมทำความเลวได้ง่าย แต่ทำสิ่งดีได้ยาก ในทางกลับกัน คนดีย่อมเลือกคนดีเป็นบริษัทบริวาร เนื่องจากสะดวกและคล่องตัวในการทำสิ่งดี เพราะคนดีย่อมทำความดีได้ง่าย แต่ทำความชั่วได้ยาก

ส่วนประเภทที่ 2 และ 3 เป็นประเภทไม่น่าจะเกิดโดยพฤติกรรมปกติ คือผู้นำเลือกผู้ตามโดยเจตนาของตนเอง

ดังนั้น จึงเกิดข้อกังขาว่าประเภทที่ 2 และ 3 เกิดขึ้นได้อย่างไร? ทั้งเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบระหว่างผู้นำกับผู้ตามอย่างไร?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอบได้ว่าไม่น่าจะเกิดจากการเลือกด้วยความสมัครใจของผู้นำ และไม่น่าจะด้วยการยอมรับของผู้ตามแน่นอน

แต่น่าจะเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่น การเมือง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในกรณีดังต่อไปนี้

1. นักการเมืองซึ่งเป็นคนไม่ดี และได้เข้ามาเป็นผู้นำองค์กรของรัฐ ซึ่งมีบุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดี หรือส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ไม่ยอมรับผู้นำที่ไม่ดี จึงกลายเป็นโอกาสให้คนส่วนน้อยซึ่งเป็นคนไม่ดีวิ่งเข้าหาผู้นำ และยอมรับใช้ใกล้ชิด เปรียบได้กับคนประเภทที่ 1 คืออสูรที่มีอสูรเป็นบริวาร

2. นักการเมืองเป็นคนดี และเข้ามาเป็นผู้นำในองค์กรซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนดี เปรียบได้กับประเภทที่ 4 คือเทพที่มีเทพบริวาร

3. นักการเมืองเป็นคนไม่ดี และได้เข้ามาเป็นผู้นำในองค์กร ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคนดี เปรียบได้กับประเภทที่ 2 คืออสูรที่มีเทพเป็นบริวาร

4. นักการเมืองเป็นคนดี และได้เข้ามาเป็นผู้นำในองค์กร ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดี เปรียบได้กับประเภทที่ 3 คือเทพที่มีอสูรเป็นบริวาร

การเกิดขึ้นของบุคคล 4 ประเภทนี้ ถ้ามองในแง่ของจริยศาสตร์ และสังคมศาสตร์แล้วจะพบว่า 2 ประเภทคือ 1 และ 4 เป็นไปตามหลักของสองศาสตร์นี้คือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) และการคบหากันจะต้องยึดหลักความเหมือนกันในทำนองนกสีเดียวกัน ย่อมเข้าฝูงกันได้คือ คนเลวกับคนเลว คนดีกับคนดี

ส่วนว่าคนเลวต้องอยู่ร่วมกับคนดี หรือคนดีต้องอยู่ร่วมกับคนเลวนั้น มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสองศาสตร์ที่ว่านี้ และนี่เองคือจุดที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมที่คนดีอยู่ร่วมกับคนลว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่คนเลวเป็นผู้นำ และคนดีเป็นผู้ตาม

ในสังคมที่ผู้นำเลว และผู้ตามดีจะเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้นำกับผู้ตาม สุดท้ายแล้วผู้นำจะถูกผู้ตามขับไล่ให้พ้นไปจากความเป็นผู้นำ

ในทางกลับกัน ถ้าผู้นำเป็นคนดี และผู้ตามเป็นคนเลว ผู้นำจะต้องแก้ไขให้คนเลวกลายเป็นคนดี และถ้าแก้ไขไม่ได้ผู้นำอาจต้องอำลาจากการเป็นผู้นำ ยอมหลีกทางให้คนดีที่มีความสามารถเหนือตนเองเข้ามาเป็นผู้นำแทน

แต่ถ้าทั้งผู้นำและผู้ตามเลว ก็จะทำให้สังคม หรือองค์กรที่มีบุคคลประเภทนี้อยู่ ได้รับความเสียหาย ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วกับสังคมไทยในยุคที่ระบอบทักษิณครองอำนาจทางการเมือง

ในทางกลับกัน ถ้าตั้งผู้นำและผู้ตามเป็นคนดี สังคมนั้น องค์กรนั้นย่อมเจริญก้าวหน้าไร้ปัญหาทุจริต หรือถ้ามีก็น้อยกว่าสังคมประเภทที่ 1 ปกครองอยู่ จะเห็นได้ในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปกครองประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น