xs
xsm
sm
md
lg

ระดมเก็บคราบน้ำมัน IRPCยันไม่ใช่ต้นเหตุ เจ้าท่าแจ้งความจับคนทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ระดมทหาร-เจ้าหน้าที่อบต. เก็บคราบน้ำมันชายหาดแม่รำพึง นายกอบต.ตะพง เผยหากไม่พบสารเคมีอันตราย เปิดให้เล่นน้ำได้ทันที "ไออาร์พีซี" ยันน้ำดับไฟไม่มีไหลลงทะเล คราบน้ำมันไม่ใช่ของบริษัท เจ้าท่าแจ้งความหาคนทิ้งลงทะเลแล้ว "สาธิต ปิตุเตชะ" แนะคสช. ใช้มาตรการจูงใจ โรงงานไหนยอมรับให้ลดหย่อนภาษีได้ พร้อมทำแผนป้องกันเกิดเหตุซ้ำซาก

จากกรณีพบคราบน้ำมันคล้ายยางมะตอยลอยเข้าฝั่งที่ชายหาดแม่รำพึง หมู่ 5 ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ส่งกลิ่นเหม็นฉุนจนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตะพง ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำประมาณ 1 สัปดาห์นั้น

วานนี้ (11 มิ.ย.) ร.ท.สมคิด อินอนันต์ ผบ.หมู่ พัน ร.6 และทหารพัน ร.7 นาวิกโยธิน ค่ายมหาสุรสิงหนาท 60 นาย เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขอบต.ตะพง ช่วยกันเก็บก้อนคราบน้ำมันและทำความสะอาดชายหาด พร้อมตรวจสอบน้ำทะเลใกล้ชายหาด ไม่พบคราบลอยเป็นก้อนแต่อย่างใด

นายทวีป แสงกระจ่าง นายกอบต.ตะพง กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่เก็บคราบน้ำมันส่งไปให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอตรวจสอบแล้ว ส่วนกิจกรรมต่อไป จะฟื้นฟูชายหาด หากผลการตรวจไม่พบสารเคมีที่เป็นอันตราย ก็จะเปิดให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้ทันที

นายอาทิตย์ ละเอียดดี ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง กล่าวว่า ที่พบเป็นคราบน้ำมันเตา น่าจะเกิดจากการลักลอบบรรจุน้ำมันเครื่องช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเกิดเหมือนกันทั่วโลก แต่สร้างผลกระทบทันทีที่กระแสน้ำพัดพาเข้าสู่ชายฝั่ง โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเก็บตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการกรมควบคุมมลพิษ คาดว่าจะทราบผลภายใน 30 วัน ส่วนคราบน้ำมันที่เก็บได้ นำใส่ถุงดำไปบำบัดที่บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

ด้านนายละม่อม บุญยงค์ ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบน้ำมันรั่วไหล สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง กล่าวว่า ชาวบ้าน ร้านอาหาร และเครือข่ายเรียกร้องให้จังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเกิดระเบิดและเพลิงไหม้หน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตา เพื่อป้อนหน่วยแครกเกอร์ผลิตเป็นสารโพรไพลีน ภายในเขตประกอบการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โดยขอให้ตรวจสอบว่าน้ำที่ใช้ดับเพลิงอาจปนเปื้อนสารเคมี และไหลลงหน้าท่าเรือไออาร์พีซีหรือไม่ เพราะเกรงจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และประมงพื้นบ้าน

ส่วนคราบน้ำมันให้ตรวจสอบว่าเป็นของใครโดยเร็ว เนื่องจากชายหาดระยองประสบปัญหาคราบน้ำมันซ้ำซาก แต่ไม่สามารถจับกุมใครมาดำเนินคดีได้ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ร้านขายอาหารทะเล ชาวบ้าน และชาวประมง ซึ่งครั้งนี้ตนยืนยันคราบน้ำมันน่าจะมาจากแหล่งใกล้ๆ ชายหาด

นายวิทยา ชัชวาลชนกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการส่วนชุมชน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า น้ำที่ใช้ดับเพลิงจะไหลเข้าระบบเก็บกักของบริษัทที่มีระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำตลอดเวลา โดยมีเอกสารให้ตรวจสอบได้ และยืนยันว่าไม่ได้ไหลลงทะเลแน่นอน ส่วนคราบน้ำมันที่มีข่าวว่าน่าจะมาจากบริษัทนั้น ระยะทางจากบริษัทถึงหาดแม่รำพึง ต.ตะพง มีระยะทางนับสิบกิโลเมตร เป็นไปไม่ได้ว่าคราบน้ำมันจะไหลมาถึง และมีลักษณะเป็นก้อน เพราะจะถูกคลื่นซัดแตกกระจายเป็นเม็ดเล็กๆ เรียกว่า "ทาบอล"

"ดูแล้วน่าจะมีการขนถ่ายในระยะใกล้จุดที่พบ ดูทิศทางลมแล้ว ถ้าเป็นของไออาร์พีซี ต้องผ่านชายหาดค่ายนาวิกโยธิน พัน ร.6 และ พัน ร.7 ป่านนี้คงเต็มชายหาดค่ายนาวิกโยธินแล้ว จึงขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นของไออาร์พีซีแน่นอน"

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าคล้ายน้ำมันเตา แต่ยังไม่ยืนยัน เพราะต้องรอผลการตรวจพิสูจน์จากห้องปฏิบัติการว่าเป็นน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล หรือสารชนิดใด ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหาแหล่งที่มา และยังได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวไปตรวจสอบแล้ว

นางดวงนภา วรรณสุข เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน รักษาการผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จ.ระยอง พร้อมว่าที่ร.ต.วิษณุพงศ์ วิเชียรรัตนกุล หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมอนุรักษ์ นายรองฤทธิ์ รัตนาสุภา นักวิชาการขนส่งปฏิบัติการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยอง เข้าแจ้งความกับ พ.ต.อ.กิติ ศิริคช พนักงานสอบผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.เมือง เพื่อลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และหาข้อเท็จจริงสาเหตุของคราบน้ำมัน เพราะอาจกระทบกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันเข้าข่ายลักษณะความผิดตามพ.ร.บ.การประมง 2490 มาตรา 19 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 มาตรา 97 จึงต้องเข้าแจ้งความเพื่อติดตามผู้ที่ทิ้งคราบน้ำมันมาดำเนินคดี

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตส.ส.ระยอง กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องควรลงไปดูว่าเกิดจากอะไร เพราะที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เวลาผ่านไปปัญหาก็ถูกละเลย โดยเฉพาะการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเด็ดขาด ไม่ใช่ทำเหมือนไฟไหม้ฟาง เพราะจากการลงพื้นที่พบประชาชน มีเสียงสะท้อนว่าการลงโทษอาจไม่ได้ผล ดังนั้น ควรเปลี่ยนมาใช้มาตรการจูงใจ เช่น โรงงานไหนออกมายอมรับและให้ข้อมูล อาจมีการแจกสมุดพกให้คะแนนเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี

"ผมขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ความเด็ดขาด ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อหาสาเหตุและหาคนรับผิดชอบมาลงโทษ หรือจะใช้แรงจูงใจดังกล่าวก็ตาม แต่ต้องมีแผนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะระยองเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศ"

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งให้หยุดดำเนินการเฉพาะหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตา (หน่วย VGOHT : Vacuum Gas Oil Hydro Treating) ที่เกิดเพลิงไหม้ เป็นเวลา 90 วันนั้น ทำให้หน่วยผลิตต่อเนื่อง คือ หน่วยแครกเกอร์ (DCC : Deep Catalytic Cracking ) กลับมาเดินเครื่องจักรได้อีกครั้ง แต่เบื้องต้นคงต้องหยุดผลิตก่อนชั่วคราว เพื่อตรวจสอบและเตรียมแผนการจัดหาวัตถุดิบเพื่อชดเชยวัตถุดิบจากหน่วยVGOHT ให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ ทำให้มูลค่าความเสียหายจากการหยุดVGOHT อยู่ที่ 160 ล้านบาทต่อเดือน ต่ำกว่าที่เคยวางไว้ที่ 400 ล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองอุบัติเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากบริษัททำประกันภัยอยู่แล้ว 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทจะรับผิดชอบความเสียหายเอง 5 ล้านเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น