xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 1 เดือน... ตอกย้ำความไม่พร้อมรับมือเหตุ “น้ำมันรั่ว” ในทะเลไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
1 เดือนผ่านไป... ประเทศไทยได้บทเรียนอะไรจากเหตุ “น้ำมันรั่วไหลที่เกาะเสม็ด” บ้าง?

27 กรกฎาคม 256 น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม “ปตท.” ไหลทะลักออกสู่ทะเลอ่าวไทยบริเวณเกาะเสม็ด จ.ระยอง แผ่ขยายเป็นวงกว้าง และถูกคลื่นลมซัดเข้าสู่ชายฝั่งย้อมหาดทรายอ่าวพร้าวเป็นสีดำมิดในเวลาต่อมา และจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ทราบปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงทะเลอย่างแน่ชัด แต่ความเสียหายประจักษ์คาตาคนไทยทั้งประเทศ!

ภาพเหล่าชายฉกรรจ์ในชุดสีขาวกระวีกระวาดดูดซับน้ำมันดิบริมหาดอ่าวพร้าวสร้างความตื่นตระหนก และตื่นตัวในสังคมไทยได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่แล้วมันก็จะค่อยๆ จางหายไปเหมือนกับเรื่องอื่นๆ นอกเสียจากว่า... จะเป็นผู้บอบช้ำจากผลกระทบนั้นเสียเอง

 
สงขลาได้ชื่อว่าเป็นเมือง 2 ทะเล เพราะเป็นจังหวัดที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และมีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดกับเวิ้งทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งทะเลสาบสงขลา และทะเลหลวง ล้วนเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงหล่อเลี้ยงผู้คนในจังหวัดเท่านั้น แต่ยังส่งไปขายจังหวัดใกล้เคียง และบางชนิดก็ส่งไปขายไกลถึงต่างประเทศ

แม้ว่าชายฝั่ง จ.สงขลา จะไม่เหมาะกับกิจกรรมดำน้ำดูปะการัง แต่แหลมสมิหลาก็เป็นห้องรับแขกชั้นเยี่ยมของจังหวัด นักท่องเที่ยวจำนวนมากยังคงหลั่งไหลมาถ่ายภาพคู่กับนางเงือกสีทอง กระทั่งคนใน จ.สงขลา เอง ก็ใช้ชายหาดนี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

เมื่อเกิดเหตุ “น้ำมันดิบรั่ว” ที่บริเวณเกาะเสม็ด ผู้คนใน จ.สงขลา จึงจำแนกออกเป็น 4 จำพวกอย่างเห็นได้ชัด คือ คนสงขลาจำนวนหนึ่งจึงเริ่มหวั่นวิตก โดยกังวลว่าสักวันหนึ่งในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์เหล่านี้กับ จ.สงขลา ส่วนผู้คนอีกจำพวกหนึ่งนั้นได้ศึกษาข้อมูลเรื่องทะเล รวมทั้งระบบนิเวศชายหาด และติดตามข่าวคราวการขุดเจาะน้ำมันในทะเลอ่าวไทย ชายฝั่ง จ.สงขลา มาอย่างไม่กะพริบตา เมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ดจึงเป็นเหตุผลมาช่วยสนับสนุนสาเหตุของการเฝ้าระวังระบบนิเวศมากยิ่งขึ้น ขณะที่บางคนเพิ่งรู้ว่าบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองมีแหล่งน้ำมันดิบ และผู้คนกลุ่มสุดท้าย คือ ผู้ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าที่ จ.สงขลา มีการขุดเจาะน้ำมัน และยังไม่รู้มาจนถึงบัดนี้

 
เมื่อมีการขุดเจาะน้ำมันดิบก็ย่อมเสี่ยงต่อเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล เพราะ จ.สงขลา เป็นที่ตั้งของบริษัทน้ำมัน 2 แห่ง ซึ่งมีทั้งคลังเก็บน้ำมัน และแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะกำหนดมาตรการการป้องกัน และดูแลไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่อาจวางใจได้ เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ดยืนยันได้ดี สถาบันทรัพยากรทะเลชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการที่รับผิดชอบดูแลประเด็นวิชาการที่เกี่ยวข้องกับทะเล และชายฝั่ง จึงจัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด... ถ้าเกิดที่สงขลา?!?” เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยพูดคุยถึงผลกระทบของเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเล รวมทั้งวิธีการป้องกันแก้ไข และเยียวยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณเกาะเสม็ด จ.ระยอง

 
พล.ร.ต.จุมพล ลุมพิกานนท์ ประธานอนุกรรมการด้านการให้ความรู้เรื่องผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางทะเล และเสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ดทำให้เราได้รู้ว่าประเทศไทยมีระบบป้องกันภัยทางทะเลแล้วหรือยัง สำหรับเหตุการณ์ที่เกาะเสม็ด หลังจากน้ำมันรั่วก็ถูกคลื่นซัดเข้าสู่ชายฝั่ง ซึ่งการกำจัดคราบน้ำมันจะต้องนำทุ่นล้อมไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย และใช้อุปกรณ์เก็บคราบน้ำมัน หรือ Skimmer ดูดซับให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้เหลือค้างอยู่ในทะเล ซึ่งคราบที่เหลืออยู่ในทะเลก็จะใช้สารเคมีโรยเพื่อให้จมลงสู่ใต้น้ำ และหากใต้น้ำตรงนั้นตรงกับแนวปะการัง ก็จะกำจัดคราบใต้น้ำใต้ยากขึ้นอีก

“ชายฝั่งของ จ.สงขลา ตั้งแต่ อ.ระโนด จนถึง อ.เทพา ยาวเท่าไหร่ คนสงขลารู้หรือไม่ ทะเลของท่านไม่ใช่แค่ตรงนางเงือก สำหรับเหตุน้ำมันรั่วที่สงขลาอาจจะเกิดขึ้นได้จากน้ำมันรั่วจากการขนส่ง ทั้งทางท่อ และทางเรือ, เรืออับปาง, เรือชนกัน รวมทั้งการรั่วไหลจากฐานขุดเจาะในทะเล

คนสงขลาจะรับได้มั้ยถ้านางเงือก แหลมสมิหลา หรือเก้าเส้ง มีคราบน้ำมันสีดำเต็มหาดเหมือนที่เกิดขึ้นใน จ.ระยอง ถ้าเกิดที่สงขลาเรามีเครื่องมือรองรับเพื่อจะจัดการปัญหานี้หรือไม่ ประเทศไทยไม่มีเรือกู้ซ่อม มีแค่เรือเก็บกู้ลำเล็กๆ อยู่ 2 ลำ เรามีโครงสร้างการจัดการ แต่ไม่มีอุปกรณ์รับมือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” พล.ร.ต.จุมพล กล่าว

 
ด้าน นางจินตวดี พิทยเมธากุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้ จ.สงขลา ประสบปัญหาคราบน้ำมันดินริมชายฝั่งทะเล เพราะชายฝั่งสงขลามีแท่นเจาะบัวบาน และในปี 2553 เกิดเหตุคราบน้ำมันดินจากแท่นเจาะพักเข้าสู่ชายฝั่ง ลักษณะเป็นก้อนสีดำเกลื่อนหาด ถ้าเดินบนหาดก็จะติดเท้าเหมือนยางมะตอย

เมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดขึ้นซ้ำอีก จึงมีการเก็บตัวอย่างก้อนสีดำดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ผลออกมาเป็นกราฟ หน่วยงานที่มีอยู่แปรค่าข้อมูลกันไม่ออก ก็ต้องส่งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ช่วยแปรผล ซึ่งรายงานผลมาว่า ก้อนสีดำดังกล่าวไม่ใช่คราบน้ำมันดิบ แต่ประชาชนไม่เชื่อ เพราะหน่วยงานที่ตรวจสอบมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการน้ำมัน จึงควรมีหน่วยงานหลักที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี

“สำหรับเหตุน้ำมันรั่วที่สงขลา นอกจากอุปกรณ์กำจัดคราบน้ำมันที่มีไม่พร้อมแล้ว ต้องมีการเตือนภัยด้วย แต่ จ.สงขลา ก็ไม่เคยมีการซ้อมเตือนภัยน้ำมันรั่ว ต้องมีกองทุนสำหรับเยียวยาหลังเกิดเหตุด้วย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องบูรณาการกันมากกว่านี้” ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา กล่าว

ขณะเดียวกัน อาจารย์พงศ์พีระ บัวเพ็ชร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วไหล คือ สิ่งมีชีวิต และแหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งถูกทำลาย เกิดการปนเปื้อนของสารพิษในห่วงโซ่อาหาร และการปนเปื้อนของแหล่งอาหาร ซึ่งได้แก่ การประมง และการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง

“น้ำมันดิบมันปกคลุมตามตัวของสัตว์แล้วซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ก็ยังส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของสัตว์บางประเภท เช่น เต่าทะเล รวมทั้งป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำด้วย การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันต้องใช้ในบริเวณที่มีความลึกเกิน 20 เมตร ถ้าใช้ในที่น้ำตื้น คราบที่จมลงสู่ผิวน้ำจะเกิดการสะสม และอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นบริเวณน้ำตื้น การกำจัดคราบน้ำมันจึงควรทำที่ผิวน้ำก่อน ถ้าเกิดการสะสมของสารพิษก็จะกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในทะเล ทั้งแพลงก์ตอน ปลา และสัตว์น้ำต่างๆ ต่อไปเราอาจจะไม่มีปลาตัวใหญ่ๆ กิน เพราะแหล่งอาหารในทะเลซึ่งเป็นอาหารของปลาถูกทำลายไปหมดแล้ว”

 
ด้านนางพรรณิภา โสตถิพันธ์ ผู้อำนวยการ สงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า ภาคประชาชนต้องรู้จักกลั่นกรองข้อมูลว่าอันไหนเชื่อได้ เชื่อไม่ได้ โดยเฉพาะข้อมูลจากภาครัฐ กรณีน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามถึงโครงการใหญ่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ และผลกระทบที่จะตามมา ทั้งนี้ ยังมีอาชีพอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ใช้ประโยชน์จากทะเล ไม่ใช่แค่อาชีพขุดเจาะน้ำมัน

ในช่วงท้ายของเวทีเสวนา วิทยากรต่างตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ดนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจที่จะแจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบหรือไม่ เพราะจนกระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่ระบุสาเหตุที่ชัดเจนของน้ำมันรั่วไหลได้ นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่ใน จ.สงขลา แต่ใช้คำว่าประเทศไทยไม่มีอุปกรณ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีองค์ความรู้เพียงพอต่อการรับมือกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล!!

คำถามที่ตามมา คือ ประชาชนมีอะไรเป็นหลักประกันสำหรับความปลอดภัยในชีวิต !!?
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น